ภาพโดย huoadg5888 จาก Pixabay
ในขณะที่ธุรกิจหลายแห่งเผชิญสถานการณ์โควิดจนทำให้รายได้หดหาย แต่ยังมีหนึ่งธุรกิจที่เติบโตแบบไม่สนวิกฤต นั่นคือ ‘ธุรกิจสัตว์เลี้ยง’ ซึ่งผู้บริโภคมองว่านี่คือลูก จึงทุ่มไม่อั้นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด
งานวิจัยเรื่อง Petsumer Marketing เจาะลึกอินไซต์ โดนใจทาสสายเปย์ ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 3,954 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 40,638 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2569 (อ้างอิงข้อมูล Euromonitor)
จากผลสำรวจพบว่า 49% เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent) โดยเทรนด์การเติบโตของ Pet Parent เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทย โดยอัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทย อ้างอิงจากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว (Pet Register) เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดของเด็กไทยในช่วงปี 2560-2564 ก็ลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
นอกจากนี้คนเลี้ยงสัตว์อีก 34% เลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige) และ 18% เพื่อช่วยเหลือและช่วยบำบัดรักษา (Pet Healing) โดยสัตว์เลี้ยงบำบัดมีประโยชน์ เช่น เพิ่มความสุข เพราะช่วยเพิ่มระดับสารออกซิโทซินได้ 20% และทำให้สภาพจิตดี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความดันโลหิต รวมถึงช่วยเยียวยาจิตใจหรือร่างกาย นอกจากนี้การสำรวจยังพบว่า 80.7% ของผู้เลี้ยงสัตว์มีสถานะโสด และ 19.3% มีสถานะสมรสแล้ว
จากการสำรวจพบว่า มีผู้เลี้ยงสุนัขมากที่สุด 40.4% เนื่องจากสุนัขมีความซื่อสัตย์ ซุกซน ขี้เล่น ฉลาด แสนรู้ และคลายเหงาได้ ในขณะที่ 37.1% ของกลุ่มตัวอย่างเลี้ยงแมว เนื่องจากไม่ส่งเสียงดัง น่ารัก ขี้อ้อน เลี้ยงดูง่าย เป็นสัตว์ที่รักสะอาด และไม่มีกลิ่นเหม็น
นอกจากนี้อีก 22.6% เป็นกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์เอ็กโซติก เพราะสัตว์กลุ่มนี้ดูมีความแตกต่างและอินเทรนด์ สามารถบอกตัวตนของคนเลี้ยงได้ อีกทั้งยังเลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย อายุยืน เป็นโรคน้อย และสามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้ สำหรับสัตว์เอ็กโซติกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดคือ ปลาสวยงาม รองลงมาคือ นก, กระต่าย, เต่า และหนู ตามลำดับ
ในการเลี้ยงสัตว์จะต้องมีการรับข้อมูลต่างๆ เพื่อตัดสินใจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิด รวมถึงค่าดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป โดยช่องทางในการรับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดคือโซเชียลมีเดีย 39.8% รองลงมาคือ จากเพื่อนและครอบครัว, ค้นหาทางอินเทอร์เน็ต และโฆษณาทีวี ตามลำดับ
พฤติกรรมของผู้ซื้ออาหารสัตว์มักจะมุ่งเน้นการซื้อเพื่อสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยง ไม่ค่อยซื้อเพื่อตุนของ และ 62.6% ไม่ค่อยนิยมเปลี่ยนแบรนด์ เนื่องด้วยกลัวสัตว์เลี้ยงจะมีอาการท้องเสีย ไม่คุ้นกลิ่น และไม่คุ้นเม็ดอาหาร โดยค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนส่วนมากอยู่ที่ 1,001-2,000 บาทต่อเดือน 39.3% รองลงมาคือต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือน, 2,001-3,000 บาทต่อเดือน และมากกว่า 3,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ด้านการดูแลเหล่าสัตว์เลี้ยงก็มีบริการยอดฮิตที่นิยมใช้ ได้แก่ อาบน้ำตัดขน 60.1% รองลงมาคือบริการรับฝากเลี้ยง 25.9% บริการสปานวด 6.7% และบริการทำเล็บ 5.8% โดยปัจจัยในการเลือกใช้บริการร้านเสริมสวยสัตว์เลี้ยงคือทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง รองลงมาคือความน่าเชื่อถือของสถานบริการ โดยค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการใช้บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ 1,000-3,000 บาท ถึง 57.4% โดยมักนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับบริการดังกล่าวประมาณ 1 ครั้งต่อเดือน
สิ่งที่น่าสนใจคือ กลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้สัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์ เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างภาพจำ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด
สำหรับการใช้สัตว์เลี้ยงในการโฆษณา (Pet on Advertising) ภาพโฆษณาที่มีสัตว์และสินค้าอยู่ด้วยกันมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด 43.82% รองลงมาคือภาพที่มีสินค้าอย่างเดียว 37.08% และภาพคน สัตว์ และสินค้า มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ 19.10%
โดยภาพที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุดอย่างภาพที่มีสัตว์และสินค้าอยู่ด้วยกันจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะสัตว์จะช่วยดึงดูดได้ ดูไม่เน้นการขายมากจนเกินไป และสามารถเปรียบเทียบขนาดของสินค้าได้อย่างชัดเจน สำหรับสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากเห็นสัตว์เลี้ยงในการสื่อสารการตลาด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สายการบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์
นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงที่ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียล หรือ Pet Influencer ที่หมายถึงสัตว์เลี้ยงที่มีอิทธิพลที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ด้านการตลาด ประโยชน์ของ Pet Influencer มีทั้งช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการเพื่อคนรักสัตว์ ช่วยในการโปรโมตกิจกรรมและการท่องเที่ยวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และมอบความบันเทิงแก่ผู้ติดตาม รวมทั้งสร้างรายได้จากคอนเทนต์ต่างๆ ด้วย
โดยประเภทของคอนเทนต์ที่โดนใจผู้ชมมากที่สุดคือคอนเทนต์บันเทิง ขำขัน โชว์พฤติกรรมสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ โดยคลิปสั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำคอนเทนต์