SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/66 ขยายตัว 2.7% ปรับดีขึ้นจากระดับ 1.4% ในไตรมาสก่อน โดยเศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวดี หลังการเปิดประเทศของจีน ขณะที่การส่งออกสินค้า และการอุปโภคบริโภคภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญฉุดเศรษฐกิจในไตรมาส 1
ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้ มีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 6.5 ล้านคน อีกทั้งความต้องการท่องเที่ยวในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยที่เติบโตได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 พร้อมกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ของภาครัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเดือนมีนาคม ส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน การผลิต การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐยังขยายตัวได้ดีจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณก่อนการยุบสภา
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังหดตัวต่อเนื่อง ตามแนวโน้มและความผันผวนของเศรษฐกิจและการค้าโลก ด้านการบริโภคของภาครัฐแม้จะได้รับประโยชน์จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ แต่นับว่าหดตัวลงมาก หลังเม็ดเงินกู้พิเศษในช่วงวิกฤติโควิดหมดลง
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/66 อยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤติโควิดประมาณ 1.5% หากพิจารณาในด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าอยู่ในระดับสูงกว่าระดับก่อนวิกฤติโควิดแล้ว แต่การส่งออกภาคบริการ (ซึ่งส่วนมากเป็นภาคการท่องเที่ยว) ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติราว 40%
หากพิจารณาในด้านภาคการผลิต ภาคเกษตรฟื้นตัวอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนวิกฤติโควิดแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 65 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤติราว 1% และ 3.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้ในช่วงกลางปี 66
SCB EIC ประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากถึง 30 ล้านคนในปี 66 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาในไทยได้มากถึง 4.8 ล้านคน จากการประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบของจีน อีกทั้งจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยในเดือนเมษายน ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อ จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันจากนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ รถเช่า สถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร สปาและเวลเนส รวมถึงบริการทางการแพทย์
ด้านการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก คาดว่าจะมีแนวโน้มหดตัวในอัตราชะลอลง และขยายตัวได้ในครึ่งหลังของปี 66 ด้านการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่สูงขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่อยู่ในระดับสูงที่สุดนับ ตั้งแต่มีการสำรวจในเดือนธ.ค. 58
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 66 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำหลายประการ ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้น ปัญหาวิกฤติเสถียรภาพทางการเงินโลกที่อาจลุกลาม เงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวแรงขึ้น นโยบายการเงินโลกและไทยที่อาจตึงตัวแรงขึ้น หนี้ครัวเรือนและแนวโน้มการผิดชำระหนี้ที่อาจสูงขึ้น และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเมืองจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 66 เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 66 จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3/66 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ อีกทั้งยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ผลกระทบด้านลบ จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 66 จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 67 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 67
ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 66 ล่าสุดอยู่ที่ 3.9% (คาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม) โดย SCB EIC กำลังติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงเดือนมิ.ย.
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์