เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี วันนี้เราจึงขอหยิบหนึ่งในโครงการสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้พื้นที่ภูเขาหัวโล้น หมู่บ้านสบขุ่น ได้พลิกฟื้นคืนกลับมามีพื้นที่สีเขียวอีกครั้ง กับ โครงการสบขุ่น โมเดล กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ มาให้ติดตามกันว่า ในวันนี้หมู่บ้านสบขุ่นได้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 แล้วที่หมู่บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.วังท่าผา จ.น่าน ได้เข้าร่วมโครงการ “สบขุ่น โมเดล” กับสโลแกนที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู คือ “กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้” ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ได้หันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เคยทำการเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาตลอดระยะเวลาหลายปี ได้พลิกฟื้นกลับมาชุ่มชื้นและเขียวขจีอีกครั้ง จากความร่วมมือกันของชุมชนและสำนักพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้เข้าไปศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันเกษตรกรที่หันมาปลูกกาแฟ มีความสุขมากขึ้น นอกจากจะได้ความร่มรื่นกลับคืนมา เกษตรกรยังได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมาอีกด้วย จากการที่ไม่ต้องตรากตรำทำการเกษตรแบบยากลำบาก ได้ผลผลิตน้อย และลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีในปริมาณมากอีกด้วย
พ่อหยาด เป็นตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นแรกที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปลูกกาแฟตั้งแต่วันแรก โดยมีเป้าหมายอยากหลุดพ้นจากวงจรการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะมองเห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดกับคนในครอบครัว รวมถึงผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เริ่มทยอยลดน้อยลง จึงได้เลือกเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ปัจจุบันพ่อหยาดและภรรยา มีสุขภาพที่ดี ไม่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น มีความสุขกับการทำการเกษตรภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ และยังพร้อมปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
นอกจากนี้ทางโครงการฯ ไม่เพียงแต่สนับสนุนให้เกษตรกรหมู่บ้านสบขุ่นหันมาปลูกกาแฟเท่านั้น แต่ยังได้ร่วมกันจัดตั้งโรงแปรรูปกาแฟ เพื่อพัฒนาให้หมู่บ้านมีที่รองรับผลผลิตจากชุมชน และแปรรูปส่งออกผลผลิตไปสู่ตลาด กลายเป็นผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟจากหมู่บ้านสบขุ่น สร้างรายได้ และสร้างอาชีพต่อยอดให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
ปัจจุบันหมู่บ้านสบขุ่น ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่พร้อมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากวิวทิวทัศน์อันงดงามจากธรรมชาติที่ห้อมล้อม ยังมีร้านกาแฟบ้านสบขุ่น ที่จัดตั้งโดยวิสาหกิจชุมชน เป็นจุดเช็คอินที่ถ้าหากใครได้มาเยือนเป็นอันต้องแวะมาชิมกาแฟสบขุ่น โดยมีบาริสต้าฝีมือดีอย่าง น้องไอซ์ ลูกหลานชาวบ้านสบขุ่นที่คอยต้อนรับและบริการลูกค้าทุกคนด้วยรอยยิ้ม
และยังมีจุดเช็คอินอื่นๆ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมบรรยากาศอันเงียบสงบ และสวยงามของหมู่บ้านสบขุ่นโดยรอบอีกมากมาย
7 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาพื้นที่ ทรัพยากร และบุคคล แต่ยังเปลี่ยนชุมชนที่เงียบเหงาจากที่ต่างคนต่างยุ่งกับการทำไร่ทำนา ให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง มีการรวมกลุ่มของเหล่าเกษตรกรปลูกกาแฟ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแก้ไขปัญหาร่วมกัน สนับสนุนให้ชุมชนจัดกิจกรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ เติมเต็มความสุข และเรียกรอยยิ้มของคนในชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง
สบขุ่น โมเดล จะเป็นโมเดลสำคัญที่สามารถนำไปปรับใช้และพัฒนาพื้นที่เขาหัวโล้น เพราะในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นกับ หมู่บ้านสบขุ่น เกษตรกรหลายคนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจ อย่าง กาแฟ ฟักทอง และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ แม้ต้องใช้ความอดทน แรงกาย แรงใจมหาศาลในการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยวันนี้ หมู่บ้านสบขุ่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า หากทุกภาคส่วนใส่ใจร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วมองดูปัญหาอย่างลึกซึ้ง ก็จะสามารถหาทางออกที่ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง