เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา เครือฯจัด Facebook Live ผ่านรายการ The Sustain โดยมี รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM ร่วมพูดคุยกับตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่ คุณสิริน พรทิพย์สกุล หรือ คุณยีน จากโลตัส และ คุณธัชกร ฉันทานนท์ หรือคุณแบงค์ จากสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในหัวข้อ Education in the 4th industrial revolution หรือ “การศึกษาในยุค 4.0” เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เวที “One Young World Summit 2021” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 กรกฎาคม 2564
รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า ทิศทางการศึกษาในยุค 4.0 มีตัวแปรหลักที่สำคัญคือ 1. Digitalization อิทธิพลทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน 2. Medicalization การพัฒนาด้านการแพทย์ 3. Financialization พัฒนาการของระบบการเงิน 4. Virtualization เศรษฐกิจสังคมโลกที่แปรผันตลอดเวลาในโลกออนไลน์ และ 5. Climatization ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การเกิดสภาวะโลกร้อน ฯลฯ ซึ่งตัวแปรเหล่านี้เป็นความท้าทายของอนาคตการศึกษาไทยที่จะต้องเตรียมคนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
อธิการบดี PIM ให้ความเห็นว่า การศึกษา คือ การเตรียมคนให้มีความพร้อม โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญ ดังนี้ 1. ความพร้อมด้านสติปัญญา 2. ความพร้อมด้านทักษะองค์ความรู้ และ 3. ความพร้อมด้านศีลธรรมและจริยธรรม ปัจจัยดังกล่าวเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมด้านการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันนักศึกษาไทยยังขาดปัจจัยดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจาก สถาบันการศึกษาของไทยบางแห่งเน้นภาคทฤษฎีมากเกินไป ในขณะที่บางแห่งเน้นการปฏิบัติมากเกินไปทำให้ขาดความพอดี อย่างไรก็ตาม สามารถแก้ไขได้โดยการนำแนวคิด Work-Based Education หรือการนำวิชาการผสมผสานภาคปฏิบัติมาใช้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และลงมือทำไปพร้อม ๆ กัน
ด้านตัวแทนเยาวชนของเครือฯ คุณธัชกร หรือ คุณแบงค์ ซึ่งสนใจในประเด็นการศึกษา กล่าวว่า การศึกษาของไทยยังมีจุดอ่อน ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทย คุณแบงค์ เล่าว่า ตนมีความสนใจในการนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการ Tracking and Evaluating หรือการติดตามความสนใจและความเข้าใจในบทเรียนของผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการวางแผน และพัฒนาประสิทธิภาพเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
คุณสิริน หรือ คุณยีน กล่าวว่า ความท้าทายของการศึกษาไทย คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุก ๆ วัน ปัจจุบันการศึกษาไทยมักจะให้ความสำคัญกับ Hard Skills หรือ ทักษะเฉพาะทางที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพมากกว่า Soft Skills หรือ ลักษณะอุปนิสัยและทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะที่ใช้ในการสื่อสาร คุณยีนให้ความเห็นว่า Hard Skills แม้จะเป็นทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการในตลาด แต่ความต้องการนั้นเปลี่ยนแปลงไปทุก ๆ วัน ทักษะหรือวิชาชีพที่ตลาดต้องการในเวลานี้อาจจะถูกลดทอนความสำคัญลงหรือถูกด้วยทักษะด้านอื่นในอนาคตเข้ามาแทนที่ ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญในเรื่อง Soft Skills มากขึ้น เช่น การส่งเสริมทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การปรับตัวให้หมุนทันโลก เพราะไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปอย่างไร Soft Skills เหล่านี้ก็จะยังสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป
ทั้งนี้ ในประเด็นที่ ผู้นำรุ่นใหม่ของเครือฯ สะท้อนแนวคิดให้ฟังนั้น รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน และสนับสนุนให้นำ Worked-Based Education มาใช้ให้มากขึ้น โดยยกตัวอย่าง PIM ที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Worked Based Education ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริง ซึ่งได้ส่งนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้งานจริงในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยมีพนักงานเซเว่นฯ เป็นเหมือนครูผู้สอนที่สอนจากประสบการณ์ทำงานจริง การเรียนในรูปแบบนี้ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างทักษะในการทำงาน และยังมีการเสริมทักษะด้านการสื่อสารในที่ทำงานควบคู่กันไปด้วย
ในช่วงท้ายของการสนทนา รศ.ดร.สมภพ กล่าวถึงความเชื่อมั่นในตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และขอให้ผู้นำรุ่นใหม่ของเครือฯ เชื่อมั่นในตนเอง สร้างแรงบันดาลใจเพื่อเพื่อค้นหาตนเองให้พบแล้วเรียนรู้ สร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเพื่อนำไปสานต่อและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนต่อไป