สิทธิและเสรีภาพ อีกประเด็นทางสังคมที่เวทีสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ One Young World Summit 2021  ไม่อาจมองข้าม ระบุทุกคนต้องมีสิทธิใช้ชีวิตที่เท่าเที่ยม นักวิชาการชี้คนรุ่นใหม่ต้องสู้เพื่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูล 

เมื่อค่ำวานนี้ (23 ก.ค. 2564) วันที่สองของการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชน One Young World Summit 2021 ที่เยาวชนจากหลายหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งผู้นำรุ่นใหม่ของเครือซีพี รวมตัวกันเพื่อผนึกกำลังความคิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง  โดยได้มีการพูดถึงประเด็นทางสังคมใน เรื่องของสิทธิและเสรีภาพ และอิสรภาพในการแสดงออก โดยมี เทอร์รี ครูวส์ (Terry Crews) พิธีกรรายการโทรทัศน์ นักแสดงชื่อดัง ชาวอเมริกันเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการพูดคุยในวันนั้นวิทยากรที่มาร่วมพูดคุยต่างต้องการปกป้องสิทธิ์ของมนุษย์ท่ามกลางสถานการณ์ในโลกปัจจุบันที่สิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ถูกละเมิดมากขึ้น

ศาสตราจารย์ โชชาน่า ซูบอฟ (Professor Shoshana Zuboff) นักจิตวิทยาสังคม นักปรัชญา และนักวิชาการชื่อดัง มาให้แนวคิดด้านสิทธิและเสรีภาพ โดยได้แสดงทัศนคติต่อเรื่อง Epistemic rights หรือ สิทธิที่มนุษย์พึงได้รับรู้โดยปราศจากข้อจำกัด โดยบอกว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในข้อมูล สิทธิในการรู้ สิทธิในความเชื่อที่ถูกต้องและสิทธิในการเข้าใจ เนื่องจาก โลกปัจจุบันสิทธิในการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ของมนุษย์ถูกกำหนดจากข้อมูลที่บันทึกผ่านการติดตามความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งทำให้มีการนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการทำนายอนาคตและกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ  ศาสตราจารย์ โชชาน่า จึงมีความหวังว่าเยาวชนรุ่นใหม่จะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง มิยอมให้ถูกปิดกั้นในการรับข้อมูล หรือ ถูกกำหนดว่าควรรับรู้สิ่งใด

ด้านตัวแทนเยาวชนที่ได้รับเลือกให้มาพูดคุยบนเวทีดังระดับโลกอย่าง ซาราห์ มาร์ดินี (Sarah Mardini) นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวซีเรียที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพให้แก่ผู้ลี้ภัย ซาราห์ได้เล่าถึงประสบการณ์การลี้ภัยของตัวเอง ความยากลำบากของผู้ลี้ภัยที่ต้องการจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เธอยังได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอถูกจับที่ประเทศกรีซ เนื่องจากการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้เข้าประเทศอย่างปลอดภัย ซาราห์ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรข้ามชาติ ลักลอบคนเข้าเมือง เพียงเพราะเธอต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซาราห์ไม่เคยยอมแพ้และอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้เธอหยุดช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เพราะเธอเชื่อในการต่อสู้เพื่อโลกที่ไร้พรมแดน ที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ยังมี ปีเตอร์ โอกิค (Peter Ogik) ประธานคณะกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง Source of the Nile Union of Persons with Albinism หรือ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อช่วยเหลือผู้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Albinism ซึ่งตัวเขาเองเกิดมาพร้อมกับ Albinism  และได้เล่าถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตวัยเด็ก เช่น การเข้าสังคม การถูกเพื่อน ๆล้ อ ตลอดจนถูกปฏิเสธเข้ารับทำงานเมื่อเขาโตขึ้น ปีเตอร์ต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนที่เกิดมาพร้อมกับ Albinism เขาต้องการให้สังคมเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง เพราะเขาเชื่อในการต่อสู้เพื่อสิทธิในความแตกต่าง และทุกคนในสังคมควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันและถูกหยิบยกมาให้แนวคิดแก่เยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้เห็นว่าปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นมีหลากหลายรูปแบบและเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด