เมื่อเร็วๆนี้ คุณสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์” ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการลงทุนและการขยายธุรกิจของบริษัทว่า พร้อมขยายการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการกลุ่ม Hylife Investments ผู้ประกอบธุรกิจสุกรครบวงจรในประเทศแคนาดา เป็นเงิน 11,800 ล้านบาท คาดว่าจะควบรวมกิจการเสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้ wearecp.com ขอนำบทสัมภาษณ์มาแบ่งปันชาวซีพีกันค่ะ
ลุย M&A เร่งสปีดธุรกิจ
เหตุผลที่ตัดสินใจซื้อธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากต้องการใช้โอกาสนี้เรียนรู้และต่อยอด เพราะแคนาดามีระบบการเลี้ยง มีอินโนเวชั่นชั้นสูง และมีการจัดการแพ็กเก็จจิ้ง ใช้เทคโนโลยี “ไคโอแวค” มาเก็บรักษาด้วยวิธีการซีลแทนระบบโฟรเซ่นทำให้เพิ่มอายุการเก็บรักษาจาก 4-5 วัน เป็น 55 วันได้ ทั้งยอดขายของ Hylifeฯ
มากกว่า 70% ยังเป็นการส่งออก โดยเฉพาะการส่งไปตลาดญี่ปุ่น ที่เน้นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง จึงหวังว่าในอนาคตจะส่งวัตถุดิบให้กับธุรกิจอาหารแปรรูปของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด ที่อยู่ในอเมริกา และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ที่กำลังลุกลามนั้น นายสุขสันต์กล่าวว่า โรค ASF เกิดในสหภาพยุโรปมานานแล้ว และไม่ติดต่อสู่คน แต่ในภายหลังระบาดเข้ามาที่รัสเซียและจีนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะมีผู้เลี้ยงรายย่อยจำนวนมาก ทำให้การควบคุมเป็นไปด้วยความลำบาก จนแพร่ต่อมายังเวียดนาม และกัมพูชา
อหิวาต์หมู ไม่กระทบ CPF
“เราให้ความสำคัญกับการจัดการในฟาร์ม เรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง ยิ่งเกิดโรคนี้ยิ่งเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยขึ้นไปอีก แต่โรคนี้ไม่เกิดกับเรา และไม่กระทบต่อการเลี้ยงของเรา แต่ที่กระทบ คือ 1.ผู้บริโภครู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และ 2.เกษตรกรตื่นกลัวการระบาดของโรค และการเยียวยาจากรัฐไม่พอจึงมีการเทขายหมูออกมาทั้งที่หมูมีน้ำหนักเพียง 60-70 กิโลกรัม เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในเวียดนาม ยิ่งขายราคายิ่งดิ่ง”
ตนเชื่อว่าปัญหาสินค้าล้นตลาดจะเกิดขึ้นเพียง 5-6 เดือน หรือ 12 เดือน แต่หลังจากนี้ซัพพลายจะหายไป เพราะไม่มีใครกล้าลงทุนเลี้ยง เนื่องจากไม่มีวัคซีนรักษา หากระบาดขึ้นก็มีแต่ขาดทุน ดังนั้น เกษตรกรรายเล็กรายย่อยจะไม่กล้าเข้ามา ส่งผลให้ซัพพลายขาดแคลน เพราะหมูจีนเสียหายมากถึง 30% หรือประมาณ 150 ล้านตัว จากที่เลี้ยง 500 ล้านตัว หรือเทียบเท่ากับการใช้ “ครึ่งโลก” ฉะนั้น ราคาหมูในไตรมาส 2 จะลดลงจากช่วงต้นปี แต่จะกลับมาฟื้นขึ้นอีกครั้งในปลายไตรมาส 3 ซึ่งขณะนี้ราคาล่วงหน้าที่ยุโรป และอเมริกาที่จะส่งเข้าจีน ขึ้นไปล่วงหน้า 50-60% แล้ว เพราะรู้ว่าจีนยังต้องการบริโภคหมู ตรงนี้ต่างหากที่มีผลต่ออนาคต และส่งผลดีกับบริษัทใดที่มีการบริหารจัดการที่ดี
“ฟิลิปปินส์” ฐานส่งออกหมู
คุณสุขสันต์กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังศึกษาโอกาสขยายการลงทุนเลี้ยงหมูในประเทศฟิลิปปินส์ 1 ล้านตัว ภายในปีหน้า เพราะเป็นเกาะที่มีประชากร 100 ล้านคน มีกำลังซื้อ และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ปราศจากโรคมือเท้าปาก เพราะด้วยความเป็นเกาะจึงปลอดโรค โดยจะวางโพซิชั่นให้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตใน 5 ปี ไปยังตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น จากปัจจุบันเวียดนามเป็นแหล่งหลัก (5-6 ล้านตัว)
“รูปแบบการลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นการเข้าไปลงทุน และค่อย ๆ สร้างความเติบโตในธุรกิจอาหารสัตว์ (ฟีด), ฟาร์ม และฟู้ด ไม่ได้เป็นลักษณะการควบรวมกิจการเหมือนที่แคนาดา การควบรวมจะหมายถึงเราต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีจากบริษัทที่ควบรวม และได้ตลาดในทันที เพราะถ้าเราไปลงทุนเองบางทีใช้เวลาหลาย 10 ปี ล้มลุกคลุกคลาน การควบรวมดีกว่า ซึ่งในอนาคตจะ M&A หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะพบผู้ที่ดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับธุรกิจของเรา และสนับสนุนซึ่งกันและกันได้หรือไม่ ซึ่งแต่ละปีมีการเตรียมการงบประมาณไว้อยู่แล้ว”
เร่งบิ่นห์เฟื้อกคอมเพล็กซ์ไก่
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรค ASF ในหมูมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคไก่ โดยเห็นได้ชัดเลยในธุรกิจที่บริษัทเข้าไปลงทุน เช่น ในเวียดนาม และจีน ที่ราคาไก่ขยับขึ้น จึงยิ่งต้องเร่งโครงการการลงทุนที่ “บิ่นห์เฟื้อก” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพ
ขณะที่ฐานการผลิตไก่ในยุโรป หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่แน่นอนจากปัญหา “เบร็กซิต” อาจส่งผลกระทบต่อตลาดไก่หลักในอียู โดยเฉพาะอังกฤษ และเยอรมัน ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.เข้าไปขยายการลงทุนในประเทศโปแลนด์ และรัสเซีย โดยในโปแลนด์มีทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ และฟาร์ม รวมถึงโรงงานแปรรูป ปัจจุบันผลิตไก่ 2 ล้านตันต่อสัปดาห์ (100 ล้านตัว) และเตรียมต่อยอดอาหารสัตว์ในอนาคต
“เมื่อ 2-3 ปีก่อน เรารู้แล้วว่า เบร็กซิตอาจทำให้อังกฤษมีโอกาสแย่ลง จึงบาลานซ์ความเสี่ยง โดยมีนโยบายว่า 1.จะเข้าไปซัพพลายลูกค้าเราที่โปแลนด์เลย และ 2.ไปสร้างเซลส์เน็ตเวิร์ก เรามีโอเปอเรชั่นใหญ่ที่อังกฤษ เลยไปซื้อบริษัทที่เยอรมนีเท่ากับมี 2 ขาแล้ว ถ้ายุโรปหรืออังกฤษแย่ก็จะบาลานซ์กัน ผลจากการขยายเซลส์เน็ตเวิร์กที่โปแลนด์ ทำให้การจำหน่ายดีขึ้น เคเอฟซี แมคโดนัลด์ก็มาเป็นลูกค้าเรา นี่เป็นตัวอย่างการทำธุรกิจที่มีการกระจายความเสี่ยง”
รัสเซียขยายหมู-แปรรูป
ส่วนในรัสเซียมี ทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ (ฟีด) และฟาร์มไก่ 100 ล้านตัว และหมูแต่ยังไม่มีแปรรูปหมูมีเพียงแต่แปรรูปไก่ ในรัสเซียมุ่งจะขยายการลงทุนในหมูเป็นหลัก รูปแบบการลงทุนเพื่อให้ได้ตลาดเร็วขึ้นคงต้องไปควบรวม เพราะว่าตลาดรัสเซียไม่ใช่ง่ายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และอาจต้องใช้เวลานานมาก หาก M&A คงไปเสริมกันได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างกำลังทำการศึกษา”
ทั้งนี้ รัสเซียถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนและรัสเซียจับมือกันให้ใบอนุญาตให้ส่งไก่จากรัสเซียไปจีนได้ แต่ยังไม่มีรายใดส่งออก เพราะกำลังตรวจสอบโรงงานที่ได้ใบอนุญาตประมาณ 40 แห่ง
ตั้งเป้าดันยอดขายโต 7-8%
คุณสุขสันต์กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายรายได้ในปีนี้ คาดว่ายอดขายในเครือซีพีเอฟจะขยายตัว 7-8% จากปีก่อนที่มียอดขาย 5.4 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักยังมาจากกลุ่มอาหารสัตว์ 42% ฟาร์ม 41% และฟู้ด 17% คิดเป็นสัดส่วนรายได้จากในประเทศรวม 33% แบ่งเป็น การขายในประเทศ 28% และส่งออกจากไทยสัดส่วน 5% จึงไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นแต่อย่างใด ส่วนที่เหลือเป็นสัดส่วนรายได้จากการที่ซีพีเอฟขยายการลงทุนออกไป 18 ประเทศทั่วโลก โดยหลักมาจากการเข้าไปถือหุ้นใน ซี.พี.ที่จีน 26% และเวียดนาม 15% รวม 2 แห่งนี้ประมาณ 41-42% แล้ว
“ภาพหลังการลงทุนจากนี้อีก 5 ปี คิดว่าเราจะไปเติบโตในต่างประเทศมากถึง 75% ในประเทศเหลือ 25% แต่ลดลงไม่ได้แปลว่าไม่โต แต่ลดเนื่องจากเมืองไทยอัตราการเกิดลดลง จำนวนคนสูงอายุมากขึ้น มีโอกาสที่จะอิ่มตัว ฉะนั้น ฐานตลาดในประเทศไทยจะไม่ขยายในเชิงอินทิเกรต แต่จะเน้นอาหารสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม
ล่าสุดได้พัฒนาแบรนด์อาหารสุขภาพ เช่น U- Farm ที่เพิ่งจะนำไก่เบญจาออกมาขายในประเทศ คาดว่าจะส่งออกได้ในปลายปีนี้ อีก1-2 ปี จะขยายไปสินค้าไข่ ไก่ กุ้ง หมู”
รุก R&D ต่อยอดนวัตกรรม
คุณสุขสันต์ระบุว่า การพัฒนานวัตกรรมเป็นสิ่งที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 เรามีศูนย์วิจัยที่วังน้อยที่ใหญ่สุดในเอเชีย และมีแผนจะใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตงานวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ที่เราไปลงทุน 18 ประเทศทั่วโลก โดยในแต่ละประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภคและรสนิยมต่างกันไป
“เป้าหมายการเป็นครัวของโลกของซีพีเอฟ ไม่ได้หมายความว่าต้องส่งสินค้าไปขายทั่วโลก แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ ต้องสร้างความยั่งยืน ขณะที่ประชากรโลกปัจจุบันมี 7 พันล้านคน อีก 10 ปีข้างหน้ามีโอกาสถึง 10,000 ล้านคน อาหารมีความมั่นคงเพียงพอหรือไม่ ทั้งต้องดูแลเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และการใช้แรงงาน ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำ”