ด้วยเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินให้เกิดความยั่งยืนด้วยการคิดและวางแผนให้ครบทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน มุ่งเน้นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต การสร้างงาน สร้างรายได้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงปรากฏผลออกมาในรูปแบบของการจัดตั้ง ‘คณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
7 ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วย
- ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
- ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผศ. ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี
- ต่อพงศ์ เสลานนท์ อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
และนี่คือ 7 วิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ กับการพัฒนาความยั่งยืนในแต่ละมิติ
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“ เส้นทางแห่งโอกาสสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของประเทศ”
“รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นเส้นทางแห่งโอกาส และสัญลักษณ์ความภูมิใจของประเทศไทย หรือ Pride of the Nation เพราะโครงการนี้จะ ‘สร้างโอกาส’ ‘สร้างงาน’ และพิสูจน์ว่า ‘คนไทยทำได้’ ที่สำคัญตลอดเส้นทาง 220 กิโลเมตร ของรถไฟความเร็วสูงฯ สายนี้จะทำให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศไทย เพราะนี่จะเป็นเส้นทางแห่งอนาคต จึงสำคัญมากที่เส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องมองทั้งเรื่องการเชื่อมโยงและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ โดยหากมองด้านของการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตผู้คนและสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เชื่อมถึง EEC ซึ่งจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเคลื่อนคน การกระจายการลงทุนออกไปยัง EEC เพิ่มมากขึ้น”
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
“รถไฟความเร็วสูงเป็นของคนไทยทุกคน”
“การพัฒนาด้านความยั่งยืนสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ นั้น เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการนี้ไปด้วยกัน เพราะรถไฟถือเป็นของคนไทยทุกคน จึงต้องพัฒนาคนและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ตลอดจนที่ตั้งสถานีและพื้นที่โดยรอบที่รถไฟแล่นผ่าน คือ จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ให้เข้มแข็ง โดยต้องรักษาวัฒนธรรมและอาชีพของท้องถิ่นไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาเงื่อนไขระดับนิเวศของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ ควรต่อยอดโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ โดยเชื่อมต่อกับโครงการจิตอาสาประจำจังหวัดที่รถไฟแล่นผ่าน โดยสนับสนุนการสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมและชุมชนในจังหวัด อาทิ ธุรกิจด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ เพื่อช่วยส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่”
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
“รถไฟความเร็วสูงฯ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้คนในท้องถิ่น”
“โครงการนี้ต้องมองการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในพื้นที่ EEC และที่สำคัญต้องสร้างความสมดุลระหว่างโลกสองโลกเข้าด้วยกัน คือ โลกของการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับโลกการเติบโตในเชิงวัฒนธรรมที่มีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นโจทย์ที่ท้าทายพอสมควร สิ่งสำคัญต้องไม่ใช่ให้รถไฟนำความเจริญวิ่งผ่านไปโดยที่ชาวบ้านได้แต่มอง แต่จะต้องทำให้รถไฟพาความเจริญกระจายไปทุกส่วน ทุกพื้นที่ที่รถไฟวิ่งผ่าน ฉะนั้นความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องคำนึง 4 ด้าน ได้แก่ 1. Environmental Friendly 2. Circular Economy 3. Inclusive Economy 4. Grassroots Development
“โครงการจึงต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ตั้งแต่รูปแบบตัวรถไฟที่ใช้วัสดุรีไซเคิล พัฒนาสู่ตัวสินค้าและบริการ ทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องพัฒนาให้เป็น Inclusive Business เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม ใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด มีการจ้างงานชุมชนโดยรอบจะช่วยส่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร สามารถนำผลิตภัณฑ์เกษตรของชุมชนมาทำเป็นอาหารจำหน่ายในชานชาลาภายในสถานี ในขบวนรถไฟ เพื่อให้เกิดธุรกิจชุมชน ตลอดจนนำวัตถุดิบจากชุมชนมาแปรรูป โดยประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนกับกลุ่มวิสาหกิจและผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดพลังตอกย้ำว่าโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือสร้างความเจริญให้แก่คนในพื้นที่และทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า”
ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ คือ ‘นวัตกรรม’
เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายพัฒนาประเทศ”
“การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะต้องเชื่อมโยง 5 จังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงฯ แล่นผ่าน คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง บนพื้นฐานการพัฒนา ดังนี้ 1. การพัฒนาอย่างชาญฉลาด โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ คือ ‘นวัตกรรม’ เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย จึงต้อง ‘พัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เป็นเครื่องมือ’ เช่น รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ที่เป้าหมายของการสร้างไม่ใช่เพื่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง แต่สร้างเพื่อทำให้เมืองโตเกียวกับโอซาก้าเชื่อมต่อกัน ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงฯ คือ เครื่องมือเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ กระจายความเจริญ สร้างฮับใหม่ๆ และช่วยขับเคลื่อนโครงการ EEC 2. พัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญขนาดใหญ่ต้องทำให้เข้าถึงใจของคนส่วนใหญ่ เช่น การใช้แนวคิดฝนตกทั่วฟ้า ที่ต้องให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม แม้แต่ละคนมีต้นทุนที่ต่างกัน แต่โครงการนี้จะเป็นตัวช่วยทำให้ต้นทุนของทุกคนใกล้กัน 3. สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การดำเนินโครงการจะต้องคำนึงถึงการปกป้องธรรมชาติ รักษาสมดุลของระบบนิเวศ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอดีและสมดุล ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“โครงการนี้จึงต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน ใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน นั่นคือการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงความยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ คู่ขนานกับการสร้างจุดเด่นให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสามารถช่วยพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ โดยสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวสีเขียว และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้จังหวัดที่รถไฟแล่นผ่าน”
ผศ. ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
“น้อมนำศาสตร์พระราชา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’
ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องเน้นการน้อมนำศาสตร์พระราชา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
“ต้นน้ำ คือ สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เข้าถึงความคาดหวังชุมชนที่มีต่อโครงการผ่านกระบวนการวิจัยชุมชนและรับฟังความคิดเห็น ตอบโจทย์ 4 ประเด็น คือ ประโยชน์จากรถไฟฟ้า ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงการเตรียมการเพื่อลดผลกระทบ
“กลางน้ำ คือ สร้างความเชื่อมั่นผ่านการสร้างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และสร้างพันธสัญญากับพันธมิตรหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อให้เห็นประโยชน์ของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายในพื้นที่เชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ เกิดการยอมรับ และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของรถไฟความเร็วสูงร่วมกัน
“ปลายน้ำ คือ การพัฒนาใน 4 มิติ คือ พัฒนาโครงการ ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย พัฒนาบุคลากร ผ่านการให้ทุนสนับสนุน รองรับการจ้างงานในพื้นที่ พัฒนาชุมชน ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างธุรกิจชุมชน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น SMEs สตาร์ตอัพ พัฒนาประเทศ สร้างศักยภาพและเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างความสมดุลในระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี”
ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี
“ส่งเสริมสินค้าชุมชน สนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs
กระจายรายได้อย่างทั่วถึง”
“โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จะต้องเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ไม่เพียงแค่พื้นที่ตามสถานีเท่านั้น แต่ต้องขยายไปยังพื้นที่รอบจังหวัดที่รถไฟผ่านด้วย โดยต้องสร้างความร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออก ร่วมมือกับสถาบันศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการทั้งในระดับชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ จัดสัมมนาสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกหอการค้าภาคตะวันออกเพื่อเพิ่มการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการและชุมชนท้องถิ่นได้ทั่วถึงมากขึ้น และสนับสนุนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
“ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร การพัฒนาด้านการทำตลาด ฯลฯ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงฯ จะสร้างให้เกิดความร่วมมือที่ช่วยยกระดับสินค้าและบริการ สามารถพัฒนาให้สินค้าและบริการของชาวชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของบริการรถไฟความเร็วสูงฯ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน ชุมชน และสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ต่อพงศ์ เสลานนท์ อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
“ต้องสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้นแก่ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ”
“โครงการนี้ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ โดยมีปัจจัยที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน คือ 1. Infrastructure สถานีรถไฟควรมีการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบโดยสารรูปแบบอื่น เพื่อให้ผู้พิการไปถึงปลายทางได้ง่ายที่สุด 2. Price ผู้พิการควรได้รับสิทธิ์ใช้บริการฟรี หรือสิทธิ์ในการทดลองใช้ฟรีในช่วงแรก 3. System ออกแบบโครงการทั้งตัวรถไฟ สถานี และระบบต่างๆ ในรูปแบบ Universal Design 4. Service ให้บริการที่รองรับผู้พิการ
“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการ 1.8 ล้านคน ซึ่งใน 5 จังหวัดของพื้นที่ EEC มีผู้พิการอยู่ประมาณ 2 แสนคน ดังนั้น จะต้องทำให้คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลับเข้าสู่ Supply Chain ของสังคม และได้รับประโยชน์จากการบริการรถไฟความเร็วสูงฯ”
ที่มา วารสารบัวบาน ประจำเดือนธันวาคม
ที่มา : https://www.easternhsr.com/News/nDetail/articleid/222
http://www.cp-enews.com/news/details/cpinternal/4522
“ซีพี” ตั้ง 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพัฒนารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน