โควิดพุ่ง-น้ำมันแพง สงกรานต์เงินสะพัด 1.06 แสนล้าน ต่ำสุดรอบ 10 ปี วอนรัฐดูแลค่าครองชีพ-คนละครึ่งเฟส 5

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 โดยภาพรวมคนตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงกังวลจากปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิดเพราะจากจำนวนตัวเลขมีติดเชื้อรายวันมีมากกว่า 50,000 คน แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะดูมาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่กังวลเท่ากับปัญหาราคาน้ำมันแพงจากเหตุสงครามรัสเซียและยูเครน โดยเหตุการณ์นี้ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ต้องเสียค่าน้ำมันในการเดินทางมากขึ้น

ทั้งนี้ทำให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ คนส่วนใหญ่จะท่องเที่ยวใกล้บ้านเป็นหลัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ขณะเดียวกันในปีนี้ความชัดเจนเกี่ยวกับการเล่นน้ำสงการนต์ถูกจำกัดจากภาครัฐ ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลให้คนติดเชื้อโควิดในจำนวนทีมากขึ้นกว่าขณะนี้ จึงทำให้บรรยากาศการเล่นสงการนต์ในปีนี้จึงไม่คึกคักเท่าที่ควร ดังนั้น คนส่วนใหญ่จะหันไปท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้บ้าน หรือหากจะไปจะเน้นท่องเที่ยวทะเลหรือไปทำบุญฉลองเทศกาลสงกรานต์กัน โดยเน้นใช้จ่ายไม่มาก เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงทำให้สินค้าค่าครองชีพต่างๆ มีราคาแพงกว่าถูกปี

สำหรับภาพรวมเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีเงินสะพัด 106,772.59 ล้านบาท ลดลงเมื่อเที่ยบกับปี 2564 ร้อยละ 5.4 แต่หากเทียบกับช่วงปี 2562 ที่ยังไม่มีโควิด-19 ระบาดจะติดลบกว่า 21 ต่ำสุดรอบ 10 ปี ดังนั้นสิ่งที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจหอการค้าไทยประเมินมองว่า แม้เทศกาลปีนี้จะไม่คึกคักจากเหตุข้าวของแพงจนทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยเพราะของที่แพงขึ้นเท่ากับ ซึ่งกังวลมากกว่าการติดเชื้อโควิดรายวัน รวมทั้งยังมองว่า หากเหตุสงครามรัสเซียและยูเครน แม้จะยืดเยื้อแต่ไม่รุนแรงโอกาสที่ราคาน้ำมันจะเริ่มลดลงได้หลังจากนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ได้ และภาคเอกชนจะต้องไม่ปรับราคาสินค้าที่เร็วเกินไปหรือควรตรึงราคาไว้ก่อนเพื่อช่วยเหลือในด้านค่าครองชีพของประชาชน จึงยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้ร้อยละ 3-4 ซึ่งขณะนี้หลายสำนักได้ปรับการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้โตเพียงแค่ร้อยละ 2.5-3 และหากทุกอย่างดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจหอการค้าไทยจะประเมินกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่งเฟส 5 เติมเม็ดเงินอีก 4.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ประชาชนกล้าในการจับจ่ายใช้สอย ในช่วงที่ภาคเอกชนยังคงประคับประคองสถานการณ์ราคาสินค้าและค่าครองชีพ ไม่ได้ปรับราคาสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศและเมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันมีการผ่อนคลายลงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงได้

ที่มา ประชาชาติ