นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ระหว่าง การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด มหาชน (CP ALL) และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) โดยมี นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และนายวิเชียร เนียมน้อม ผู้แทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ร่วมลงนาม อีกทั้ง นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวรายงานความร่วมมือ ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 5 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช. ) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีภารกิจด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รวมถึงกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ให้ได้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสมและสามารถรับภาระได้ ควบคู่กับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Smart and Sustainable Community for Better Well – being : SSC) ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยได้ดำเนินโครงการ SSC ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ มิติที่ 2 ความมั่นคงของระบบนิเวศ มิติที่ 3 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมิติที่ 4 สุขภาวะทางสังคม
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามกระทรวง พม. ขอขอบคุณ CP ALL และ PAT ที่ได้มอบโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ความดูแลของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศ ได้มีโอกาสทางการศึกษา พัฒนาความรู้ ความสามารถ และเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ ทำให้ลูกหลานของชาวชุมชนการเคหะฯ ทั่วประเทศ ไม่ต้องออกจากบ้าน จากครอบครัวไปศึกษาไกล สามารถอยู่ในภูมิลำเนาของตนเอง สร้างสังคม สร้างเศรษฐกิจ ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เด็กและเยาวชนทุกคนที่เข้าศึกษาในโครงการนี้ จะได้มีโอกาสเข้าทำงานใน CP ALL หรือร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งนี้ เมื่อเยาวชนแต่ละคนมีอาชีพ มีรายได้ และได้นำเอาความรู้ ความสามารถในการบริหารธุรกิจ มาใช้ในการทำงานได้ ย่อมจะทำให้ประเทศไทยของเราเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ทาง กคช. จะพิจารณาเด็กและเยาวชนที่มีคุณสมบัติตามกำหนดเข้ารับทุนการศึกษาในระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ในสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก และสาขางานธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่ง CP ALL ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งให้ค่าเบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการอื่นๆ ในระหว่างที่เยาวชนฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่ที่บริษัทฯจัดหาให้ ในขณะที่ PAT สนับสนุนการเรียนการสอนให้กับเยาวชนในระบบการศึกษาทวิภาคี โดยเรียนทั้งภาคทฤษฎีสลับกับภาคปฏิบัติ หรือทำงานจริงที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จนสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ ในการฝึกภาคปฏิบัติ เยาวชนจะได้เรียนรู้งานพื้นฐานของร้านค้าปลีก เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดพื้นที่ขายและตัวสินค้า การจัดเรียงสินค้า การเป็นพนักงานขาย พนักงานแคชเชียร์ การทำบัญชีการเงิน การสั่งสินค้า การส่งเสริมการขาย เป็นต้น และเมื่อเรียนจบการศึกษาแล้ว CP ALL จะรับเยาวชนที่มีคุณสมบัติและวุฒิการศึกษาตรงตามที่บริษัทฯกำหนด เข้าทำงานต่ออีกด้วย
ด้าน นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กล่าวว่า บริษัทซีพีออลล์ พร้อมให้การสนับสนุนด้านการศึกษาที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ อีกทั้งสนับสนุนองค์ความรู้ในการสร้างคน สร้างอาชีพ ฝึกให้เป็นนักธุรกิจยุคใหม่ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ด้วยความเข้มแข็งของวิทยาลัยฯและศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์20แห่งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค และสถานศึกษาในความร่วมมือในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ จึงมีความพร้อมในการสนับสนุนให้การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือกันต่อไป ทางด้านนายวิเชียร เนียมน้อม กล่าวเสริมว่าวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์เปรียบเสมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์ด้วยระบบการศึกษา เป็นการพัฒนาคนด้วยการศึกษาและตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ สิ่งสำคัญของการดำเนินงานคือการยึดถือหลักปรัชญาขององค์กร3ประการ คือ ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร ซึ่งการให้โอกาสทางการศึกษาถือว่าเป็นการสร้างสะพานบุญให้เด็กและเยาวชนร่วมกัน