พีไอเอ็ม จับมือ เมืองคิตะคิวชู และ National Institute of Technology, Kitakyushu College (NITKIT) ประเทศญี่ปุ่น เซ็น MoU ขับเคลื่อนทักษะด้านวิศวกรรม สร้างวิศวกรภาคอุตสาหกรรมระดับสากล ต่อเนื่องปีที่ 4

คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) รูปแบบออนไลน์ ระหว่าง เทศบาลเมืองคิตะคิวชู จังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น (Bureau City of Kitakyushu) และ National Institute of Technology, Kitakyushu College (NITKIT) ประเทศญี่ปุ่น  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4  ภายใต้ “โครงการฝึกปฏิบัติและบรรจุงานร่วมกับเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น”โดยความร่วมมือดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการศึกษา การฝึกปฎิบัติงาน การวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากร การจ้างงานของนักศึกษาในอนาคต และส่งเสริมการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพพร้อมทำงานในระดับสากล  เพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยและญี่ปุ่น การขยายตัวของอุตสาหกรรมในเมืองคิตะคิวชซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น การนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี พีไอเอ็ม, อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ พีไอเอ็ม, Mr. Shinya Ikenaga Chief Executive, Industry and Economics Bureau, City of Kitakyushu  และ Mr. Tetsuyuki Hongo อธิการบดี จาก National Institute of Technology, Kitakyushu College (NITKIT)  ประเทศญี่ปุ่น  ให้เกียรติเป็นประธานร่วมในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารทั้ง 3 ฝ่ายเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในรูปแบบการประชุมทางไกลวิดีโอ​คอนเฟอเรนซ์  ทั้งนี้นักศึกษาในโครงการจะได้เปิดโลกทัศน์ใหม่เพื่อค้นหาตัวเองและเป้าหมายในชีวิต เพิ่มความเป็นมืออาชีพให้กับตนเองและองค์กรในคราวเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม  โดยความเข้มข้นของโครงการจะสั่งสมการฝึกปฏิบัติงานจริงกับบริษัทของญี่ปุ่น ศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เติมประสบการณ์ด้านการทำงานเพื่อประกอบอาชีพ ด้านภาษา และความเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดผ่านการสนับสนุนโดย Bureau City of Kitakyushu ตลอดจนการฝึกฝนเพิ่มทักษะต่างๆ ผ่านการรับผิดชอบภารกิจ ได้ร่วมทำโปรเจกต์ที่ NITKIT หนึ่งในสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติญี่ปุ่น นับเป็นสถาบัน KOSEN ที่มีระบบการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญ เฉพาะในญี่ปุ่น เน้นการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการปฎิบัติงานจริง เป็นที่ยอมรับทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาควิชาการ

รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึงโครงการฝึกปฎิบัติงานต่างประเทศนี้ คือโครงการที่นักศึกษาพีไอเอ็มได้ไปฝึกปฏิบัติงานในระดับนานาชาติ สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนของพีไอเอ็ม ที่เรียกว่า Work-based Education ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวได้สร้างโอกาสให้นักศึกษาทั้งด้านการเรียนวิชาการผสานการปฏิบัติ ต่อเนื่องไปจนถึงโอกาสในการทำงาน เรียนรู้งานด้านวิศวกรรมจากเมืองที่มีชื่อเสียงชั้นนำด้านเทคโนโลยี รวมถึงภาคปฏิบัติจาก National Institute of Technology, Kitakyushu College นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ผมขอชื่นชมวิสัยทัศน์ผู้บริหารระดับสูงของเทศบาลคิตะคิวชูที่มีร่วมมือทุกภาคส่วนได้อย่างลงตัว  และเกิดประโยชน์ตั้งแต่ระดับปัจเจกชนจนถึงระดับประเทศ นอกจากนี้ขอขอบคุณความตั้งใจและความอุตสาหะของผู้บริหาร    ผู้ประสานงานทุกฝ่ายที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนจนประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ด้าน Mr. Shinya Ikenaga Chief Executive, Industry and Economics Bureau, City of Kitakyushu เผยว่า ความร่วมมือกับพีไอเอ็มจะส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าต่ออุตสาหกรรม บุคลากร การศึกษาระหว่างประเทศ และเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับนักศึกษาฝึกงานที่จำนวน 16 คน ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลเชื่อมโยงที่ดีในอนาคตอย่างแน่นอน ผมหวังว่าโครงการนี้จะสร้างบุคลากรมีประสิทธิภาพแก่ภาคธุรกิจในอนาคต ที่เป็นดั่งทางเชื่อมระหว่างประเทศไทยและเมืองคิตะคิวชู เพื่อขยายโครงการอื่นๆ อีกมากมาย จากนี้หวังว่าความร่วมมือจะดำเนินไปด้วยสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

Mr. Tetsuyuki Hongo อธิการบดี จาก National Institute of Technology, Kitakyushu College (NITKIT) กล่าวแสดงความชื่นชมจากการลงนามร่วมมือในโอกาสนี้ แสดงให้เห็นถึงความประสบความสำเร็จ ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเราได้ทำโครงการใหม่ๆ ได้จริง ยิ่งไปกว่านั้นความร่วมมือนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทย ญี่ปุ่น ผสานกับสถานศึกษาและรัฐบาลท้องถิ่น ผมคิดว่าจะสามารถเป็นต้นแบบความร่วมมือในระดับโลกได้แน่นอน ตั้งแต่ปี 2020 เราเป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรทางด้านโรบอทให้กับโคเซ็นแคมปัสทั่วประเทศญี่ปุ่น รวมถึงที่ประเทศไทยด้วย โดยมีหน้าที่สนับสนุนบุคลากร อาจารย์ พัฒนาสื่อการสอน และจัดการศึกษาด้านโรบอท จากนี้ต่อไปเราหวังว่าจะได้รับการพิจารณาจากพีไอเอ็มไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนบุคลากรเท่านั้น อาจจะเป็นสื่อการสอน โปรแกรมการศึกษา การพัฒนาวิธีการสอน การประกันคุณภาพระดับสากล เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีผลงานในระดับโลก

พีไอเอ็ม เดินหน้าดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการฝึกปฏิบัติและบรรจุงานร่วมกับเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ในรุ่นที่ 4 อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ มีนักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน  ผ่านการคัดเลือก รวมทั้งหมด 7 คน เตรียมความพร้อมที่จะได้ไปเปิดประสบการณ์การเรียนรู้กับสถานประกอบการ บริษัทชั้นนำด้านระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ Ryowa Co., Ltd. , ICS Sakabe Co., Ltd. , Works Co., Ltd. และ ASKA CORPORATION Co., Ltd. ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป

Cr.PIM