นักวิทยาศาสตร์ในเวลส์กำลังคิดค้นเทคนิคใหม่ที่สามารถนำอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่ใช้แล้ว เช่น หน้ากากอนามัย ผ้ากันพลาสติก และแผ่นพลาสติกป้องกันใบหน้า ไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยบุคลากรจากมหาวิทยาลัยสวอนซี บอกว่าวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาขยะทางการแพทย์จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้
ในขณะที่ตอนนี้ อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลหรือ PPE (Personal Protective Equipment) ถูกนำไปทำลายโดยการเผา ซึ่งจะยิ่งเพิ่มปริมาณคาร์บอนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้บอกว่า จะใช้แสงแดดไปทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ กลายเป็นพลังงานไฮโดรเจนได้
นอกจากนี้ พวกเขากำลังศึกษาว่ากระบวนการดังกล่าวจะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามอุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้ได้หรือไม่
เทคนิคที่เรียกว่า “โฟโตรีฟอร์มมิง” (photoreforming) เปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นพลังงานไฮโดรเจน
ทีมนักวิจัยนี้กำลังสานต่องานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า “โฟโตรีฟอร์มมิง” (photoreforming) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นพลังงานไฮโดรเจน
เทคนิคดังกล่าวจะใช้สิ่งที่เรียกว่า โฟโตคาตาลิสต์ (photocatalyst) ซึ่งเป็นวัสดุที่ซึมซับแสง และสามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นพลังงาน ทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมีได้ ซึ่งในกรณีนี้คือการย่อยขยะพลาสติกและเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นพลังงานไฮโดรเจน
กระบวนการดังกล่าวยังทำให้เกิดอนุมูลอิสระออกซิเจน (reactive oxygen species) ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสวอนซีและอินเดียกำลังค้นหาว่ากระบวนการนี้สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ด้วยหรือไม่ โดยได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเวลส์เป็นเงิน 47,000 ปอนด์ หรือเกือบ 2 ล้านบาท
ขยะทางการแพทย์
ทีมนักวิจัยระบุว่า โครงการนี้อาจลดค่าใช้จ่ายได้ราว 700 ล้านปอนด์ ที่สำนักงานบริการสุขภาพ หรือ NHS ของสหราชอาณาจักร ต้องเสียทุกปีในการจัดการกับขยะทางการแพทย์ตั้งแต่ก่อนมีเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้ว
หัวหน้าทีมวิจัย ดร.มอริตซ์ เคอเนล บอกว่า หน้ากากอนามัยที่เราเห็นคนทิ้งตามข้างถนนเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าโรงพยาบาลต้องทิ้งอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ มากมายแค่ไหน
ดร.เคอเนล บอกว่ากระบวนการนี้สำคัญมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการจัดการรีไซเคิลขยะ
“การใช้เทคโนโลยีของเรากับแค่ 1% ของขยะทั้งหมดจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นหลายล้านและลดมลพิษทางอากาศด้วย”
ดร.เคอเนลบอกว่ากระบวนการนี้ใช้เงินน้อยและทำได้ง่าย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการรีไซเคิลขยะ แม้ว่าตอนนี้จะเป็นขั้นตอนแรก ๆ ของการค้นคว้า แต่ ดร.เคอเนลเชื่อว่าในที่สุดแล้ว “คุณจะมีอุปกรณ์ที่เหมือนเครื่องซักผ้าธรรมดา ๆ ใส่ขยะทุกอย่างลงไป เปิดเครื่อง รอให้แดดออก และขยะก็จะหายไป”