การทิ้งอาหารที่เรียกว่า food waste (ภาพจาก ft.com)
“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า” บทอาขยานที่เราเคยท่องกันมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งประโยคที่ผู้ใหญ่มักสอนเราว่า “กินข้าวให้หมดนะ นึกคนที่ไม่มีกิน” แล้วก็อีกหลายประโยคที่ล้วนแต่เป็นบทช่วยปลูกฝังให้ทุกคนรู้จักคุณค่าของอาหาร แต่ความจริงแล้วแม้จะท่องหรือเข้าใจกันมากแค่ไหน คนเราก็ยังคงกินอาหารทิ้งขว้างกันเป็นจำนวนมาก อาจเป็นเพราะไม่อร่อย อิ่ม เหลือเสีย ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น มีขนมอยู่หนึ่งชิ้น เรากัดกินไปหนึ่งครั้ง เหลือแล้ววางไว้ไม่กินต่อ กลายเป็นขยะอาหารที่เราเรียกกันว่า “Food Waste”
บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในฐานะผู้ผลิตอาหาร ได้ตระหนักถึงปัญหานี้จึงได้จับมือกับ สาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัวโครงการ การประกวดคลิปวิดีโอ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste” ปีที่ 2 เชิญชวนนักเรียน – นักศึกษาทั่วประเทศ แชร์ไอเดียสร้างพลังผ่านคลิปวีดีโอความยาว 3 นาที เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องลดความสูญเปล่าทางอาหารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม
ประเภทอาหารที่ก่อให้เกิดปัญหา Food Waste
โดยคุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาความสูญเปล่าทางอาหาร หรือ Food Waste ส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้างทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของโลก ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ตระหนักถึงผลเสียที่ก่อเกิดจากอาหารที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต หากทุกคนสามารถลดปริมาณความสูญเปล่าทางอาหาร และบริโภคอาหารอย่างสมดุล นอกจากจะสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนอย่างยิ่งยวดแล้ว ยังช่วยทำให้ระดับความมั่นคงทางอาหารของคนบนโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่วนมิติสิ่งแวดล้อมนั้น การกำจัดความสูญเปล่าทางอาหารที่ถูกทิ้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ทำให้เกิดขยะ และเกิดก๊าซมีเทน (methane) ก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คุณวิเศษ กล่าวต่อว่า ในไทยยังไม่มีข้อมูลสถิติแน่ชัด แต่จากข้อมูลโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกในแต่ละปี หรือประมาณ 1.3 พันล้านตัน จะกลายเป็นความสูญเปล่าทางอาหาร และถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี จำนวนอาหารที่ถูกทิ้งขว้างเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 31 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่หิวโหยได้มากถึง 870 ล้านคน และจากสถานการณ์ขาดแคลนอาหารของประชากรโลก ผู้คนที่อดอยากหิวโหยจำนวน 870 ล้านคนนั้น จำนวนเกินกว่าครึ่งหรือราว 552 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิเอเชียแปซิฟิค ซึ่งนับรวมประเทศไทยด้วยเช่นกัน สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติความสูญเปล่าทางอาหารเกิดจาก ระบบการจำหน่ายมีกระบวนการควบคุมที่ไม่เหมาะสม การซื้อสินค้า และการเตรียมอาหารที่มากเกินจำเป็น ไปจนถึงความสูญเปล่าทางอาหารจากการบริโภค ทั้งในส่วนที่เหลือทาน และเลือกบริโภค รวมถึงสหประชาชาติ ยังตั้งเป้าลดความสูญเปล่าทางอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
“ปัญหาขยะอาหารไม่ใช่แค่เพียงสิ่งที่เรากินเหลือ แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของระบบ คือในฟาร์มและในครัว พืชผักจำนวนมากที่เก็บเกี่ยวมาแล้วถูกคัดทิ้งเพราะรูปร่างไม่สวย หรือการทิ้งบางส่วนของพืชที่เราไม่นิยมนำมาทำอาหาร ซึ่งเรียกว่า Food Loss หรือ การสูญเสียทางอาหาร ประเด็นนี้อาจจะจัดการได้ในฐานะผู้ผลิต แต่สิ่งที่ควรตระหนักมันอยู่ที่ เมื่อมันกลายเป็นอาหารพร้อมบริโภคแล้ว ถ้ากินไม่หมด หรือเน่าเสียก็จะกลายเป็น Food Waste ตรงนี้ต้องช่วยกัน จริงๆ แล้ว อาหารถ้าไม่กินแล้ว สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ แต่ถ้ามันเสียจนสัตว์กินไม่ได้ก็นำไปทำเป็นไบโอแก๊สได้ ตอนนี้เราไม่มีการรวบรวมเศษ ถ้าสมัยก่อนตามตลาดจะมีถังให้ทิ้ง แล้วก็จะนำไปทำให้แห้ง ทำเป็นเม็ดอาหารปลาดุก แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมี เราก็ควรจะตระหนักด้วยตนเอง และการประกวดโครงการนี้ก็จะช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนัก ฯลฯ” คุณวิเศษ กล่าว
ด้าน ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักในเรื่องลดความสูญเปล่าทางอาหารอย่างจริงจัง เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต การสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้ เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเราอาจจะไม่สามารถหยุดเหตุกาณ์อันเลวร้ายนี้ได้ แต่เราเป็นจุดเล็กๆ ที่ผสานรวมกันจนเกิดพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เหตุกาณ์ดังกล่าวชะลอการเกิดขึ้นได้ และหวังว่าถ้าคนที่ได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ดังกล่าวจะส่งผลให้มีความตระหนักและเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการลดความสูญเปล่าทางอาหาร จนสามารถสร้างความอิมแพคในสังคม
ผศ.บุญเลี้ยง กล่าวอีกว่า ปีนี้ตนอยากให้เนื้อหาวิดิโอมีความเข้มข้นในสาระมากขึ้น แต่ต้องมีความสนุกผสมผสานกันไป เริ่มต้นจากการตั้งคำถามจากสิ่งที่เราเห็นจากอาหารในจานที่เราทานไม่หมด กองขยะตรงหน้าที่มีแต่เศษอาหาร เหลือจากการกิน หรือแม้แต่ผักและผลไม้ที่เน่าเสียอยู่ในตู้เย็น ประกอบกับการพูดถึงคนทั้งโลก รวมถึงองค์กรยูนิเซฟถึงความยากจน การโหยหาอาหาร ความหิวโหยของเด็กน้อยในแอฟริกา หรือประเทศที่อยู่ในสภาวะสงคราม ที่ทำให้ขาดแคลนอาหาร รวมทั้งการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้
แม้แต่ในประเทศไทยเองที่ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินทอง เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ อยู่ที่ไหนไม่อดตาย แต่ก็ยังมีในหลายพื้นที่ห่างไกล ที่ยังขาดแคลนอาหาร อาหารไม่เพียงพอ เข้าถึงอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ มีให้เห็นในข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องความสูญเปล่าทางอาหารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญ ในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง และลดความสูญเปล่าทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ เป็นอย่างมาก ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการกว่า 259 ผลงาน ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า 20 แห่ง และคาดว่าปีนี้จะมีมากถึง 500 ผลงานเข้าร่วม
ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์ ผู้เข้าร่วมโครงการปีที่1
ขณะที่ คุณฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์ นักศึกษาชั้นปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนทีม ABSTRACT ที่เคยนำผลงาน ETT-EAT Time Trash รับประทาน กาลเวลา อนาคต คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการในปีที่ 1 มาแล้ว เขากล่าวว่า ตนเติบโตมาในครอบครัวที่คอยสั่งสอนเรื่อง Food Waste มาตลอด คุณย่ามักจะบอกเสมอว่าเวลากินข้าว อย่าให้ข้าวเหลือ โดยสอนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุ 5-6 ขวบ พ่อให้เข้าค่ายในป่าฝึกปฎิบัติ จนเรื่องนี้ซึมซับอยู่ข้างใน จนวันหนึ่งเดือนผ่านห้องไอซีที ก็เลยเจอโครงการนี้ ตอนนั้นเรียนชั้นม.6 สาธิต มศว. ปทุมวัน เลยชักชวนรุ่นน้องประกวด ชวนกันทำเรื่อง Food waste เพราะเห็นว่าเราอยู่ในยุคที่กินอาหารได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะสั่ง food panda แม้แต่พี่วินยังไปซื้อข้าวมันไก่ให้เราได้ เลยคิดว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับเรา เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
การณรงค์ไม่ให้ทิ้งอาหารอย่างสูญเปล่า ในโซเชียลมีเดีย
“ซึ่งหลังจากที่ประกวดเราได้รับอะไรมากมาย แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ อย่างแรกคือเทคนิคในด้านการทำหนัง ทีมเราไม่ค่อยอยู่กับการทำหนัง ตอนแรกคิดว่า การทำคลิปวิดิโอเพียง 3 นาทีเป็นอะไรที่ง่ายมาก เหมือนกับโฆษณาสั้นๆ แต่ความสั้นค่อนข้างอันตรายมาก เพราะเรามีสิ่งที่อยากจะพูดเยอะ แต่เวลาให้พูดมันน้อย ตอนนี้เราก็เลยได้ทักษะการแก้ปัญหาร่วมกับการทำงานเป็นทีม ถ้าเราได้เจอการแก้ปัญหาเยอะ เราก็ยิ่งได้สกิลในการแก้ปัญหาเยอะเช่นกัน ต่อมาคือเรื่อง Food waste มันกลายเป็นเรื่องสนุกในทีม เช่น เวลาที่ไปกินข้าวเราก็มักจะคุยกันว่า เราเคยไปทำอะไรด้วยกันมานะ ก็เป็นเหมือนกับการแทงใจดำว่าคุณเคยไปชนะประกวดเรื่อง Food waste มาแล้วนะ ถ้าทานเหลือมันก็ขัดแย้งกัน ฉะนั้นเราจะกินข้าวกันโดยที่ห้ามเหลือแม้แต่อะตอมเดียว โมเลกุลเดียว” คุณฌาณัฐย์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ การประกวดคลิปวิดีโอ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste” เปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 ส.ค. -31 ต.ค. 2562 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 360,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ผู้สนใจเข้าร่วมส่งผลงานและติดตามรายละเอียดการสมัครได้ที่ เฟซบุ๊ค foodwasteclipcontest.
ก็อยากจะเชิญชวนชาวซีพีช่วยกันบอกกล่าว เผยแพร่โครงการนี้ให้กับลูกหลานหรือเยาวชนให้มาร่วมกิจกรรมนี้เพื่อช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ทำให้เกิดขยะอาหาร เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ซีพีแรม ร่วมกับ มจธ.ชวนคนรุ่นใหม่ประกวดคลิปวิดิโอ