ทำอย่างไรดีตามเพื่อนที่ทำงานไม่ทัน? มาฝึก ‘Soft Skills’ 5 อย่าง เพื่อให้พร้อมสำหรับการทำงานที่ดีขึ้นของคุณ

Coroimage | Moment | Getty Images

ชีวิตหนุ่มสาวออฟฟิศยุคโควิดเหมือนจะสบายในบางเรื่อง เช่น ทำงานจากที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง แต่ในบางเรื่องการห่างหายจากออฟฟิศนานๆ ก็ทำให้สูญเสียทักษะและความสามารถบางอย่างไปเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของซอฟต์สกิล (Soft Skill) ซึ่งหมายถึงทั้งทักษะทางสังคมในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และเรื่องอุปนิสัย บุคลิกภาพ ทัศนคติภายในตัวเราเอง

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะการทำงานแบบรีโมตนั้นถึงจะยังติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านเทคโนโลยี แต่มันก็ไม่มี Human Touch ไม่ได้สัมผัสถึงอารมณ์ ความรู้สึก สีหน้า น้ำเสียง หรือแววตา

หนักเข้าก็พานให้รู้สึกว่าความสามารถในการทำงานของเราลดลงแบบไม่ทันรู้ตัว และที่หนักกว่าคือเมื่อรู้ตัวอีกทีก็คือรู้สึกว่าทำไมฉันตามเพื่อนร่วมงานไม่ทันแล้ว ทำไมเขาดูเก่งกว่า ซึ่งในยุคนี้เรื่อง Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ และเรื่องทักษะการสื่อสาร (communicaiton) มีความสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาที่ทำงาน

อันที่จริงเรื่องของซอฟต์สกิลนั้นในบางออฟฟิศก็มีการเทรนให้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีการจ้างคนมาสอน (มีก็โชคดีไปนะ เรียนๆ ไปเถอะดี!) อย่างไรก็ดีมีบางอย่างที่เราสามารถฝึกฝนได้ด้วยตัวเองเหมือนกัน

และนี่คือ 5 ซอฟต์สกิลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอาชีพ (Career Development) อย่างบาร์บารา เพอทิตต์ (Barbara Petitt) แนะนำว่าฝึกไว้เถอะ ไม่ใช่แค่ดีต่อใจ แต่จะดีต่อการทำงานด้วย!

1. เจ้าหนูจำไม (Curiosity)

ใครสักคนเคยกล่าวเอาไว้ว่าการตั้งคำถามที่ดีจะนำไปสู่การหาคำตอบที่ดี ดังนั้น ‘ความสงสัยใคร่รู้’ (Curiosity) คือซอฟต์สกิลแรกที่เราควรจะฝึก

เพราะการเป็นเจ้าหนูจำไมที่เกิดความสงสัยในเรื่องต่างๆ จะนำไปสู่การค้นพบทางออกหรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ แม้ในสิ่งที่เราอาจจะเห็นกันชินตาในการทำงานแล้ว เช่น จะเกิดความสงสัยว่าในเมื่อเราต้องการผลลัพธ์แบบนี้ แต่ทำไมเราถึงต้องทำตามแบบนี้ ทำไมเราไม่ทำแบบนี้ ซึ่งอาจจะได้ผลลัพธ์เหมือนกันหรือดีกว่าเดิมก็ได้

แล้วความสงสัยใคร่แบบนี้รู้จะฝึกได้อย่างไร? ลองไปศึกษาในสิ่งที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย เช่น ไปลองศึกษาการทำงานของสมอง เรื่องของระบบประสาท ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังวิธีคิดอะไรต่างๆ ซึ่งการได้ลองเปิดโลกกับสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน ก็เหมือนการเปิดหน้าต่างให้สายตาของเราเองได้มองเห็นโลกในมุมใหม่มากขึ้นนั่นเอง

2. ช่างประดิษฐ์ (Innovation)

การเป็นเจ้าหนูจำไมอาจจะทำให้เราได้ไอเดียใหม่ๆ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการนำสิ่งที่เราคิดมาใช้ในชีวิตจริงให้ได้

และนั่นทำให้เราควรจะมีสกิลของนักประดิษฐ์ หรือคนที่หยิบเอาความคิดมาหาทางประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงด้วย ไม่ว่าจะผ่านการทำงานร่วมกัน (Collaboration) หรือสิ่งประดิษฐ์ (Invention) ที่อาจเป็นความคิดหรืออะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การหาทางออกที่ดีและสร้างสรรค์

สกิลนี้ก็เป็นสกิลที่ฝึกได้ไม่ยาก เพราะเพียงแค่พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าบ่อยๆ จะช่วยให้เราได้ไอเดียดีๆ ที่ทำได้จริงและเวิร์กมาใช้ โดยที่บางครั้งการพูดคุยกันเรื่องงานมันอาจจะไปได้ไกลมากกว่าแค่งานประจำที่ทำกันอยู่ทุกวัน

3. มือไวใจเร็ว (Speed)

ยุค 5G แบบนี้อะไรก็ต้องเร็ว ชาวออฟฟิศก็เหมือนกัน จะทำอะไรก็ต้องรวดเร็วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว การนำมาใช้ หรือการสื่อออกมา ซึ่งโชคดีที่เทคโนโลยีและข้อมูลจำนวนมหาศาลสำหรับเรื่องอะไรก็ตามมันอยู่แค่ปลายนิ้ว

อะไรที่เคยต้องศึกษาหรือรอข้อมูลเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ก็อาจจะถูกรวบรวมจบครบได้ในเวลาไม่กี่วัน หรืออาจจะแค่ไม่กี่ชั่วโมงด้วย

อย่างไรก็ดีเรื่องของความเร็วนั้นไม่ได้หมายถึงแค่การรีบๆ ทำอะไรให้จบๆ ไป แต่ยังหมายถึงการบริหารจัดการเวลาและทรัพยากรที่มีด้วย การฝึกสกิลด้านความเร็ว อยากให้ลองไปอาสาทำงานอะไรที่รู้สึกสนใจ แล้วทีนี้ก็ใส่ใจนอกจากเรื่องงานแล้วคือเรื่องของการบริหารจัดการเวลาด้วย

เมื่อทำแล้วเราจะรู้ว่า อ๋อ เราต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เพราะดันลืมจดโน้ตในการประชุม ทำให้ต้องมาค้นข้อมูลใหม่ เมื่อรู้ปัญหาเราก็จะแก้ปัญหาได้ และแก้ปัญหาได้ก็คือการทำงานได้เร็วขึ้นนั่นเอง

4. การสื่อสารแห่งประเทศใจ (Communication)

ทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของการสื่อสาร เพราะมันอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากคุณรู้จักงานดี ทำงานได้ดี แต่ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้

ยิ่งยุคนี้ที่อะไรก็ตามบนโลกแทบจะเป็นคอนเทนต์ได้หมด สกิลด้านการสื่อสารนั้นยิ่งสำคัญ ซึ่งการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการสื่อสารให้ถึงใจคนฟัง ผ่านน้ำเสียง แววตา ภาษากายของเราเอง​ ที่หากช่วยทำให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ นั่นหมายถึงโอกาสที่ทุกอย่างจะออกมาดีเป็นไปได้สูง หรือปัญหาหนักๆ ที่ว่ายากก็อาจจะไม่ได้ยากเกินกว่าจะแก้

การสื่อสารนั้นไม่มีทางลัดให้เก่ง อยากพูดเก่งก็ต้องคุยเยอะๆ แต่จะดียิ่งขึ้นหากไปลองศึกษาวิธีการพูด โดยเฉพาะการพูด ไม่ว่าจะจาก YouTube หรือไปลงคอร์สเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราว

เพราะถ้าฝึกสกิลด้านนี้ได้จนชำนาญแล้ว วันหนึ่งเราอาจจะบอกขอบคุณการสื่อสารแห่งประเทศใจที่ช่วยให้งานเราดีก็เป็นได้

5. อ่อนแอบ้างก็ได้ (Vulnerability)

ในหนังสือ ‘Braving the Wilderness’ โดย เบรเน บราวน์ (Brené Brown) บอกไว้ว่า “ต้นกำเนิดของความกล้าหาญคือความอ่อนแอ”

เพราะคนเราไม่มีใครที่จะเก่งจะกร้าวได้ตลอดเวลา บางครั้งการยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอ แพ้ หรือไม่เก่งในเรื่องไหน ก็เป็นสกิลที่สำคัญเหมือนกัน สกิลที่จะช่วยนำทางในช่วงที่ไม่แน่นอน เผชิญความเสี่ยง และการปลดปล่อยความรู้สึกออกมา

ดังนั้นถึงมันอาจจะฝืนใจอยู่บ้างในการที่จะเปิดด้านอ่อนแอของเราให้โลกรู้ แต่บางครั้งการให้คนอื่นได้เห็นด้านอ่อนแอของเราบ้าง ก็จะทำให้เรายอมรับข้อผิดพลาดที่เราทำได้ง่ายขึ้น (เช่น สะเพร่า หรือค้นคว้าไม่มากพอ) และการที่เรายอมรับข้อผิดพลาดเหล่านั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ตัวเองเติบโตขึ้น แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเพื่อนร่วมงานด้วยว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ใครก็ทำผิดได้ ไม่จำเป็นต้องโยนความผิดให้คนอื่น เพราะมันจะดีกว่าหากเรารับรู้และแก้ปัญหาไปด้วยกัน

ทั้งหมดนี้คือ 5 ซอฟต์สกิลสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ลองฝึกฝนกันดู ไม่ใช่แค่เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น แต่เพื่อตัวเราเองที่จะดีขึ้นด้วย 🙂

อ้างอิง: