PwC แนะจับตา DeFi ระบบการเงินไร้ตัวกลางในไทยปี’65 ชี้โอกาสเติบโตสูง


ที่มาภาพ : https://www.pwc.com/gx/en/financial-services/pdf/defi-defining-the-future-of-finance-may-2021.pdf

PwC แนะจับตา DeFi ระบบการเงินไร้ตัวกลางในไทยปี 65 ชี้โอกาสเติบโตสูง แม้มีความเสี่ยง-ยังไม่สามารถทดแทนธุรกรรมของธนาคารได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

PwC ประเทศไทย ชี้ระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือ DeFi มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ หลังอุตสาหกรรมทางการเงินของประเทศปรับสู่บริการทางการเงินและการลงทุนดิจิทัลหลากหลาย และช่วยเปิดโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงินได้ง่ายและไร้พรมแดนมากขึ้น แต่คาด DeFi ยังคงไม่สามารถเข้ามาทดแทนการทำธุรกรรมของธนาคารแบบดั้งเดิมได้ทั้งหมด แนะผู้ประกอบการธนาคารปรับตัวเพิ่ม DeFi เข้าไปในระบบนิเวศเพื่อต่อยอดธุรกิจ

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralised Finance: DeFi) กำลังเข้ามามีบทบาทในการให้บริการทางการเงินในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุน บริษัทพัฒนาแอปพลิเคชัน สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ ที่ปัจจุบันได้ทำการศึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์ม รวมไปถึงสร้างบริการทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ

“ในปีนี้การใช้ DeFi ของไทยน่าจะโตขึ้นไปอีกเยอะ เพราะการทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ไม่ว่าจะโอนเงิน ชำระเงินและมอบทรัพย์สิน หรือกู้ยืมเงินนั้น ทำได้สะดวกสบายกว่าเดิม และยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถูกลงด้วย หากในอนาคตมีการใช้ DeFi มากขึ้นเรื่อย ๆ เราคาดว่า ความต้องการใช้บริการทางการเงินกับสถาบันการเงินจะลดลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะด้านการลงทุน เพราะผู้ลงทุนน่าจะโยกเงินไปลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีพอสมควร” นางสาววิไลพร กล่าว

แนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับรายงาน DeFi: Defining the future of finance ของ PwC ที่ได้เปิดเผยถึง 6 บริการทางการเงินบนระบบนิเวศของ DeFi ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทางการเงินโลกไว้ดังต่อไปนี้

1.สเตเบิ้ลคอยน์ ถือเป็นสกุลเงินดิจิทัลอีกประเภทหนึ่งที่มีกลไกลตรึงราคาให้สอดคล้องกับมูลค่าของสินทรัพย์สำรอง เพื่อลดความผันผวนของราคาเหรียญ

2.ตลาดแลกเปลี่ยนแบบไร้ตัวกลาง (Decentralised exchanges) ทำหน้าที่เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้สามารถทำการซื้อขายได้โดยไม่มีตัวกลาง

3.การปล่อยกู้และกู้ยืม เช่นเดียวกัน ในการทำธุรกรรมการปล่อยกู้และกู้ยืมด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนจะทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางแต่อย่างใด

4.ประกันภัย ในส่วนของประกันภัยจะอนุญาตให้ผู้ใช้ได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงบางประเภท (เช่น ความล้มเหลวของสัญญาอัจฉริยะ หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการฝากคริปโทเคอร์เรนซี) โดยไม่ต้องมีบริษัทประกันภัยมาเป็นตัวกลาง

5.อนุพันธ์ (สินทรัพย์สังเคราะห์) คือสัญญาที่มีมูลค่าอ้างอิงกับสินทรัพย์การเงินต้นแบบ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถชื้อขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายบล็อกเชนได้โดยไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์อ้างอิง

6.ระบบค้นหาบริการ DeFi (DeFi Aggregators) ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูล เช่น ราคาและผลตอบแทนที่ผู้ใช้จะได้รับเพื่อสร้างตลาดที่มีประสิทธิภาพในระบบนิเวศของ DeFi

“การเข้าถึงบริการที่ง่าย มีขั้นตอนและการตรวจสอบที่น้อย ทำให้ DeFi เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และกลุ่มนักลงทุนซึ่งได้ให้ความสนใจในการทำรายการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยส่วนใหญ่จะเป็นพวก younger generation ที่เติบโตมาในโลกยุคดิจิทัล จึงมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ” นางสาววิไลพรกล่าว

DeFi ยังไม่สามารถทดแทนธุรกรรมของธนาคารได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ DeFi ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อช่วยในการบันทึกและดำเนินธุรกรรมทางการเงิน โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่าง สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระแสของ DeFi จะเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น แต่นางสาววิไลพร กล่าวว่า “DeFi จะยังคงไม่สามารถทดแทนการให้บริการของธนาคารแบบดั้งเดิมได้ทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการใช้งานอยู่มาก เช่น การโดนเจาะระบบ หรือการทุจริต ที่ล้วนสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนและผู้ใช้บริการ”

ในส่วนการปรับตัวของธนาคารนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาพิจารณารูปแบบการทำงานร่วมกับ DeFi ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่สรรหาและรวบรวมบริการต่าง ๆ บน DeFi (Platform Aggregator) หรือพัฒนาและดำเนินการแพลตฟอร์มให้บริการ DeFi ของตัวเอง (Platform Operator) เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากบริการบน DeFi ผ่านธนาคารได้ นอกเหนือไปจากการศึกษารูปแบบการให้บริการใหม่ ๆ ของ DeFi อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการให้บริการ

นอกจากนี้ ธนาคารยังควรเพิ่ม DeFi เข้าไปในระบบนิเวศของตัวเองเพื่อขยายการเข้าถึงประชากรในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unbanked population) โดยคาดว่า มีอยู่ราว 1.7 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งในอนาคต หากคนกลุ่มนี้มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น ก็จะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารต้องการได้

“เราจะเห็นว่าปัจจุบันมีธนาคารขนาดใหญ่ของไทยสองแห่งที่มีการเตรียมความพร้อม และพัฒนา DeFi ของตนเองอย่างจริงจัง รวมทั้งเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างธุรกิจที่เป็นนอนแบงก์ ซึ่งเข้ามาออกโทเคนดิจิทัลเสนอขายให้แก่ผู้ใช้บริการ และผู้ที่ต้องการปล่อยกู้ที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการสินเชื่อ” นางสาววิไลพรกล่าว

ความเสี่ยงและการกำกับดูแล DeFi

นางสาววิไลพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหน่วยงานกำกับของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการกำหนดกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบนิเวศของ DeFi และสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับขนาดของอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของประเทศไทย สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้จัดการเงินทุน และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลเกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวง หรือการโจรกรรมทางไซเบอร์

นอกจากนี้ ล่าสุด ก.ล.ต. ยังได้ออกเกณฑ์กำกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

“DeFi ยังถือเป็นเรื่องใหม่และยังต้องมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ นั่นแปลว่า ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจะต้องมีความระมัดระวังและต้องศึกษาอย่างละเอียดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความโปร่งใส และความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันการแฮกและการขโมยข้อมูล รวมถึงต้องระวังเรื่องความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัลและอื่น ๆ โดยไม่ลืมที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของหน่วยงานกำกับดูแลว่า จะมีการออกมาตรการหรือกฎระเบียบใหม่ ๆ อะไรบ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อ DeFi ในอนาคต” นางสาววิไลพรกล่าว

ข้อมูลอ้างอิง

1.DeFi: Defining the future of finance, PwC
2.ก.ล.ต. ออกเกณฑ์กำกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการ, สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่มา ไทยพับลิก้า