‘กำนันเช็ง หรือกำนันชำนิ สุขสงวน’ ฟาร์มทรายมูล แห่งบางตีนเป็ด เมืองแปดริ้ว รุ่นบุกเบิกฟาร์มไก่ไข่ จนมีทายาทสานต่อ เป็นอีกบุคคลสำคัญที่ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ มีโอกาสเจอเพื่อเจรจาร่วมธุรกิจกับเครือซีพีในยุคบุกเบิกการเลี้ยงไก่ไข่จนมาถึงวันนี้ ก่อเกิดสัมพันธภาพอันยาวนานจากความจริงใจที่มอบให้กันและกัน
We are CP มีโอกาสได้ติดตาม คุณประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมในจีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้บริหารเครือฯ ที่มีความรักและผูกพันกับกำนันเช็งพูด ซึ่งปีนี้ท่านมีอายุ 92 ย่าง 93 ปีแล้ว แต่ยังจดจำภาพประวัติศาสตร์การริเริ่มธุรกิจไก่ไข่ได้เป็นอย่างดี
กำนันเช็งย้อนถึงความทรงจำที่ยาวนานว่าคุณธนินท์มาหาผมทางเรือ เมื่อก่อนที่มีเครื่องเรือหางยาว เวลาผมเลี้ยงไก่ ผมทำสถิติเฉพาะตัว สถิติที่ผมทำเก็บไว้ในเล้า ไก่มันก็เอาลิ้นเลีย บางตัวมันก็จิกออก คุณธนินท์เขาเข้าไปเห็นก็ชอบใจ แต่ก่อนไก่มันไข่น้อย ไม่ถึง 20 ฟองต่อเดือน เมื่อทำบันทึกไว้ ก็จะรู้ว่าต้นทุนเท่าไร ไข่ออกมาเท่าไร”
คุณประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมในจีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่รับไม้ต่อจากท่านประธานอาวุโสในการดูแลคู่ค้าท่านนี้ในยุคนั้น กล่าวว่า “สำหรับกำนันเช็ง ผมเริ่มไปเยี่ยมชมฟาร์มเพื่อที่จะเชิญท่านมาส่งไข่ให้กับบริษัทฯ เนื่องจากในเวลานั้น กำนันฯ ส่งประจำให้กับทางทรงวาด/เฮียเยี้ยง (โล้งไข่ ของเครือฯ) ในยุคบุกเบิกครับ แต่ผมก็มาเริ่มสนิทกับท่านในเรื่องไก่รุ่น ซุปเปอร์ฮาร์โก้ 18 สัปดาห์ ที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ให้ความสําคัญมาก เพราะหลังจากขึ้นกรง อีก 6 สัปดาห์ก็เริ่มออกไข่ ผู้เลี้ยงไม่ต้องเสียพื้นที่และเวลาไปเลี้ยงลูกไก่”
คุณสุธีร์ เตชะธนะวัฒน์ เถ้าแก่แห่งวิศาลฟาร์ม รุ่นที่ 2 เล่าย้ำอย่างหนักแน่นว่าท่านกำนันเช็งถือเป็นเกษตรกรรุ่นบุกเบิกเมื่อ 50ปีที่แล้ว ที่ล้ำหน้ามาก เพราะสมัยก่อน ไก่มีหลังหนึ่งไม่เกิน 5,000 ตัว จะมีผลผลิตไข่กี่ฟอง ก็ใช้วิธีการประมาณการราว 3,000 ฟอง เกษตรกรเจ้าของฟาร์มไม่รู้ว่าไก่ที่เลี้ยงจะออกไข่เท่าไร หรือไก่ที่เลี้ยงจะให้ผลผลิตที่ลดลงไปตามอายุ เพราะไม่มีความรู้
ซึ่งหากรู้ความจริงเจ้าของฟาร์มก็น่าจะเร่งผลผลิตให้ดีกว่านั้นได้ แต่ท่านกำนันเช็ง ไม่เหมือนคนอื่น ท่านก็ริเริ่มเอากระดาษมาแปะที่หน้ากรงเพื่อจดเป็นสถิติ ซึ่งถือว่าล้ำหน้ามากกระดาษ หน้ากรง แต่ก่อนไม่มีใครทำ แกเริ่มทำคนแรกหลังจากนั้นมีโรคระบาด ทุกคนต้องมาจด อาทิตย์หนึ่งไข่ไม่ได้ ไข่น้อยลง เขาจะได้รู้ว่าไก่ตัวนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ตอนนั้นถือว่าก้าวหน้ามาก แม้แต่ท่านประธานอาวุโสธนินท์ยังชื่นชม”
นอกจากความละเอียดรอบคอบในการจดบันทึกสถิติผลผลิตไก่ไข่แล้ว กำนันเช็งยังเป็นเกษตรกรช่างคิด ประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไก มีความเป็นวิทยาศาสตร์ “ผมฟักไก่เอง ต่อเครื่องเอง เอาตะเกียงหลอด กระป๋องนมวัวที่กินแล้วครอบ อย่าให้ถึงกับออกซิเจนเข้าไม่ได้นะ อย่าให้ถึงกับความร้อนเข้าไม่ได้นะ เอาความร้อนกระจายขึ้นไป ฟักไก่ โดยมีเครื่องปรอทวัดอุณหภูมิวัดว่าวันนี้เท่าไร เพื่อความมั่นใจ ผมก็เอาเสื่อมาปูนอน” กำนันเช็งเล่าถึงภูมิปัญญาที่นำมาใช้สมัยบุกเบิก
กำนันเช็ง แม้ท่านจะมีอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังคงเล่าถึงความประทับใจในความสามารถของท่านประธานอาวุโสเสมอมา
“อยากจะบอกถึงความรู้สึกส่วนตัวนะว่า …
ผมรักและนับถือ คุณธนินท์ ด้วยใจภักดิ์
และรักคุณประเสริฐด้วยใจปอง”
คุณประเสริฐศักดิ์ กล่าวปิดท้ายความประทับใจที่ได้รับหน้าที่ดูแลคู่ค้าธุรกิจไก่ไข่ทั้งกำนันเช็งและเถ้าแก่เหลียงว่า “ทั้งสองท่านให้ความเป็นกันเองกับผมมากๆ จนชาวแปดริ้วที่เลี้ยงไกไข่เข้าใจเครือฯดีมาก และยังพยายามที่จะให้ผมเข้าแข่งขันที่จะนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย และยังจะหนุนให้ผมลงไปเล่นการเมืองในเขตแปดริ้วอีกด้วย ผมรับไม้ต่อจากท่านประธานอาวุโสที่ปูพื้นฐานความสัมพันธ์กับเถ้าแก่เหลียง กำนันชำนิและดูแลกันมาต่อเนื่อง ทำให้ผมมีโอกาสเข้าไปสัมผัสและใช้ความจริงใจในการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ครับ”
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่าน แต่ด้วยความจริงใจ ตั้งใจร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายคือเกษตรกรและเครือฯนำมาซึ่งรากฐานที่มั่นคง นำมาซึ่งสัมพันธภาพที่ดี ดังคำที่ท่านประธานอาวุโสกล่าวว่า “เกษตรคือคู่ชีวิต” ที่เคียงข้างไปถึงจุดหมาย เติบโตไปด้วยกัน
+++++++++++++++++++++++++++
(ภาพจากเทคโนโลยีชาวบ้าน)
ไม่เพียงฉะเชิงเทราที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้าไปมอบองค์ความรู้ธุรกิจไก่ไข่เท่านั้น คุณมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ หรือเฮียคี้ แห่งฟาร์ม “ชุนเซ้ง” บ้านนา จังหวัดนครนายก อดีตนายกสมาคมไก่ไข่เป็นอีกหนึ่งในคู่ค้าของซีพี เฮียคี้รำลึกความหลัง 30 ปีก่อนว่า “ได้ปรึกษากับพ่อแม่ดูว่าอยากเลี้ยงไก่ไข่ตามบรรดาพรรคพวกที่เขาเลี้ยงอยู่ และเริ่มเลี้ยงไก่เนื้อแบบเสรีดู
โดยไม่ประกันราคา กลับเป็นเลี้ยงขาดทุนจนท้อแท้ สิ้นหวัง ทางตัวแทนบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์แนะนำให้เลี้ยงไก่ไข่ดู และประกันราคาไข่ไก่ด้วย ตนเองเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี เลยหันมาเลี้ยงไก่ไข่ดู และเริ่มจากน้อยมาหามาก ตัวแทนซีพีติดตามประเมินผลว่า มีฝีมือและเอาใจใส่ดีมาก เมื่อได้กำไรก็เก็บทุนไปขอคนรักที่ปากน้ำสำเร็จ แถมได้กำไรคนเพิ่มมาเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 1 คน
ตลอดระยะเวลาที่ผมทุ่มเทให้กับฟาร์ม ได้เคยไปพึ่ง คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ถึงที่บริษัท แนะนำให้ฟาร์มใช้เล้าไก่อีแว้ป แม้ว่าจะแพงแต่ก็คุ้มกับการลงทุน เพราะอากาศจะเย็นลง มีปริมาณไข่เพิ่มสูงขึ้น ไม่เสียหายเหมือนใช้พัดลมในเล้าไก่ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเป็นเล้าอีแว้ปทันที แม้แต่เล้าสุกรที่เขาขยายฟาร์มตามคำแนะนำนักวิชาการจากเครือซีพี และมีการประกันซื้อคืนลูกสุกรด้วย เท่ากับเขามีความมั่นคงยิ่งขึ้น
ผมเชื่อคุณธนินท์ แนะนำอะไรมาผมปฏิบัติตามหมด แม้แต่อาหารสัตว์ผมก็เชื่อถือ เพราะมีเล้าควบคู่กับไซโล เอารถอาหารสัตว์มาเทลงใส่ไซโลหน้าเล้าไก่ สะดวกและคุณภาพอาหารก็ดีด้วย ผมถือว่าประธานธนินท์เป็นไอดอลตัวอย่างของนักเลี้ยงสัตว์ทั่วไป ที่มีแต่ประโยชน์ ชี้นำแต่เรื่องทันสมัย มีเทคโนโลยีอะไรก็บอกหมด ผมว่าผมเกิดมาได้จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาจากประธานซีพีแท้ๆ เลย ที่ผมมีวันนี้จนถึงปัจจุบัน”
นี่คือเรื่องราวดีๆส่วนหนึ่งในโอกาสที่เครือฯจะมีอายุครบ 100 ปีที่นำมาแบ่งปันชาวซีพีได้ภาคภูมิใจร่วมกัน
ที่มา: https://www.technologychaoban.com/livestock-technology/article_143652