เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยสกู๊ปพิเศษรวบรวมความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่มีแนวโน้มสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยบริษัทวิจัยอย่าง Ned David ระบุว่า มีโอกาสสูงถึง 98% แล้วในขณะนี้ที่โลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

รายงานอธิบายว่า เมื่อใดก็ตามที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ออกโรงเตือนถึงภาวะถดถอย นั่นหมายความว่าสัญญาณบ่งชี้อย่างน้อย 5 ข้อได้กลายเป็นไฟแจ้งเตือนสีแดงที่เข้าข่ายอันตรายแล้ว

ประการแรกก็คือ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทเกินปกติในเศรษฐกิจโลกและการเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นการที่เงินดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี โดยมีสาเหตุจากนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงกลายเป็นประเด็นปัญหาที่น่าปวดหัวสำหรับประเทศที่เหลือทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เพราะการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินของประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสกุลเงินหลักอย่างปอนด์ของอังกฤษ อียูของยุโรป เยนของญี่ปุ่น และหยวนของจีนอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าอาหารและพลังงานของประเทศต่างๆ แพงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่าจนเกินไป

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากพิษโควิด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับทำให้การฟื้นตัวชะลอตัว เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งเกินไปก็มีผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติในดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท โดย Morgan Stanley ประเมินว่า ทุกๆ 1% ของดัชนีดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทในดัชนี S&P 500 ลดลง 0.5%

สัญญาณบ่งชี้ที่ 2 ก็คือ กำลังการบริโภคของชาวอเมริกันที่กำลังอ่อนแอ โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ก็คือการจับจ่ายใช้สอย แต่บรรดานักช้อปชาวอเมริกันในเวลานี้กลับอยู่ในสภาวะอ่อนแอ

เหตุผลเพราะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาข้าวของแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่รายรับและเงินเดือนกลับไม่เพิ่มตามรายจ่ายที่มากขึ้น ทำให้ชาวอเมริกันและประเทศต่างๆ พร้อมใจชะลอการใช้จ่าย และหันมาประหยัดอดออมกันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ยิ่งทำให้ชาวอเมริกันมีแนวโน้มเก็บออมเงินมากขึ้น และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

สัญญาณบ่งชี้ที่ 3 คือ บรรดาธุรกิจเอกชนพากันรัดเข็มขัดชะลอการลงทุน โดยเป็นปัจจัยที่ต่อเนื่องมาจากปัจจัยก่อนหน้า เพราะเมื่อผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้าลง รายได้และผลกำไรของบริษัทต่างๆ ย่อมลดลง สวนทางต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นบริษัททั้งหลายย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปรับโครงสร้าง ลดรายจ่าย และหาทางรัดเข็มขัดให้มากขึ้น

นักวิเคราะห์มองว่าสัญญาณรัดเข็มขัดของภาคธุรกิจเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง FedEx ออกโรงเตือนว่ารายได้และทิศทางการเติบโตของบริษัทในช่วงไตรมาส 4 น่าจะลดลง ขณะที่ Apple ก็ประกาศยกเลิกแผนการเพิ่มการผลิต iPhone 14 หลังพบว่าดีมานด์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีที่หลายบริษัทมักจะเพิ่มการจ้างงานในตำแหน่งต่างๆ แต่จนถึงขณะนี้ หลายบริษัทกลับแสดงท่าทางระมัดระวังในการจ้างงาน หรือปฏิเสธที่จะจ้างงานเพิ่ม

สำหรับสัญญาณบ่งชี้ที่ 4 ก็คือ ภาวะตลาดหมีในตลาดหลักทรัพย์ โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ มีความเคลื่อนไหวในแดนลบมากกว่าแดนบวก โดยมีการปรับตัวร่วงลงอย่างมาก และกลายเป็นตลาดที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งสวนทางกับภาวะตลาดปีที่แล้วที่คึกคักอย่างมาก

สัญญาณบ่งชี้ประการสุดท้ายก็คือ สงคราม ของแพง และนโยบายแข็งกร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์ได้ยกกรณีตัวอย่างในอังกฤษ ที่การปะทะกันของปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจ การเงิน และการเมืองที่เจ็บปวด ซึ่งอังกฤษขณะนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ หลังอัตราเงินเฟ้อล่าสุดพุ่งขึ้นมาที่ 10 และมีเรื่องให้ต้องตื่นตระหนกหลังต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นแน่นอนในปี 2023 แต่จะกระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นและมีกำลังที่จะแบกรับผลกระทบจากภาวะถดถอยมากกว่าประเทศอื่นๆ

 

อ้างอิง:

 

ที่มา THE STANDARD WEALTH