โควิดคลี่คลาย คนไทยสั่งอาหารผ่านแอปฯ น้อยลง เริ่มกลับไปนั่งทานที่ร้าน

Photo by Markus Winkler on Unsplash

ส่องเทรนด์การทานอาหารหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พบคนสั่งอาหารผ่านแอปลดลง เริ่มกลับไปนั่งร้านอาหารมากขึ้น ร้านอาหารราคาคุ้มค่ายังคงเป็นที่นิยม

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยผลการสำรวจประชาชนในช่วงเดือนกันยายน 2565 จำนวน 7,188 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารในบ้าน-นอกบ้าน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พบว่า

ส่วนใหญ่ยังคงนิยมรับประทานอาหารในบ้านทุกวัน โดยซื้ออาหารสดมาทำเองและการซื้ออาหารปรุงสำเร็จมารับประทานในบ้าน ขณะที่การสั่งผ่านบริการดีลิเวอรี่มีแนวโน้มลดลง สำหรับการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านมีไม่บ่อยนัก โดยนิยมรับประทานอาหารในร้านอาหารทั่วไปและริมบาทวิถี

ส่วนร้านระดับหรูและปานกลางมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยปรับลดและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน แสดงถึงวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่ใช้จ่ายโดยคำนึงถึงความประหยัดและคุ้มค่ามากขึ้น โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้

การรับประทานอาหารในบ้าน

ความถี่ในการรับประทานอาหาร

เกือบทุกอาชีพและช่วงรายได้นิยมรับประทานอาหารในบ้านทุกวัน โดยเฉพาะผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ เกษตรกร อาชีพอิสระ และผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท/เดือน เป็นที่น่าสังเกตว่า อาชีพพนักงานของรัฐ นักศึกษา และผู้มีรายได้ระหว่าง 40,001-50,000 บาท/เดือน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับประทานในบ้านทุกวัน

ค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารในบ้าน

เกือบทุกอาชีพและช่วงรายได้มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 300 บาท/คน/มื้อ โดยเฉพาะนักศึกษา อาชีพอิสระ พนักงานเอกชน และผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท/เดือน ขณะที่กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ และผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 100 บาท/คน/มื้อ ในสัดส่วนที่สูงกว่าอาชีพและช่วงรายได้อื่น

วิธีการจัดหาอาหาร

ส่วนใหญ่ยังคงเดินทางไปซื้ออาหารปรุงสำเร็จและอาหารสดมาปรุงเองเพื่อรับประทาน
ในบ้าน ขณะที่การสั่งซื้อผ่านดีลิเวอรี่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ เกษตรกร และผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน

การรับประทานอาหารนอกบ้าน

ความถี่ในการรับประทานอาหาร

เกือบทุกอาชีพและช่วงรายได้ไปรับประทาน 1-2 ครั้ง/เดือน โดยเฉพาะพนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการ อาชีพอิสระ และผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท/เดือน ขณะที่เกษตรกร ผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ และผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน จะไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นที่น่าสังเกตว่า นักศึกษา พนักงานเอกชน พนักงานของรัฐ และผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 20,001-50,000 บาท/เดือน จะนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน (มากกว่า 1-2 ครั้ง/เดือน) ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพและช่วงรายได้อื่น

ค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้าน

เกือบทุกอาชีพและช่วงรายได้มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 300 บาท/คน/มื้อ ยกเว้นเกษตรกร และผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ที่มีสัดส่วนไม่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอาชีพอื่น สอดคล้องกับที่ทั้ง 2 อาชีพส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 100 บาท/คน/มื้อ ในสัดส่วนที่สูงกว่าช่วงรายได้อื่น และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 40,000 บาท/เดือน จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 300 บาท/คน/มื้อ

วิธีการจัดหาอาหาร

ส่วนใหญ่ไปรับประทานในร้านอาหารทั่วไปและริมบาทวิถี สำหรับการรับประทานในร้านระดับหรูมีแนวโน้มลดลงในทุกสาขาอาชีพและช่วงรายได้ แต่ร้านระดับกลางมีแนวโน้มลดลงในเกือบทุกสาขาอาชีพ ยกเว้นพนักงานของรัฐ และลดลงเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มพนักงานของรัฐ ลดการรับประทานอาหารเฉพาะร้านระดับหรู แต่ยังคงรับประทานอาหารในร้านประเภทอื่นตามเดิม ขณะที่เกษตรกร ลดการรับประทานอาหารนอกบ้านเกือบทุกประเภทยกเว้นร้านริมบาทวิถี และกลุ่มผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ลดการรับประทานอาหารนอกบ้านในร้านอาหารทุกประเภท

ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานอาหารในบ้าน โดยเฉพาะการทำอาหารรับประทานเอง และซื้ออาหารกลับไปรับประทานในบ้าน ขณะที่การสั่งผ่านบริการดีลิเวอรี่มีแนวโน้มลดลง สำหรับการรับประทานอาหารนอกบ้านมีไม่บ่อยนัก และมีแนวโน้มลดลงในร้านอาหารระดับหรูและปานกลาง

ขณะที่ผู้มีรายได้ไม่สูงมากปรับลดและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน แสดงถึงวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่ใช้จ่ายโดยคำนึงถึงความประหยัดและคุ้มค่ามากขึ้น และน่าจะกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าจะคลี่คลายลงแต่ยังมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ