นักเศรษฐศาสตร์คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในวันที่10 สิงหาคม มองคาดการณ์เงินเฟ้อจ่อลดลง พร้อมแนะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงมากเกินไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยมาจากฝั่งอุปทาน (Supply) และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มมีสูงขึ้น
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย สนับสนุนและคาดการณ์ว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ในการประชุมวันพรุ่งนี้ ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าจะทยอยขึ้นอีกในการประชุมที่เหลือ 3 ครั้งในปีนี้ โดยขึ้นในอัตรา 0.25% จนแตะระดับ 1.5% ภายในสิ้นปี 2565
ขณะที่ สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า EIC คาดการณ์ว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมวันพรุ่งนี้ โดยชี้ว่า ธปท. จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ เนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ Wage Price Spiral ประกอบกับสภาพการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ทั่วถึงและเปราะบาง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานของทั้งประเทศยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด
นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคตยังมีมากขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายกำลังถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น รวมไปถึงมีความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน ที่อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของอุปทาน (Supply Disruption) ได้
อย่างไรก็ตาม สมประวิณมองว่า ในอนาคต ธปท. ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วมากนัก เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจจะโตต่ำกว่าประมาณการมีมากขึ้น
ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ 24 คนจาก 27 คน ในการสำรวจของ Bloomberg เมื่อวันจันทร์ (8 สิงหาคม) ที่คาดการณ์ว่า ธปท. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่เหลืออีก 3 คนมองว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช่วยลดอัตราเงินเฟ้อได้หรือไม่?
สงวนมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยเป็นการช่วยดึงความคาดหวังเงินเฟ้อลงได้ และสามารถทำให้ตลาดเชื่อว่าเงินเฟ้อจะนิ่งหรือไม่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจจะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้เล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดมาจากฝั่งอุปทาน (Supply) คือ ราคาพลังงาน ไม่ได้มาจากฝั่งอุปสงค์ (Demand) ดังนั้น ธปท. จึงไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป
ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงมาพอสมควร อยู่ในช่วง 90-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับตัวเลขน้ำมันดิบเบรนท์ที่ ธปท. ใช้ประเมินและพยากรณ์เศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หมายความว่าซีนาริโอทั้งหมดอยู่ในคาดการณ์ของ ธปท. ตลาดก็น่าไม่น่าผันผวนมากนัก
เงินบาทไทยจ่อแข็งขึ้นเล็กน้อยภายในปลายปีนี้
วันที่ 9 สิงหาคม ค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าที่ 35.54 บาท เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นวันทำการก่อนหน้า โดยสงวนมองว่า การแข็งค่าในวันนี้เป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยดีขึ้น พร้อมอธิบายว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมีความเปราะบางต่อตลาดน้ำมัน โดยช่วงที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบไปทั้งหมด ทั้งดุลการค้าและดุลการชำระเงิน ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันลดลง เศรษฐกิจไทยจึงปรับตัวดีขึ้น ดุลการค้าที่เคยขาดดุลก็จะลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะดีขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว การบริโภคก็จะดีขึ้น ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยก็จะดูดีขึ้นกว่าช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในช่วง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ เมื่อ Reopening Theme ของประเทศไทยเริ่มเดินหน้า เราก็จะเห็นว่าชาวต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน ทำให้ต่างชาติเริ่มดึงเม็ดเงินกลับมาที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ในเอเชีย อาจทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์
สงวนยังกล่าวด้วยว่า ภายในสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทน่าจะกลับมาเคลื่อนไหวภายในกรอบ 34-35 บาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่ดีขึ้น และประเทศไทยยังปลอดจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีสัญญาณดีเกี่ยวกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่จะแถลงออกมาในสัปดาห์หน้า น่าจะออกมาอย่างน่าพึงพอใจ จึงทำให้ค่าเงินบาทน่าจะมีโมเมนตัมไปเรื่อยๆ ท่ามกลางปัจจัยบวกและลบ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่ว่าแบงก์ชาติอยู่ Behind the Curve และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งปัจจัยภายนอกอย่างค่าเงินดอลลาร์ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
คาดการณ์ดังกล่าวใกล้เคียงกับประมาณการเงินบาทของ EIC ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 35.55-36.55 บาทต่อดอลลาร์ภายในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ น่าจะแคบลง แนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยมีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น ทำให้ความต้องการเงินบาทมากขึ้น
ขณะที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันจันทร์ (8 สิงหาคม) ว่า ธปท. ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด พร้อมๆ กับควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษไปด้วย พร้อมทั้งแนะว่า ธนาคารกลางควรจะต้องพิจารณาประกอบด้วยว่า การดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและต้นทุนการทำธุรกิจหรือไม่
อ้างอิง:
ที่มา THE STANDARD