หลายคนคงรู้จัก ‘รามยอน’ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศเกาหลี ซึ่งมีจุดเด่นคือเส้นเหนียวนุ่ม และน้ำซุปรสเผ็ดจัดจ้าน และเรายังเห็นกันอยู่เสมอผ่านซีรีย์เกาหลี หรือ Youtuber สายม็อกบังต่างๆ
แต่ใครจะรู้ว่า เบื้องหลังอาหารจานด่วนที่เราสามารถกินได้ใน 5 นาทีนี้จะเกิดจากการคิดวิเคราะห์ และวางแผนผ่านการใช้ Soft power มาเป็นอย่างดี
ตลาด ‘รามยอน’ ในเกาหลีเติบโตแค่ไหน?
ข้อมูลที่รวบรวมโดย Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corporation (aT) และหน่วยงานด้านศุลกากรเกาหลีใต้พบว่า ช่วงเดือนม.ค. – ก.ค. 2566 เกาหลีใต้มีมูลค่าการส่งออกรามยอนอยู่ที่ 520.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) พบว่ายอดการส่งออกรามยอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558
ยกตัวอย่างเช่น ในเดือน ก.ค. ปี 2566 เพียงเดือนเดียว ปริมาณการส่งออกรามยอนของเกาหลีเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2558 โดย ก.ค. ปี 2566 นี้ยอดการส่งออกอยู่ที่ 134,791 ตัน เติบโตขึ้นจาก 30,305 ตัน
ทั้งนี้ สินค้ารามยอนเกาหลีใต้ สามารถประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้มาจากความพยายามในการเชื่อมโยงสินค้าเข้ากับวัฒนธรรมเกาหลี ภาพยนตร์ และศิลปินเคป๊อป รวมถึงช่วงที่เกิด COVID-19 ทำให้รามยอนกลายเป็นอาหารทางเลือกที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
ย้อนเส้นทาง ‘รามยอน’ ผ่าน Soft power ของเกาหลี
ท่ามกลางกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในช่วงหลายสินปีที่ผ่านมา รามยอนกลายเป็นหนึ่งในเมนูที่หลายคนต้องคิดถึงหลังจากดูภาพยนต์หรือซีรีย์เกาหลี
แต่อาจมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่ทำให้รามยอนไม่ได้เป็นแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ตอบโจทย์ความเร่งด่วนของชีวิต หรือกินเพราะคิดถึงบรรยากาสของเกาหลี แต่ ยังแสดงถึงไลฟสไตล์การกินที่แตกต่างอีกด้วย
เรื่องนั้นคือ ภาพยนตร์ Parasite ที่คว้ารางวัลออสการ์ในปี 2562 ซึ่ง Chapaguri เมนุบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่โด่งดังเป็นกระแสไปทั่วโลก โดย Chapaguri ซึ่งต้องใช้รามยอน 2 ชนิด ทั้ง Neoguri และ Chapagetti และใช้เนื้อวัวชั้นดีมาประกอบร่าง ทำให้ผู้ชมหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ต่างอยากรู้และอยากลองว่าการผสมผสานนี้จะลงตัวสักแค่ไหน
ทั้งนี้ รามยอนทั้ง 2 ชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Nongshim ผู้ผลิตรามยอนรายใหญ่ (รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม) ของเกาหลีใต้
นอกจากนี้กลยุทธ์ของ บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างๆ ยังพยายามขยายตลาดผ่านความร่วมมือศิลปินเกาหลี และช่องทาง Social Media มากมาย อาทิ
บะหมี่แบรนด์ “Buldak” ของบริษัท Samyang Foods เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เนื่องจากมีศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างจีมินวง BTS และโรเซ่ วง Blackpink ให้การสนับสนุนสินค้าดังกล่าว และยังมีกิจกรรมท้ากินบะหมี่เผ็ด
“Fire Noodle Challenge” ที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยโฆษณาสินค้าของทางบริษัทได้กลายเป็นความท้าทายที่หลายๆคนอยากจะลองกันสักครั้งหนึ่ง โดยโฆษกของบริษัท Samyang Foods กล่าวว่า กระแสดังกล่าวได้เปลี่ยนสินค้ารามยอนให้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ K-Food
รามยอนเกาหลีจะสร้างโรงงานผลิตในสหรัฐ และการขยายตลาดผ่าน ‘ต้มยำกุ้ง’
เมื่อรามยอนสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก บริษัทรามยอนชั้นนำในเกาหลีจึงเห็นช่องทางและจะขยายโรงงานผลิตในต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น
ด้านบริษัท Nongshim เปิดโรงงานแห่งที่ 2 ในสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ และวางแผนที่จะเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ภายในปี 2568
‘ชิน ดงวอน’ ประธานบริษัท Nongshim ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ต่อปีของบริษัทในตลาดสหรัฐฯ เป็นสามเท่า หรือ 1,500 เหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นที่หนึ่งของสินค้ารามยอนในตลาดท้องถิ่น
ล่าสุด บริษัท Nongshim ยังจะร่วมมือกับ เจ๊ไฝ เปิดตัวรามยอนรสใหม่ ‘รสต้มยำกุ้ง’ ซึ่งความร่วมมือนี้น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้บริษัทและทำให้ต้มยำกุ้งเป็นที่นิยมมากขึ้นจากปัจจุบัน
ขณะที่ บริษัท Samyang Foods แบรนด์ที่หลายคนคุ้นตา ก็ขยายการผลิต โดยเปิดโรงงานในเมืองมิลยาง จังหวัดคย็องซังใต้ เกาหลีใต้ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าการเปิดโรงงานนี้เพื่อรองรับการส่งออกสินค้า และมีแผนะสร้างโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่เดียวกัน
ดังนั้น จากกรณีศึกษาเรื่อง รามยอนของเกาหลีมองว่า ผู้ผลิตสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือผู้ผลิตสินค้าอาหารของไทยอาจนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมการตลาดโดยการเชื่อมโยงกับ Soft Power ของไทยที่น่าสนใจในปัจจุบัน เช่น ศิลปินคนดังของไทยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ หรือเปิดตัวสินค้าใหม่ๆที่ร่วมมือกับเชฟร้านอาหารดังซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
ที่มา – กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์