แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) คาดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการโจมตีทางไซเบอร์ปีหน้า ผลคือผู้บริโภคอาจคลิกเปิดหรือแชร์ลิงก์อันตรายที่มีข้อมูลเท็จของวัคซีน ขณะที่ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนล้วนมีความเสี่ยงถูกโจมตีจนทำลาย “ชื่อเสียงออนไลน์” จนส่งผลกระทบกับธุรกิจในโลกจริง กระตุ้นเตือนทุกฝ่ายต้องป้องกันตัวเองเพราะชื่อเสียงออนไลน์จะเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะภูมิภาคิเอเชียแปซิฟิก
คุณวิทาลี คัมลัก ผู้อำนวยการทีมวิเคราะห์และวิจัยของแคสเปอร์สกี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงแนวโน้มภัยคุกคามในปี 2564 ว่าวัคซีนโควิด-19 จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะทำยอดจำหน่ายได้หลักล้านชิ้นในทันที ดังนั้น สิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิตชาวโลกอย่างวัคซีนโควิด-19 นี้จะเป็นหัวใจของการโจมตีในปีหน้า โดยการโจมตีทางไซเบอร์ในอนาคตจะมีเป้าหมายเพื่อทำลายชื่อเสียงด้านดิจิทัลของหลายบริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศด้วย
“ไม่เพียงข้อมูลการพัฒนาวัคซีน แต่ยังต้องครอบคลุมทั้งข้อมูลการขนส่ง ไปจนถึงข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดต้องได้รับการระวังภัยอย่างรอบคอบเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดผลกระทบจากการโจมตีของแฮ็กเกอร์”
ทั้งนี้ คุณวิทาลี โยงว่า ความปลอดภัยของข้อมูลจะต้องได้รับการพิจารณาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมในการวิจัยวัคซีน และหากมีการพลาดพลั้งถูกโจมตีเขาแนะนำว่าห้ามมีการประนีประนอมกับคนร้าย เพราะอาชญากรอาจยอมโอนอ่อนในช่วงแรกเท่านั้นก่อนจะนำไปสู่กับดักที่ร้ายแรงกว่า
คุณวิทาลี ย้ำว่าที่ผ่านมามีรายงาน การโจมตีกระบวนการพัฒนาวัคซีนหลายครั้งหลายหน แถมยังมีการกล่าวหาเรื่องการขโมยข้อมูลการวิจัยวัคซีนระหว่างประเทศจนเป็นข่าวให้เห็นบ่อยในช่วงปี 63
นอกเหนือจากวัคซีน การที่บริษัทเปิดให้พนักงานทำงานจากบ้าน หรือ Work from home (WFH) ยังถือเป็นภาวะเสี่ยงต่อความปลอดภัย องค์กรจึงจำเป็นต้องใส่ใจกับขั้นตอนพิเศษเพื่อป้องกันการละเมิดหรือโจมตีของแฮ็กเกอร์ให้มาก ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้นในเอเชีย ซึ่งเปิดช่องว่างให้อาชญากรไซเบอร์มีลู่ทางโจมตีได้มากขึ้น
แคสเปอร์สกี้ ระบุว่า เรื่องนี้สำคัญมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูงมากมีผู้ใช้ออนไลน์มากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลกและเป็นศูนย์กลางของการเติบโตของ Facebook ตัวเลขล่าสุดจาก Statista แสดงให้เห็นว่าในปี 2020 เอเชียตะวันออกมีจำนวนผู้ใช้เครือข่ายเสมือนมากที่สุดที่มากกว่า 1 พันล้านคนส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้มีผู้ใช้มากกว่า 400 ล้านคน
ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีการนำมาตรการล็อกดาวน์รูปต่างๆ มาใช้การผ่อนผันมาตรการและออกมาตรการใหม่ในภูมิภาคทำให้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีช่องโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและการใช้งานแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การโพสต์รูปภาพ การส่งข้อความ จนถึงการเป็นตลาดออนไลน์ที่กำลังขยายตัวทำให้จำเป็นต้องตรวจสอบพรมแดนทางเศรษฐกิจใหม่นี้
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งของการระบาด คือ ภาวะที่ทุกคนตั้งแต่บุคคลไปจนถึงองค์กรใหญ่ต้องเปลี่ยนกิจกรรมส่วนใหญ่มาอยู่บนออนไลน์ การพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้อาชญากรไซเบอร์มีเครื่องมือทรงพลังทำให้สามารถใช้เรื่องโควิด-19 เป็นตัวล่อให้ผู้ใช้สนใจคลิกอีเมลฟิชชิ่ง หรือแชร์ลิงก์ที่เป็นอันตรายรวมถึงการส่งต่อภาพที่ติดไวรัสและอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากวัคซีน การที่บริษัทเปิดให้พนักงานทำงานจากบ้าน หรือ Work from home (WFH) ยังถือเป็นภาวะเสี่ยงต่อความปลอดภัย องค์กรจึงจำเป็นต้องใส่ใจกับขั้นตอนพิเศษเพื่อป้องกันการละเมิดหรือโจมตีของแฮ็กเกอร์ให้มาก ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้นในเอเชีย ซึ่งเปิดช่องว่างให้อาชญากรไซเบอร์มีลู่ทางโจมตีได้มากขึ้น
สถิติที่เห็นได้ชัดคือช่วงต้นเดือนเมษายนที่หลายบริษัทเปิดให้พนักงานทำงานจากบ้าน ช่วงเวลาดังกล่าวพบการโจมตีอย่างรุนแรงบนเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลเพิ่มขึ้น 23% ขณะที่ไฟล์ที่เป็นอันตรายที่ติดตั้งบนเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 8% ในเดือนเมษายนท่ามกลางการโจมตีเครือข่ายและอีเมลฟิชชิ่งเพิ่มขึ้น
จากการตรวจจับและวิเคราะห์ตัวอย่างมัลแวร์ที่ไม่ซ้ำกัน 350,000 ตัวอย่างต่อวันก่อนโควิด-19 ปัจจุบันบริษัทพบตัวอย่างใหม่ทั้งหมด 428,000 ตัวอย่างต่อช่วงเวลา 24 ชั่วโมงด้วย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ห่วง “ชื่อเสียงออนไลน์”
การสำรวจล่าสุดของ Kaspersky ยังพบว่าผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกตระหนักมากขึ้นถึงชื่อเสียงที่สร้างขึ้นทางออนไลน์ และความสำคัญของชื่อเสียงที่มีต่อชีวิตจริงของตัวเองโดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้ 35% ไม่ยอมเปิดเผยชื่อจริงหรือภาพถ่ายบนโลกโซเชียล ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นเช่นเอเชียใต้ 28% ออสเตรเลีย 20% เฉลี่ยรวมในเอเชียแปซิฟิก 30%
คุณโยว เซียงเทียง ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การมีบัญชีโซเชียลมีเดียที่ไม่มีชื่อจริง ภาพถ่าย และข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้เป็นการสวนทางกับภาวะที่ 49% ของผู้ตอบแบบสอบถามมักจะตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดียของแบรนด์หรือบริษัทก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือบริการ โดยแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ต้องการรักษาตัวตนมากที่สุดคือ Facebook (70%), YouTube (37%), Instagram (33%) และ Twitter (25%)
“สิ่งที่เกิดขึ้นแปลว่าทุกอย่างกำลังมาถึงทางแยก เพราะเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว ทำให้โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในวิธีที่ชาวโลกจะเข้าสังคมและระบุตัวตนซึ่งกันและกัน ซึ่งต่อไปนี้ การใช้โปรไฟล์เสมือนของบุคคลและบริษัทจะเป็นตัวแปรสำคัญในการประเมินทุกสิ่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”
การสำรวจพบว่า การใช้โปรไฟล์แบบ Anonymous นั้นมีเหตุผล 2 อย่าง คือการช่วยให้แต่ละคนสามารถติดตามความสนใจของตัวเอง และใช้ประโยชน์จากการพูดได้โดยเสรี แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นอันตรายได้ การสำรวจพบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าใช้บัญชีที่ไม่ระบุชื่อเพื่อใช้ประโยชน์จากการพูดโดยเสรีโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของพวกเขา ในขณะที่ 48% ต้องการที่จะติดตามสิ่งที่สนใจอย่างสบายใจ เพราะจะเก็บเป็นความลับโดยไม่ให้เพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานสังเกตเห็น
การสำรวจพบอีกว่ามากกว่า 34% ใช้บัญชีที่ไม่ระบุตัวตนเพื่อท้าทายข้อโต้แย้งของบุคคลหรือข่าวออนไลน์โดยไม่ใช้ตัวตนที่แท้จริง ราว 30% ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียที่ไม่ระบุตัวตนสำหรับกิจกรรมเบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความชอบ เช่น ศิลปิน และ 22% มีส่วนร่วมในการสะกดรอยทางออนไลน์
การสำรวจนี้จึงสรุปได้ว่า ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกตระหนักมากถึงชื่อเสียงของตัวเองบนโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของชื่อเสียงที่มีต่อชีวิตจริง ตอกย้ำความจำเป็นต้องตรวจสอบพรมแดนทางเศรษฐกิจใหม่นี้ให้รอบคอบในปี 64 และอีกหลายปีนับจากนี้