ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
บรรดาผู้เชี่ยวชาญภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่ติดตามการฟื้นตัวของรูโหว่ในโอโซนซึ่งมีการพบเห็นเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าโอโซน ชั้นบรรยากาศที่ทำหน้าที่ปกป้องโลก กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ
โดยผลการประเมินทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์ทุกๆ 4 ปี เป็นไปตามพิธีสารมอนทรีออลในปี 1987 ซึ่งห้ามการผลิตและการบริโภคสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนของโลก
ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าการฟื้นตัวของโอโซนจะค่อยเป็นค่อยไป และจะใช้เวลาหลายปี หากนโยบายปัจจุบันยังคงมีผลบังคับใช้ คาดว่าชั้นโอโซนจะฟื้นตัวถึงระดับ 1980 ก่อนการปรากฏตัวของหลุมโอโซนภายในปี 2040 และจะกลับมาเป็นปกติในแถบอาร์กติกภายในปี 2045 ขณะที่แอนตาร์กติกาน่าจะกลับสู่ระดับปกติภายในปี 2066
เพทเทอรี ทาลาส เลขาธิการทั่วไปขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorological Organization กล่าวว่า การปกป้องโอโซนถือเป็นแบบอย่างของการดำเนินการเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน และความสำเร็จของการเลิกใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซน แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้และต้องทำ ซึ่งหมายรวมถึงการเร่งลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดก๊าซเรือนกระจก และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ
ทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากทุกประเทศทั่วโลกลงมือทำอย่างเข้มข้นจริงจังมากขึ้นในเรื่องของการลดโลกร้อน เชื่อว่าระดับการฟื้นตัวของชั้นโอโซนย่อมน่าจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ชั้นโอโซนในบรรยากาศชั้นบนปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหามะเร็งผิวหนัง ต้อกระจกตา ระบบภูมิคุ้มกัน และความเสียหายของที่ดินเกษตรกรรม
อ้างอิง: