สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ผนึกกำลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สมาพันธ์สมาคม สปาแอนด์เวลเนสไทย, สมาคมสปาไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมบริการสปาไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อสนับสนุนแนวคิดการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปาให้สอดคล้องกับความต้องการด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ และนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้คอนเซปต์ “Working together to foster Wellness for All” เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2566 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 16 อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรอบแนวคิดการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชน ภาคธุรกิจและสังคมบนฐานทรัพยากรของประเทศ โดยมีประธานลงนามจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. ประธานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) ผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว., รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สปาแอนด์เวลเนสประเทศไทย และ คุณสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์-นักวิจัย ผู้ประกอบการ บุคลากรของทุกฝ่าย และแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า “Wellness Economy มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศเพราะถือว่าเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ มีองค์ประกอบด้วยกันหลายส่วน อาทิ Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, Sport Economy ธุรกิจการกีฬา, Entertainment Economy ธุรกิจบันเทิง และยังมี Healthcare Economy ธุรกิจด้านสุขภาพ หรือแม้กระทั่ง Food Economy ธุรกิจด้านอาหาร โดยหลายๆ ตัวแปรมาจากภูมิปัญญาของคนไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้ใคร จึงนำไปสู่คำว่า Creative Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย ฉะนั้นทุกองค์กรที่ร่วมลงนามในวันนี้ถือเป็นผู้ที่มีคุณูปการด้านเวลเนส หรือ สปา สามารถขยายตัวสร้างชื่อเสียงไปรอบโลก ในนามของพีไอเอ็มขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือทำสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพและรักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เปิดเผยถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและงานวิจัยในปัจจุบันว่า Wellness Tourism Institute (GWI) ประเมินว่าตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism ของโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าปีละ 20.9% จากมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 และได้จัดอันดับ Wellness Tourism ของไทยอยู่ในลำดับที่ 15 ของโลก และอันดับที่ 4 ของเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากจุดแข็งด้านค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้รับ
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้บริการการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเป็นที่นิยมและมีอัตราเติบโตสูง เนื่องจากผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ซึ่ง Global Wellness Institute คาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 8.1% ต่อปี
ทางด้านบทบาทของพีไอเอ็มในส่วนการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชีวาสุขวิทยาลัย (PIM College of Health & Wellness), คณะพยาบาลศาสตร์ (School of Nursing) ได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการวิจัยด้านการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนานวัตกรรมทั้งการบริการและด้านผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ อีกทั้งผสมผสานความเป็นไทย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนำไปสู่การสร้างรายได้ และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป โดยการดำเนินการวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศดังกล่าวได้รับการสนับสนุนของ สกสว. และ บพข. มีการดำเนินร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้แทนผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยว่ามีความยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่ายความร่วมมือนี้ เพื่อขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับภาคเอกชน ภาควิชาการ ภายใต้แผน “การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่าสร้างความยั่งยืนและสร้างรายได้ของประเทศ” ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะการบริการสปาจะก่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมกับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิผล ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ รวมถึงอาชีพของคนไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปา สร้างรายได้ให้กับประเทศ พลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวคุณภาพและยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า การร่วมมือเป็นโอกาสในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความสามารถในการแข่งขันเติบโตอย่างก้าวกระโดดพร้อมมีมาตรฐาน ทาง บพข. จะร่วมพัฒนาโจทย์วิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว พร้อมบูรณาการทำงานในทิศทางเดียวกัน ผนึกความร่วมมือกันกับทุกหน่วยงานทั้งนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะสามารถช่วยให้การประกอบการด้านนี้มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมบริการสปา ที่ไม่เพียงดูแลการจัดการประสบการณ์ของผู้รับบริการเท่านั้น แต่ยังต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติสำหรับคนรุ่นต่อไปด้วย
คุณสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย กล่าวเสริมถึง พันธกิจของสมาคมมุ่งส่งเสริมธุรกิจสปาไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยเน้น 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานธุรกิจ สปาไทยเพื่อก้าวไปเป็นผู้นำด้านนี้ อีกทั้งวาระนี้สมาคมตั้งใจจะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ใน 4 เรื่องได้แก่ 1. Technology of Wellness ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและหลากหลาย ทางสมาคมต้องการเป็นตัวเชื่อมทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายมากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยในธุรกิจสปา 2. Herbology ส่งเสริมโอกาสสมุนไพรไทยให้เพิ่มมูลค่า ได้ใช้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน 3. Astrology การนำเสนอโหราศาสตร์ให้น่าสนใจในอุตสาหกรรมสปาไทย ซึ่งสปามีพื้นฐานมาจากแพทย์แผนไทยมีการศึกษาด้านโหราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษา และ 4. Immunology การดูแลรักษาร่างกายจากภายใน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแนวเชิงป้องกัน ดังนั้นสมาคมสปาไทยจะเชื่อมต่อความรู้ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรม จึงขอเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการช่วยเหลือทุกหน่วยงานที่จะพัฒนาความสามารถสู่การแข่งขันระดับโลกได้
พร้อมกันนี้ คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สปาแอนด์เวลเนสประเทศไทย เสริมว่า “หลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด-19ขึ้นทำให้เกิดเป็นโอกาส Wellness Tourism มีมากขึ้นอย่างแพร่หลาย และหนึ่งในนั้นคือ สปา ทางด้านผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความคาดหวังอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันและมีการรับรองให้กับสปา อีกทั้งอยากให้ทางภาครัฐช่วยทำประชาสัมพันธ์และการตลาด เพื่อแสดงถึงศักยภาพซอฟต์ พาวเวอร์ของประเทศในด้านนี้ ซึ่งจะสามารถช่วยเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทาง นอกจากนี้อยากส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรที่มีประโยชน์หรือมีสรรพคุณต่อผู้ใช้บริการในสปาอีกด้วย ในนามของสมาพันธ์ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนผนึกกำลังหนักแน่นและเดินต่อไป เชื่อว่าเราเดินมาถูกทิศทางแล้วโดยยุทธศาสตร์นี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ”
นอกจากนี้ภายในงานมีการมอบ ประกาศนียบัตรการเป็นสปาต้นแบบตามธาตุเจ้าเรือน จากโครงการการพัฒนาต้นแบบการบริการสปาเพื่อสุขภาพด้วยศาสตร์ภูมิปัญญาไทย ภายใต้ชุดโครงการการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยมาตรฐานสากลด้วยภูมิปัญญาไทย และการสร้างความผูกพันในการสร้างเสริมสุขภาพระหว่างและภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งดำเนินการโดย ชีวาสุขวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม ร่วมกับสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อยกระดับสปาไทยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ทั้งนี้มี 7 สถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้รับประกาศนียบัตรครั้งนี้ ได้แก่ อ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ต แอนด์ สปา, เฮลท์ ล้านนา สปา, ลานนาคำ สปา, ฟ้าล้านนา สปา, ศิรา สปา, สปา มันตรา และโอเอซิส สปา ประเทศไทย
พีไอเอ็มได้เริ่มต้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาทิ การลงนามความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนธุรกิจบริการสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และจัดนิทรรศการ “Lanna Wellness Hub” (ผญ๋าล้านนา ผาสุข) เผยแพร่ภูมิปัญญาไทยล้านนา ณ งาน Thailand International Health Expo 2022 ขณะเดียวกันยังเดินหน้าโครงการอื่นๆ เช่น จัดอบรมหลักสูตรผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ (SPA Manager) 100 ชั่วโมง ที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรางสาธารณสุข, โครงการนวดเพื่อสุขภาพ, โครงการฝึกอบรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all) ยังมีโครงการสปาสีเขียวเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ อีกด้วย
ที่มา พีไอเอ็ม