ความภาคภูมิใจชาวซีพี 3 บริษัทเครือซีพี CPF, CP ALL และ TRUE ได้รับคัดเลือกอยู่ใน DJSI ประจำปี 2019 ซีพี ออลล์ คว้าที่ 1 ของโลก CPF ต่อเนื่อง 5 ปี ทรู คว้าที่ 1 สองปีซ้อน

ถือเป็นข่าวที่น่าภาคภูมิใจของพวกเราชาวซีพี เมื่อS&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ประกาศผลการประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ประจำปี 2019 หรือดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) หรือ DJSI ทั้งซีพีออลล์ ซีพีเอฟและทรู

โดยซีพี ออลล์ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทชั้นนำด้านองค์กรความยั่งยืนอันดับ 1 ของกลุ่ม World Index ประเภท Food & Staples Retailing Industry โดยได้คะแนนอันดับ 1 ของโลกในประเภทเดียวกัน ส่วน ซีพีเอฟ เป็น 1 ในสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) ประเภท Emerging Markets เป็นปีที่5 ส่วนกลุ่มทรู คว้าที่ 1 สองปีซ้อนจากเวทีโลก Dow Jones Sustainability Indices ด้วยคะแนนสูงสุดของโลก หมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ติดอันดับสมาชิกความยั่งยืนระดับโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ทั้ง DJSI หมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมประเภท Emerging Markets และ FTSE4Good

 

“ซีพี ออลล์” คว้าที่ 1 ของโลก ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านองค์กรความยั่งยืน (DJSI) ประจำปี 2019 กลุ่ม World Index ประเภท Food & Staples Retailing Industry

คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้ก่อตั้งเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย เปิดเผยว่า จากรายงานได้ระบุถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่าเป็นผลมาจากการรักษาส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจประเภท Food & Staples Retailing Industry การรักษาระดับกิจกรรมที่ครอบคลุมทั้งอาหาร ค้าปลีก และจัดจำหน่าย โดยมีการลงทุนด้านโครงสร้างทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการค้าปลีกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ และพัฒนาการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะสนับสนุนให้บริษัทตอบสนองต่อการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของความต้องการผู้บริโภคในด้านสุขภาพ และอาหารทางเลือกที่มาจากธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ผู้ค้าปลีกอาหารก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเชื่อมโยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเข้าด้วยกัน ผ่านนโยบายการจัดซื้อที่มีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และสร้างการเติบโตให้แก่ผู้ค้าปลีกในฐานะที่เป็นทางเลือกในการประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ภายใต้ปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” มาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ส่งผลให้ในปี 2019 นี้ ซีพี ออลล์ ไม่เพียงได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI กลุ่ม World Index ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และกลุ่ม Emerging Markets Index ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (2017-2019) แต่ยังเป็นสามารถเป็นที่ 1 ในประเภท Food & Staples Retailing Industry ของกลุ่ม World Index ได้รวมสูงสุดในหมวดนี้

โดยการดำเนินงานที่โดดเด่นมีทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมวดที่บริษัทได้รับคะแนนสูงเป็นพิเศษ ได้แก่ ด้าน Materiality และ CRM ในมิติเศรษฐกิจ ด้าน Packaging และ Water Related Risk ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับด้าน Human Rights ด้าน Health & Nutrition และ Policy influence นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการอย่างมีนัยยะสำคัญในด้าน Supply Chain Management ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากความพยายามมุ่งมั่นของซีพี ออลล์ ในการพัฒนานโยบาย และแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองความคาดหวังของคู่ค้าให้ครบทุกด้าน ผ่านการสื่อสาร อบรม และประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า เพื่อหาโอกาสในการพัฒนาให้คู่ค้าเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัทอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และมีคุณธรรม รวมทั้ง ด้านมาตรการแรงงาน ซึ่งมาจากการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอีกด้วย

 

ซีพีเอฟ ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรได้เป็น 1 ใน 17 บริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารใน DJSI ที่ได้รับการคัดเลือกอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของบริษัทฯ ในการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงาน ตลอดจนแนวคิดของพนักงาน การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดเวลา ให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนและเติบโตไปด้วยกันตามเป้าหมายของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Goals : UN SDGs) โดยมีเป้าหมายสำคัญ 17 เป้าหมาย ตลอดจนสนับสนุนหลักการของข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact : UN Global Compact) ด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต

ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งสามารถลดการใช้พลาสติกระหว่างปี 2549 – 2561 ได้ทั้งสิ้น 27,000 ตัน ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และอาหาร เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมดขององค์กร การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25% ในปี 2568 จากปีฐาน2558 ตลอดจนทำการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

“ซีพีเอฟ เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นนอกจากจะต้องสร้างรายได้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ การรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม และการตอบแทนสังคม เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจในเชิงรุกอย่างยั่งยืน” นายประสิทธิ์ กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Global Compact Network ประเทศไทย เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุล ที่ช่วยผลักดันเป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก FTSE4Good โดย FTSE Russell ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน./

 

กลุ่มทรู คว้าที่ 1 สองปีซ้อนดัชนีความยั่งยืน DJSI หมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ กลุ่มทรู ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกความยั่งยืนระดับโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ทั้ง DJSI หมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมประเภท Emerging Markets โดยมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกในหมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมติดต่อกันเป็นปีที่สอง รวมถึงคงสถานภาพ สมาชิกกลุ่มดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งต้องขอขอบคุณคนไทยที่ร่วมสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กลุ่มทรู มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม สร้างนวัตกรรมที่แตกต่าง จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากการประเมินผลการดำเนินงานที่ครอบคลุม 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบ 3 H’s ของกลุ่มทรู อันประกอบด้วย Heart – มุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน Health – มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ยั่งยืน และ Home – มุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ ได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติมาโดยตลอด บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเป็นที่น่ายินดีว่า ในปีนี้องค์กรจากประเทศไทยได้คะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของโลกในหลายอุตสาหกรรม อันแสดงให้เห็นว่าทุกองค์กรต่างช่วยกันยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีของแต่ละอุตสาหกรรมในไทยอีกด้วย

คุณศิริพจน์ คุณากรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “การคงความเป็นสมาชิกถึง 2 ดัชนีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักลงทุน นักวิเคราะห์ทางการเงิน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆทั่วโลก ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจเพื่อการลงทุน โดยทุกคนในองค์กรต่างตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่ ในการนำศักยภาพนวัตกรรมเทคโนโลยีสื่อสารทางดิจิทัล ร่วมสร้างคุณค่าด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ การคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงทุกภาคส่วนตลอดทั้งกระบวนการ การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยออนไลน์และดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคล การเสริมศักยภาพของคู่ค้าและบุคคลากรขององค์กรในทุกๆ ด้าน ตลอดจนสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ด้วยความเชื่อมั่นในการมีกันและกัน อันจะนำไปสู่ความความยั่งยืนในทุกระดับไปด้วยกัน”

DJSI เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของ S&P Dow Jones Indices และ SAM โดยเชิญบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่า 3,500 แห่งใน 61 อุตสาหกรรม เข้าร่วมการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

กลุ่มดัชนีหลักทรัพย์ FTSE4Good เป็นการประเมินที่ดำเนินการโดย FTSE Russell ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ดัชนี FTSE4Good ถูกจัดทำขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2559 โดยนำเอาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์จากกว่า 20 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ จีน บราซิล แอฟริกาใต้ ไต้หวัน และรัสเซีย ดัชนี FTSE4Good Emerging Market ได้พิจารณาตัวบ่งชี้กว่า 300 ด้านของสมาชิก

ทั้งในหมวดสิ่งแวดล้อมอันได้แก่ มาตรการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Climate Change) ระบบรอยเท้าทางนิเวศ (Environmental Footprint) และระบบห่วงโซ่อุปทานสิ่งแวดล้อม (Environmental Supply Chain) ในหมวดสังคมได้แก่ โครงการความริเริ่มเพื่อสังคม (Community Initiatives) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) และข้อปฏิบัติในเรื่องแรงงาน (Labor Practices) ในหมวดบรรษัทภิบาลได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (Corporate Governance) การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และความโปร่งใสในเรื่องภาษี (Tax Transparency) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ นักลงทุน นักวิเคราะห์ทางการเงิน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการตัดสินใจเพื่อการลงทุน