14 มิ.ย. 2565 น่าน – พลเอกสันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการ ทหารบก และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พร้อมคณะ เยี่ยมชมศึกษาดูงาน โครงการ สบขุ่นโมเดล ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน โมเดลความยั่งยืนด้านฟื้นฟูป่าน่านและภาคเหนือ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยมี คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์จำกัด (มหาชน) เเละเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสบขุ่น ให้การต้อนรับ
จากสภาพปัญหา จ.น่าน เกิดเป็นดอยหัวโล้นขนาดใหญ่ การทําการเกษตรที่ประสบกับปัญหา 5 ขาด ขาดเงินทุน, องค์ความรู้, การจัดการ,เทคโนโลยี,และการตลาด สุดท้ายยังยากจนเเละมีหนี้สิน ในปี 2559 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ริเริ่ม ทำโครงการ “สบขุ่นโมเดล” หนึ่งในโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ภายใต้โมเดลจัดการพื้นที่ชุมชนในป่าอนุรักษ์ตามแนวพระราชดำริ โดยมี กอ.รมน.จังหวัด น.น.(ท) เข้าร่วมสนับสนุนดำเนินการ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย อาทิ จังหวัดน่าน, อ.ท่าวังผา, โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น,กรมป่าไม้ , กรมอุทยาน ,สถานีพัฒนาที่ดินน่าน ,กศน.อ.ท่าวังผา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า จากนโยบายของเครือซีพีที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อสังคม และรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีบนพื้นฐานของค่านิยมเครือฯ 3 ประโยชน์ ด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติทั้งต่อประชาชนและสังคม ควบคู่ไปกับการบริหารองค์กรภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ
ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ทาง กอ.รมน.จ.น่าน ได้ให้การสนับสนุนในการดำเนินการ เพื่อประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางในการช่วยเหลือ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ให้เกิดการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมาย ให้คนอยู่ได้มีรายได้ที่มั่นคง ธรรมชาติฟื้นคืนไม่ถูกทำลาย และชุมชนอยู่อย่างมีความสุขบนพื้นฐานความพอเพียง คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างกลมกลืนแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบเกษตรผสมผสานหลักวิชาการบูรณาการร่วมกัน ทั้งความรู้ด้านป่าไม้ เเละเกษตร ผ่านกระบวนการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน พร้อมใช้ระบบพี่เลี้ยงร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และชุมชนให้คำแนะนำกับชาวบ้าน
ปัจจุบันสบขุ่นโมเดลขยายผลสู่เรื่องการท่องเที่ยวต่อยอดในการเปิดร้านกาแฟบ้านสบขุ่น น่าน กาแฟคืนป่า..คืนชีวิต ร้านกาแฟที่เรียบง่ายของชุมชนบริหารงานโดยวิสาหกิจชุมชน สร้างป่า สร้างราย ได้ บ้านสบขุ่น และมีเครือซีพี เป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่องค์ความรู้ โดยการผลิตกาแฟคุณภาพ จากกระบวนการ Honey process ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่การบริหารจัดการด้านธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ให้มีรายได้สู่ชุมชน พร้อมสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ลูกหลานที่จะมาสร้างความยั่งยืนต่อไป