NielsenIQ เผยอินไซด์ผู้บริโภคไทย หันลดค่าใช้จ่าย-ซื้อของลดราคา

NielsenIQ ประเทศไทย เผยอินไซด์ ผู้บริโภคชาวไทยยังคงกังวลเรื่องสถานะการเงิน โดยเริ่มหันมาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น-ลดปริมาณการซื้อ-ซื้อของในช่วงลดราคามากขึ้น โดย 3 กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญ คือ “แชมพูและครีมนวดผม-ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม-อาหาร”

NIQ (NielsenIQ) บริษัทวิจัยผู้บริโภคชั้นนำของโลกด้านข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค เปิดเผยถึงข้อมูลจากรายงาน Thai Shopper Trends 2567 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย ผู้ชื้อชาวไทยมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าสาธารณูปโภคและค่าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น แรงกดดันทางเศรษฐกิจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยหลายคนวางแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและปรับเปลี่ยนนิสัยการซื้อของตนเพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางการเงิน

 

ซึ่งจากข้อมูลของ NIQ พบว่า สถานะทางการเงินของผู้ซื้อชาวไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนมกราคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา กว่า 48% ของนักช้อปรายงานว่าสถานะทางการเงินของตนนั้นแย่ลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ เนื่องมาจากผู้ซื้อชาวไทย ยังมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะทั้งค่าอาหารที่พุ่งสูงขึ้นจาก 27% ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2566 เป็น 30% ในเดือนมกราคม พ.ศ.2567 อีกทั้งผู้ซื้อยังต้องรับมือกับความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและผลกระทบของภาวะโลกร้อนแต่อย่างไรก็ตามเพื่อตอบสนองต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มผู้ซื้อจึงใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดังนี้

  • การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย : ผู้ซื้อหลายคนให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นมากขึ้น โดยตัดการซื้อของที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อจัดการกับงบประมาณให้ดีขึ้น ผู้ซื้อชาวไทยให้ความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าสิ่งที่อยากได้
  • การลดปริมาณการซื้อ : ผู้ซื้อจะลดปริมาณสินค้าที่ซื้อ โดยเน้นที่การซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นหรือสต็อกสินค้าที่จำเป็น
  • การซื้อของในช่วงลดราคา : ผู้ซื้อนิยมซื้อสินค้าในช่วงลดราคา เช่น ช่วงวันหยุดหรือช่วงโปรโมชั่นลดราคาสองหลัก เนื่องจากต้องการแสวงหาการลดราคาและข้อเสนอพิเศษเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถใช้จ่ายในงบประมาณเพิ่มมากขึ้น

 

แนวโน้มของผู้บริโภค

ทั้งนี้ แม้ว่าราคาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น แต่คุณภาพก็ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดย 90% ของผู้บริโภคไทยยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา รวมถึงผู้บริโภคไทย 78% พึงพอใจที่จะใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อประหยัดเวลา ซึ่งอาจเกิดจากปริมาณงานที่มากขึ้นและระยะเวลาเดินทางที่นานขึ้น เป็นนัยยะว่าผู้ซื้อชาวไทยให้ความสำคัญต่อเวลาของพวกเขามากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคไทยก็เริ่มหันมาแสวงหาส่วนลดพิเศษกันมากขึ้น รวมถึงเปิดกว้างต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยผู้ซื้อประมาณ 89% ยินดีที่จะลองผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่ๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสำรวจทางเลือกที่คุ้มต้นทุน

สินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญ หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่

  • แชมพูและครีมนวดผม
  • ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม
  • อาหาร เช่น ข้าว แป้ง พาสต้า น้ำมันปรุงอาหาร และเครื่องปรุงรสอาหาร เป็นต้น

ผลกระทบต่อธุรกิจ

สำหรับผลกระทบในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาค FMCG จะต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความภักดีต่อแบรนด์นั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยมีเพียง 19% ของผู้ซื้อในปี พ.ศ.2566 ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะซื้อสินค้าเดิม ๆ เมื่อเทียบกับตัวเลขที่สูงกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความตึงเครียดทางการเงินไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวลในเวลานั้น

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ซื้อ ธุรกิจควรพิจารณาเสนอส่วนลดและตัวเลือกในการซื้อจำนวนมากมากขึ้น และต้องเน้นย้ำถึงคุณค่าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาและดึงดูดลูกค้า ธุรกิจควรใช้กลยุทธ์การขายออนไลน์มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนหน้าร้านและเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้นให้กับผู้ซื้อที่มองหาข้อเสนอพิเศษทางช่องทางออนไลน์

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ