ประธานอาวุโสธนินท์เผยเคล็ดลับความสำเร็จในการทำงานและการดำเนินชีวิตบนเวทีเปิดตัวหนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ขึ้นเวทีพูดคุย ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ ซึ่ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน จัดงาน ณ The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีคุณสรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน จากหลากหลายวงการ

ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว ถือเป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มสำคัญ ที่รวบรวมแนวคิดและปรัชญาการทำงาน รวมถึงอัตชีวประวัติของประธานอาวุโสไว้ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด เล่าเรื่องโดยนักธุรกิจระดับตำนานของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

หนังสือเล่มนี้ประธานอาวุโสใช้เวลาในการเขียนรวม 8 ปี เกิดจากความมุ่งมาดปรารถนาของประธานอาวุโสและเป็นภารกิจสำคัญที่อยากถ่ายทอดวิธีคิด บทเรียน ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผ่านทั้งเรื่องราวที่สำเร็จและล้มเหลว เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือสตาร์ทอัพ

Wearecp.comขอนำข้อคิดท่านประธานอาวุโสมาประมวลไว้ให้ชาวซีพีได้เรียนรู้ร่วมกัน

บอกเล่าถึงที่มาของหนังสือ
เปิดใจคำถามแรก ทำไมใช้เวลาทำหนังสือ”ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”นานนับ8ปี ท่านประธานอาวุโส บอกว่า“ที่ทำหนังสือเล่มนี้ใช้เวลา 8 ปี เพราะพยายามดูว่าระหว่างนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม มีอะไรที่ดีกว่านี้ไหม เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ความจริง ในชีวิตผม ไม่คิดว่าจะทำหนังสือ แต่ผมอ่านหนังสือของ แจ็ค เวลช์ (CEO ของ GE) แล้วประทับใจที่เห็นเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

“ในชีวิตผมไม่เคยฉลองความสำเร็จอะไร เพราะผมรู้ว่าพอสำเร็จแล้วมันจะตามมาด้วยปัญหา ยิ่งสำเร็จ ยิ่งใหญ่ ปัญหาก็ยิ่งจะใหญ่ เราต้องเตรียมตัวแก้ปัญหา ฉะนั้นผมดีใจแค่วันเดียว ทุกวันต้องศึกษาว่าเรามีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงไหม เราอย่าไปอิจฉาใคร เราต้องดูตัวเอง สร้างตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเอง” และนี่คือเหตุผลของการตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ด้วย

ประธานธนินท์ย้ำผ่านหนังสือเล่มนี้ถึงการเป็นนักเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะเริ่มต้นใหม่ ไม่กลัวงานหนัก และรักที่จะท้าทายเรื่องยาก จึงนำมาสู่ความกล้าที่จะบุกเบิกพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ประเทศ ขณะเดียวกัน การไม่หยุดนิ่ง คือจุดสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบใหญ่ แม้จะประสบความสำเร็จในประเทศ แต่ต้องรู้จักที่จะกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วย ไม่ลงทุนในประเทศเดียว แต่ต้องกระจายการลงทุนไปในหลายประเทศ ไม่คิดแต่จะคุมตลาด เนื่องจากไทยเป็นประเทศเสรี ใครก็มีสิทธิ์แข่งกับเราได้

คนมักเข้าใจผิดว่าซีพีผูกขาด
ประธานอาวุโสบอกอีกว่าอย่าคิดว่าเราทำได้แต่ผู้เดียว คนเก่งๆ ในโลกมีมาก ฉะนั้นที่หลายคนเข้าใจว่า ซี.พี.จะผูกขาดตลาดประเทศไทยได้เลย ไม่ใช่เลย อย่างมากที่สุดเราสามารถทำได้ คือ เป็นผู้นำตลาดเท่านั้น แต่ก็มีคู่แข่งอยู่ดี เบอร์ 2 เบอร์ 3 และเบอร์อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ใช่ว่าผูกขาดตลาดอยู่คนเดียว บริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศทุกวันนี้ก็เข้ามาลงทุนในไทย เรื่องผูกขาดตลาดนี่ทำไม่ได้อยู่แล้ว”

แนะวิธีเลือกการทำธุรกิจ
ประธานอาวุโสยังถ่ายทอดเคล็ดวิชาให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจจะทำธุรกิจในระดับนานาชาติมองเห็นแง่มุม ‘วิธีการเลือกการทำธุรกิจ’ ได้อย่างน่าสนใจว่า จุดที่จะตัดสินใจว่าจะไปลงทุนที่ไหน ตัวชี้ขาดอยู่ที่ ‘ตลาด’ ที่ต้องพิจารณาว่า ตลาดนั้นมีโอกาสให้เราขยายหรือไม่ จำนวนประชากรมากพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ถ้าตลาดเล็กเกินไป การลงทุนจะไม่คุ้ม ยกเว้นกรณีที่ตลาดนั้นเป็นตลาดที่ติดกับตลาดใหญ่ที่เราลงทุน ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน

สำเร็จหรือล้มเหลวควรดีใจ เสียใจวันเดียว
ช่วงหนึ่งของการสนทนา คุณสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนที่มีชื่อเสียงของไทย ซึ่งเคยสัมภาษณ์และสัมผัสตัวตนของประธานธนินท์มากว่า 30 ปี ตั้งคำถามว่า ถ้าความสำเร็จดีใจได้วันเดียว แล้วความล้มเหลวจะเสียใจได้กี่วัน ประธานธนินท์บอกว่า เมื่อล้มเหลวก็เช่นกัน ไม่ควรกลุ้มใจเกิน 1 วัน เพราะความกลุ้มใจไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ควรคิดว่าไม่มีใครทำสำเร็จทุกเรื่อง หากล้มเหลวแล้วควรกลุ้มใจแค่วันเดียว จากนั้นคิดทบทวนว่าล้มเหลวเพราะอะไร เพื่อเป็นกรณีศึกษาไม่ให้ล้มเหลวอีกครั้ง

ประสบการณ์แก้ปัญหายามวิกฤต
ประธานอาวุโสยังเล่าถึงบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้องเลือกทำธุรกิจที่มีความหมาย และรักษาธุรกิจดั้งเดิม” ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมบอกพวกเราสี่พี่น้อง ผมขอรับปัญหาไว้คนเดียว ขอให้ผมปวดหัวคนเดียว ทำให้พี่น้องเขาสบายใจ และขอการันตีว่าธุรกิจเดิมของเราที่เป็นเรื่องเกษตรว่าไม่ล้มละลายแน่นอน ผมรักษาได้ไว้แน่ ส่วนธุรกิจที่ผมสร้างมาใหม่ทั้งหมด ถ้ามีปัญหา ผมจะขายธุรกิจที่ผมสร้างขึ้นมาใหม่ก่อน

เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้องจำไว้ เรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ เราอาจต้องทิ้งหลายอย่าง เราต้องดูว่าอันไหนสำคัญเราต้องรักษาไว้ มีบทเรียนหนึ่ง คือ เวลาจะทำอะไรต้องทำอะไรที่โลกยอมรับและเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มิฉะนั้นวิกฤตแล้วให้เขาฟรีเขาก็ไม่เอา อย่าว่าแต่จะขายเลย

ตอนนั้น ผมขายโลตัส เพราะคนเห็นว่าตัวนี้ดีมาก คนที่ซื้อจากผมยังพูดตรงๆ กับผมว่า อันนี้คุณทำเหนือกว่าผมที่อังกฤษอีก ไม่ต่อรองราคาเลย และเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ให้เราอีก ต่อมาผมขายแมคโคร ทำให้เราคืนหนี้ได้หมด ถ้าไม่คืนให้หมดเขาจับเราล้มละลาย กระทบเครดิตที่เราสร้างเอาไว้

ถ้าวันนั้นผมขายธุรกิจโทรศัพท์อันเดียวจบไม่ต้องขายแมคโคร โลตัส ตอนนั้นโทรศัพท์มันดีมาก เราเป็นคนลงทุน เคเบิ้ลใต้น้ำ คิดว่าเป็นธุรกิจมูลค่าสูง ถ้าผมตอนนั้นขายตรงนี้ไป อย่างอื่นก็ไม่ต้องขาย โลตัสพอจะซื้อกลับต้อง หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แมคโครซื้อกลับมา 6 พันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็เสียดาย แต่ไม่ได้ต้องให้ธุรกิจรอด

“เพราะเรือมันเจอพายุเราต้องทิ้งของบางส่วน รักษาเรือลำนี้ให้รอดก่อน แล้วค่อยซื้อกลับมา ถ้าเราจะรักษาทุกอย่างสุดท้ายล้มทั้งลำ ก็เหลือเฉพาะที่มีอนาคต โดยเฉพาะที่พี่น้องสร้างเอาไว้ เราต้องรักษาไว้ก่อน ซึ่งขายสองอันนี้เราก็ผ่านพ้นวิกฤตแล้ว”

ขณะเดียวกันเราขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกำลังใจให้พนักงานด้วย เรายังต้องมีเงินมาลงทุนขยายธุรกิจที่เห็นว่าดี ถ้าเราไม่ขยายก็กินของเก่าเท่านั้นก็ไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนแปลง ยุคนั้นก็ยังมีโอกาสที่เราขยาย ได้ ถ้าตอนนั้นใครมีเงินขยายก็ได้เปรียบที่สุด เพราะของถูกที่สุด

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
ประธานธนินท์ ยังให้คำแนะนำนักธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาในขณะนี้ โดยให้มองว่า วิกฤตเป็นโอกาส “ผมชอบศึกษา เป็นบทเรียนของเรา และได้เพิ่มความรู้ของเรา” บทเรียนของซีพี วิกฤตคือโอกาส เพราะในโอกาสมีวิกฤต ตอนที่เรารุ่งเรืองที่สุด เราต้องคิดตลอดเวลาว่า…

“ในความมืด ตอนเกิดวิกฤต ต้องมองว่าเรารับไหวหรือไม่ คือเราต้องทำการบ้าน เราอย่าเหลิงในความยิ่งใหญ่ ถ้าเรายังจะทำธุรกิจอยู่ พอวิกฤตมามันก็กลายเป็นปัญหาและล้มละลายก็ได้ ถ้าเราไม่คิดไว้ก่อน ตอนที่วิกฤตและมืดที่สุดอย่าท้อใจ แสงสว่างมีมาเสมอ”

ดังนั้น ตอนที่วิกฤตเราต้องเตรียมว่าพอแสงสว่างมา คือฟื้นแล้ว ต้องมองถึงสังคม เศรษฐกิจ เพราะที่เสียก็เสียไปแล้ว เราต้องเตรียมตัวหลังวิกฤตว่าเราจะทำอะไร หลังจากตอนช่วงวิกฤตที่เราแก้ไขแล้ว ก็ต้องคิดไปด้วยว่าหลังวิกฤตผ่านไปเราจะเตรียมตัวอย่างไร

“สิ่งสำคัญวิกฤตมาเราอย่าตาย ต้องเอาชีวิตไว้ให้รอด และเราจะมีโอกาสคืน เป็นโอกาสแล้วที่เราได้ความรู้ เสียค่าเล่าเรียนจากวิกฤตแล้ว ถ้าตายไปไม่มีโอกาสแล้ว วิกฤตตามมาด้วยโอกาส โอกาสตามมาด้วยวิกฤต”

อีกทั้งยังเตือนว่า ตอนดีที่สุด ตอนเรารุ่งเรืองที่สุด ต้องคิดตลอดเวลาว่า “ถ้าเกิดมันมืดลงมา วิกฤตมา เรารับได้หรือไม่” ฉะนั้น เราต้องทำการบ้าน อย่าเหลิงว่าเรายิ่งใหญ่หรือร่ำรวยแล้ว นอกจากเราไม่ทำ ขายธุรกิจไปทั้งหมด แล้วไปพักผ่อน ดังนั้น ถ้าเราทำธุรกิจอยู่ เมื่อวิกฤตมาก็กลายเป็นปัญหา หากไม่คิดไว้ก่อน สามารถล้มละลายได้

“คนเจอวิกฤตและมืดที่สุด อย่าท้อใจ แสงสว่างจะมา ถ้าเราผ่านวิกฤตได้ ต้องคิดแล้ว หลังจากวิกฤต มีโอกาสอะไร”

การบริหารความเสี่ยง “เสี่ยง 30 ชนะ 70 “
ประธานอาวุโสกล่าวว่าไม่ว่าลงทุนอะไร คนที่บอกว่าไม่มีความเสี่ยงเลย ไม่จริง เชื่อผม…เราต้องเสี่ยง นักธุรกิจต้องเสี่ยง อย่างเช่นสตาร์ทอัพก็เช่นกันการทำธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จสำเร็จรูป ต้องทำไป แก้ไป ระดมทุนไป แต่เราเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้องแล้ว สุดท้ายเป้าหมายชัด แม้เจอภูเขา เจอเหว ก็ต้องคิดหาทาง หลีกเลี่ยง แก้ไข ใครบอกว่าทำธุรกิจไม่มีวันเสี่ยง ถ้าคิดแบบนั้นอย่าทำ เพราะทำธุรกิจต้องเสี่ยง

แต่ซีพี เวลาทำใหญ่ เสี่ยงแล้วมันอันตรายก็ต้องคิด ก็ต้องดูถ้ามันมี 70 เปอร์เซ็นต์ ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเสี่ยงผมก็จะลงทุนแล้วล่ะ ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ในการทำธุรกิจถ้าได้ 70 แพ้ 30 ผมก็โอเคถ้าจะต้องเสี่ยง ต้องเสี่ยงโดยที่เราไม่ล้มละลาย อย่าเล่นอะไรที่เกินตัว เพราะเสี่ยง ถ้ามันเกิดอุบัติเหตุ เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดได้ทุกเมื่อ ขอให้ทุกท่านรับรู้ ทำใหญ่ยิ่งเสี่ยงสูง ถ้าทำใหญ่และเกินความสามารถ จะล้มละลายได้ อย่าไปเข้าใจผิดว่าบริษัทใหญ่ล้มไม่ได้

นโยบายของซีพีคือเสี่ยงได้ แต่ไม่ให้ล้มละลาย อะไรเสี่ยงเกินตัวเราจะไม่ทำ แต่สตาร์ทอัพ ยิ่งเสี่ยง ไม่มีทางเดิน เพราะเป็นของใหม่คิดใหม่ แต่ถ้าสำเร็จแล้วยิ่งใหญ่ และยุคสมัยนี้มีโอกาสสำเร็จสูง ยุคสมัยนี้เป็นยุคเปลี่ยนแปลง

รถไฟความเร็วสูงรัฐต้องร่วมเอกชนเสี่ยงรับผิดชอบร่วมกัน
ประธานธนินท์ยังได้พูดถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูง เสี่ยงไหม ?ตอบได้เลยว่า เสี่ยง….แต่ถามมีโอกาสสำเร็จไหม ตอบได้เลยว่า มี

ถ้ารัฐบาลเข้าใจ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องเศรษฐกิจแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของเอกชน เขาตั้งชื่อ PPP หมายถึงรัฐบาลร่วมเอกชน เอาจุดเด่นเอกชนมาบวกกับรัฐบาล และมาลบจุดอ่อนรัฐบาล

แต่ TOR เขียนออกมาแล้วไม่ใช่ ….รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็ต้องสองคนมาเป็นคู่ชีวิตกันเสี่ยงด้วยกัน ถ้าจะต้องล่มก็ล่มด้วยกันไม่ใช่เอกชนเสี่ยงแล้วรัฐบาลไม่เสี่ยงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ยุคนี้ต้องเร็วเชื่อมสามสนามบิน ความเร็วสูง ต่อไปทุกอย่างการเดินทางต้องเร็ว ซึ่งเชื่อมโยงกับอีอีซี

ถ้าอีอีซีไม่ได้เกิด เรากำลังถดถอยแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคน เขาจะย้ายฐานไปลงทุนที่เวียดนาม อินโดนีเซีย ถ้าอย่างนี้เราก็จะถึงจุดอิ่มตัวและเปลี่ยนแปลงแล้วอย่างธุรกิจรถยนต์ก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งประเทศไทยผลิตรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน แต่กำลังเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลยังมองไม่เห็นตัวนี้ แน่นอนทุกบริษัทที่ผลิตในเมืองไทยก็อยากเอารถไฟฟ้าไปผลิตประเทศอื่น ถือว่ากินของเก่าหมดไป สิบยี่สิบปีไม่ต้องลงทุน ของเก่าทำไปขายไปกำไรไป รถไฟฟ้าไปลงทุนอินโดนีเซียตลาดใหม่เกือบสามร้อยล้านคน เวียดนามร้อยล้านคนกำลังเติบโตอยู่

ถ้าเรายังไม่รีบมีมาตรการดีๆให้เขาอย่าย้ายฐาน จะให้แรงจูงใจ อย่างไร ตรงนี้รัฐบาลยังมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ ปิโตรเคมีหายไป อิเล็กทรอนิกส์ เริ่มย้ายฐานวันนี้เรื่องรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์เป็นโอกาสอย่างยิ่ง ดึงคนมาลงทุน ตอนนี้จีน อเมริกามีปัญหา ยิ่งเป็นโอกาสที่ให้เข้ามาลงทุนที่ไทย อย่าให้ย้ายการลงทุนไปเวียดนาม อินโดนีเซีย

แนะเคล็ดวิชาแก่นักธุรกิจและคนรุ่นใหม่
ประธานธนินท์ยังได้กล่าวถึงการทำงานแม้จะมีอายุถึง80กว่าปีว่า“ทำงานให้สนุก ต้องคิดว่าไปทำงาน คือไปเที่ยว” “อุปสรรค” คืออาหาร 3 มื้อ

ผมถือว่าผมไปทำงานเหมือนไปเที่ยว อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องทำงาน ต้องคิดท้าทายตัวเราเอง ถ้าเราไม่ทำงาน วันหนึ่งก็ผ่านไป สมมติว่าผมไปเที่ยวสบายเลย วันหนึ่งก็ผ่านไป ปีหนึ่งก็ผ่านไป สิบปีก็ผ่านไป แต่ถามว่า แล้วเราสนุกที่ไหน ทำไปก็ผ่านไป เราไม่ได้อะไรเลย แต่เราทำงาน เราก็คิดว่าไปสนุก ไปเที่ยวเหมือนกัน ก็ได้ อย่าไปคิดว่าเป็นภาระ ถ้าเจอ “อุปสรรค” ให้มองว่าเป็น “อาหาร” ที่เรากินสามมื้อ ให้มองเป็นเรื่องธรรมดาของนักธุรกิจเขาคิดอย่างนี้เวลาพบปัญหา ดังนั้น ทำธุรกิจต้องมีอุปสรรค เรื่องอุปสรรคปัญหาผมคิดว่าเป็นอาหารสามมื้อของนักธุรกิจที่เราต้องเจอแน่นอน

แนะการเป็นผู้นำที่ดี
ประธานอาวุโสยังได้กล่าวชี้แนะถึงผู้นำที่ดีต้องมองการทำงานเป็นทีมให้ออก ต้องสร้างคน การสร้างคนต้องให้เขามีโอกาสทำงาน แล้วให้ทำผิด ทำผิดชี้แนะได้ แต่อย่าชี้นำ ให้เขารู้ตัวว่าเขาทำผิด ทำเสียหายแล้ว จะหาโอกาสเอาคืนมาได้ยังไง การสนับสนุนคนเก่ง ต้องให้อำนาจ ให้เกียรติ ให้ตำแหน่งผู้นำสำคัญต้องนึกถึงตัวเองเป็นที่ 3 ให้บริษัท องค์กรเป็นที่ 1 เพราะองค์กรไม่มีวิญญาณ ผู้นำต้องใส่วิญญาณให้องค์กร แล้วนึกถึงเพื่อนร่วมงานเป็นที่ 2 ใครจะเป็นผู้นำต้องเอาตัวเองไว้ทีหลัง พนักงานต้องมาก่อน

เวลาจะเริ่มทำของใหม่ ควรใช้คนใหม่ เพราะคนเก่าไม่ค่อยยอมเปลี่ยนแปลง เหมือน ลูกวัวไม่กลัวเสือ เพราะเขาไม่รู้ว่าทำยังไง คือ มันไม่มีใครรู้… ให้คนเก่าทำมันก็กลัว ให้คนเก่าทำของเก่าที่ดีอยู่แล้ว แล้วเอาคนใหม่มาทำให้คนเก่าดู จะได้กล้า แนวคิดของ CP คือ ต้องให้ทุกคนกล้าเปลี่ยนแปลง

การเรียนที่ลัดสุดคือ ไปเคารพคนเก่งเป็นอาจารย์ ขอไปคุย ยกย่องเขา ไม่มองความด้อย จุดอ่อนเขาเลย เพราะถ้าเริ่มมองจุดด้อยเขาเวลาไปคุย ก็ดูถูกเขาแล้ว ดูคนดูที่จุดแข็งคุณธนินท์ชอบคัดคนที่เป็นหัวหน้านักเรียนมาก่อน ทำกิจกรรม แล้วปั้นให้เป็นเถ้าแก่น้อย ตอนเริ่มต้นเป็นเถ้าแก่ต้องรู้ทุกเรื่อง พอใหญ่แล้วค่อยไปจ้างผู้เชียวชาญ ตอนนี้ให้เวลากับเรื่องการสร้างผู้นำมาก เพราะ สินค้าผลิตมามันมีมูลค่าแน่นอน แต่ผู้นำสร้างมาได้แล้วตีค่าไม่ได้ เพราะจะทำมูลค่าได้อีกมาก แต่ไม่มีใครเกิดมาเก่ง สร้างผู้นำต้องให้เขาทำเองได้ ให้เขาขาดทุน ให้เขากล้าพูดถึงปัญหา แล้วต้องถามว่าจะแก้ยังไง ถ้าแก้ได้ก็มาเล่าว่าแก้ยังไง แก้ไม่ได้ก็ต้องเล่าว่าแก้ไม่ได้ ผู้ใหญ่จะได้ช่วยได้ สิ่งที่ให้ความสำคัญจะมี 2 อย่าง ปัญหาคืออะไร และ แก้อย่างไร … ไม่มีอะไรที่ทำแล้วไม่มีปัญหา ยิ่งเราทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงมาก ปัญหาก็ตามมามาก แต่เราต้องอยู่กับการแก้ปัญหาให้ได้ คนทำธุรกิจทุกคนต้องเจอปัญหา

 

กดดูไลฟ์สตรีมมิ่ง ย้อนหลังได้ที่นี่