PDPA คืออะไร? เผย 10 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้ ก่อนบังคับใช้ 1 มิ.ย. นี้

PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร เผย 10 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้ ก่อนมีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้

PDPA ย่อมาจาก คำว่า Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) กฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต

กฎหมาย PDPA Thailand (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และปัจจุบันได้ถูกเลื่อนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต

กฎหมายฉบัยบนี้กฎหมายใหม่และเรื่องใหม่ ที่ทุกคนควรทราบและตระหนักรู้ถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

ของลูกค้า ผู้ใช้งาน หรือพนักงานในองค์กร

ข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้การคุ้มครองของ PDPA มีอะไรบ้าง?

1.ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ได้แก่

-ชื่อ-นามสกุล

-เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน

-เลขบัตรประชาชน

-เลขหนังสือเดินทาง

-เลขใบอนุญาตขับขี่

-ข้อมูลทางการศึกษา

-ข้อมูลทางการเงิน

-ข้อมูลทางการแพทย์

-ทะเบียนรถยนต์

-โฉนดที่ดิน

-ทะเบียนบ้าน

-วันเดือนปีเกิด

-สัญชาติ

-น้ำหนักส่วนสูง

-ข้อมูลบนอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username /password,  Cookies IP address,  GPS Location

 

2. ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ซึ่งส่วนนี้ต้องระวังการใช้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล ได้แก่

-เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์

-ความคิดเห็นทางการเมือง

-ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา

-พฤติกรรมทางเพศ

-ประวัติอาชญากรรม

-ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์

-ข้อมูลสหภาพแรงงาน

-ข้อมูลพันธุกรรม

-ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา

 

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้ PDPAประกอบด้วย

1.เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่อยู่ในตัวหรือเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงบุคลหนึ่งบุคคลใดที่เป็นของบุคคล คน นั้น

2.ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือคน บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่เป็นคนตัดสินใจว่า จะมีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอะไร เพื่ออะไร ภายใต้ PDPA ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดหลักที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA ให้ครบถ้วน

3.ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ คน บริษัทหรือองค์กรต่างๆที่ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะทำภายใต้คำสั่ง หรือในนามของ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจทำการประมวลผลข้อมูลด้วยตัวเอง

 

บทลงโทษหากไม่ปฎิบัติตาม PDPA

– โทษทางอาญา: จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– โทษทางแพ่ง: ค่าสินไหมทดแทน + ค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่า

– โทษทางปกครอง: ปรับไม่เกิน 1หรือ3หรือ 5 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ก่อนมีผลบังคับใช้ สาระสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่นี้ คือ

1. ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมเฉพาะ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ (มาตรา 6)

2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเอาไว้ก่อหรือในขณะเก็บรวบรวม (ห้ามใช้นอกเหนือวัถตุประสงค์) (มาตรา 21 )

3. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเราเท่าที่จำเป็น ภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 22 ) ใช้ข้อมูลของเราให้น้อยที่สุด

4. ความยินยอม เป็นฐานการประมวลผลฐานหนึ่งเท่านั้น “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” มีหน้าที่ในการกำหนดฐานการประมวลผลให้สอดคล้องกับลักษณะการประมวลผลและความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ควบคุมข้อมูล” กับ “เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล” (ตามมาตร 24 หรือ มาตรา 26)

5.ในการขอความยินยอม “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” จะต้องคำนึงอย่างที่สุดในความเป็นอิสระของ “เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล” (ต้องไม่มีสภาพบังคับในการให้/ไม่ให้) (มาตรา 19 วรรคสี่)

6. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิดังนี้

-สิทธิในการถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้ (มาตรา 19 วรรคห้า)

-สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (Privacy Notice) (มาตรา 23)

-สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 30)

-สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 31)

-สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 32)

-สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ (มาตรา 34)

-สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 34)

-สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 35)

7. กฎหมาย PDPA ให้กับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม (มาตรา 5)

8.ในกรณีที่เหตุการละเมิด “ข้อมูลส่วนบุคคล” มีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของ “เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล” กฎหมายกำหนดให้ “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” มีหน้าที่ แจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ พร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้า (มาตรา 37(4))

9.ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล มีหน้าที่จัดทำบันทึกรายการกิจกรรม เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยจะบันทึกเป็นหนังสือหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

10. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม PDPA หรือ ประกาศฯ ที่ออกตาม PDPA ทั้งนี้ กระบวนการร้องเรียนเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด (มาตรา 73)

PDPA คืออะไร? เผย 10 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้ ก่อนบังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้  ภาพจาก PDPC Thailand
PDPA คืออะไร? เผย 10 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้ ก่อนบังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้  ภาพจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม
ที่มา TNN ONLINE