เป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายร่วมรับรู้ตรงกันแล้วว่า ภารกิจด้านการผลิตบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินไปควบคู่กับเมกะโปรเจ็กต์การพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ เพื่อลบช่องว่างที่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะ ‘แรงงานทักษะ’ ในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง 10+2 S-curve ในอีอีซี ทั้งนี้ สถาบันที่มีบทบาทหลักในการพิชิตภารกิจนี้ หนีไม่พ้น สถาบันการศึกษาทุกระดับ และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM ก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันอุดมศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเฉพาะทางหลากหลายด้าน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่เป้าหมายในอีอีซี ด้วยเหตุนี้เอง ทาง PIM จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าสร้าง ‘PIM วิทยาเขต EEC’ ขึ้น
ความต้องการบุคลากรป้อน อุตสาหกรรมเป้าหมาย แรงขับเคลื่อนหลักของการสร้าง ‘PIM วิทยาเขต EEC’
จากการสำรวจล่าสุด ในเรื่องของความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซี พบว่า ความต้องการจ้างงานใหม่มากถึง 475,668 อัตรา และด้วยดีมานด์ด้านกำลังคนที่ชัดเจนนี้เอง จึงเป็นเหตุผลให้หัวเรือใหญ่ของ PIM อย่าง นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ มีแนวคิดที่จะเดินหน้าเปิด PIM วิทยาเขต EEC ขึ้น
คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูง พลังงานสะอาด และนวัตกรรมล้ำสมัยเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต ปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความต้องการแรงงานในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น อย่างชัดเจน โดยมีการคาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2562-2566 จะมีความต้องการด้านแรงงานและจะเกิดความต้องการจ้างแรงงานใหม่ในพื้นที่นี้ถึง 475,668 อัตรา ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 อันดับแรก ดังนี้
กลุ่มงานด้านดิจิทัล มีความต้องการในสัดส่วนที่สูงที่สุด ถึง 24 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 116,222 อัตรา รองลงมาเป็นความต้องการกำลังคน ด้านโลจิสติกส์ 23 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอัตรา 109,910 อัตรา ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 12 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 58,228 อัตรา ด้านยานยนต์แห่งอนาคต 11 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 53,738 อัตรา และ ด้านหุ่นยนต์ 8 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 37,526 อัตรา ตามลำดับ
จากข้อมูลคาดการณ์ความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้เอง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตซึ่งมีพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศชาติตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือ Thailand 4.0 ที่ตั้งไว้
“จุดประสงค์ที่ทาง ซีพี ออลล์ ได้ขยายวิทยาเขตไปตั้งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งสามจังหวัดในเขตอีอีซี ก็เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านบุคลากร แรงงานทักษะ โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่จะเข้าไปดูแลการบริหารจัดการสำหรับธุรกิจในระบบราง ที่ในปัจจุบันยังขาดแคลนอยู่มากในภูมิภาคอาเซียน”
“อีกทั้ง การก่อตั้ง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิทยาเขตอีอีซี นี้ยังมีเป้าหมาย เพื่อใช้ที่นี่เป็นศูนย์กลางในการคิดค้นนวัตกรรม สร้างสรรค์งานวิจัยและเทคโนโลยี รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มาแรงในสาขาอื่น ในรูปแบบของการสร้างแหล่งความรู้ทางธุรกิจ ท่องเที่ยว อาหาร การเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รองรับการขยายตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยในอนาคตอันใกล้ด้วย”
เปิดตัว 2 หลักสูตรนำร่อง เปิดสอนแน่ในปี 2563 @ PIM EEC
เมื่อถามถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะสมัครเข้ามาเรียนใน PIM อีอีซี นี้ คุณก่อศักดิ์ กล่าวชัดเจนว่า จากการสำรวจความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด อีอีซี และในภาคตะวันออก พบว่าเยาวชนยังมีความต้องการที่จะเรียนรู้ในหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ประเทศกำลังให้ความสำคัญในการพัฒนาให้เกิดขึ้น อย่าง อุตสาหกรรมระบบราง เทคโนโลยีดิจิทัลแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็น IoT, Big Data, AI หรือ ระบบ Automation หุ่นยนต์ หรือ Robotics
“เด็กรุ่นใหม่ยุคนี้ มี Mindset ที่ชัดเจน ว่าพวกเขาสนใจเรียนรู้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมทุกด้านอยู่แล้ว ดังนั้น ทางสถาบันฯ จึงได้วางหลักสูตรนำร่องที่จะเปิดทำการเรียนการสอนที่ PIM อีอีซี ภายใต้ คณะนวัตกรรมและเทคโนโลยี จำนวน 2 หลักสูตร” นั่นคือ
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอัตโนมัติ
เน้นการเรียนการสอนเรื่องการออกแบบและติดตั้งระบบอัตโนมัติ ระบบเทคโนโลยีรถไฟ ระบบเทคโนโลยีค้าปลีก ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ทาง ซีพี ออลล์ มีความเชี่ยวชาญ โดยมุ่งเป้าไปที่การผลิตบุคลากรตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรม 4.0 เมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ และเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming
หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล
มุ่งเรียนรู้ในเรื่อง เทคโนโลยีดิจิทัลแห่งยุค อย่าง IoT, Big Data, AI หรือ ระบบ Automation หุ่นยนต์ หรือ Robotics เพื่อสร้างบุคลากรที่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ในการปฏิบัติงานจริงได้ ซึ่งกำลังคนที่จัดเป็น แรงงานทักษะสูง นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม
โดยเนื้อหาที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จะครอบคลุมทั้ง เทคโนโลยีดิจิทัลแห่งยุค ต่างๆไปจนถึงเนื้อหาด้านความมั่นคงระบบเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Cyber Security ด้วย
โดยบรรยากาศในการเรียนการสอน ผู้เรียนที่นี่จะมีโอกาสได้เรียนในห้องเรียน ที่ปรับเอาเทคโนโลยี VR หรือ Virtual Reality ที่จำลองบรรยากาศเสมือนจริงในสถานประกอบการ ทำให้ผู้เรียนได้เห็นภาพทันทีขณะทำการเรียน และ เทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ที่เป็นการนำภาพเสมือนในรูปแบบ 3 มิติ จำลองเข้าสู่โลกจริง เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ที่ตื่นตาตื่นใจ และให้ผู้เรียนได้เห็นภาพเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
ทั้งนี้ คุณก่อศักดิ์ แย้มว่า ในเฟสแรก ซึ่งเป็นปีแรกในการเปิดทำการเรียนการสอน คาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาทั้งหมด 700 คน โดยโฟกัสไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็น นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่อีอีซี และภาคตะวันออก ก่อน จากนั้นจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มาจากกรุงเทพ และปริมณฑล
“สำหรับวิธีในการทำการเรียนการสอน เรายังคงมาตรฐานและคุณภาพในการจัดการเรียนแบบ Work-Based Learning (WBL) หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับยุคสมัย ตอบโจทย์ทั้งการได้รับความรู้จากภาคทฤษฎี และสร้างเสริมประสบการณ์ พัฒนาทักษะการทำงานในภาคปฏิบัติ ส่งผลให้เมื่อจบการศึกษามา บัณฑิตมีความพร้อมทำงานได้ทันทีอย่างมืออาชีพ เป็นแนวทางที่ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิต และแก้ปัญหาเด็กจบออกมาแล้วไม่มีงานทำได้อย่างตรงจุด”
By Praornpit Katchwattana
ที่มา www.salika.co