นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร ยอดขายตอนนี้ฟื้นกลับมาเกือบ 80% แล้ว หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ร้านอาหารส่วนใหญ่ขายของได้ดีมากขึ้น แต่จากปัญหาราคาสินค้าหลายรายการที่ปรับแพงขึ้น อาทิ น้ำมันปาล์ม จากเดิม 45-50 บาทต่อขวด ปัจจุบันเป็น 60-70 บาทต่อขวด ปรับขึ้นสูงมาก ทำให้ต้นทุนสูงมากกว่าเดิม ประมาณ 10% ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
แม้จะสามารถขายของได้ดีมากขึ้น แต่หากประเมินรายได้ที่หักต้นทุนออกไปแล้ว พบว่ากำไรก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ปัญหาต้นทุนของวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับร้านอาหารขนาดเล็กมากกว่า เพราะสายป่านสั้นกว่า ผลกระทบจึงชัดเจน และเห็นเร็วแบบทันทีทันใด รวมถึงธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก จำพวกสตรีทฟู้ด จะมีการแข่งขันสูงมาก เพราะร้านอาหารมีจำนวนมากขึ้น และตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้เร็ว เหมือนต้นทุนที่ปรับขึ้นเร็ว ซึ่งคาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจได้แบบเร็วที่สุด
“ปัญหาที่พบในตอนนี้คือ แรงงานที่หายไป ไม่สามารถรับลูกค้าได้เท่าเดิมได้ รวมถึงข้อจำกัดของมาตรการป้องกันโควิด อาทิ การจำกัดคนเข้าพื้นที่ เว้นระยะห่างมากขึ้น ไม่สามารถจัดงานอีเวนต์ใหญ่ๆ ได้เหมือนปกติ อาทิ งานแต่งงาน งานเฉลิมฉลองต่างๆ ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่จะมีรายได้เข้ามาจากการขายอาหารในรูปแบบนี้มากเช่นกัน ทำให้แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่สามารถกลับมาแบบ 100% เหมือนเดิมได้แน่นอน ขณะนี้จึงเห็นเพียงแค่ภาพของธุรกิจที่ยังดำเนินไปได้ แต่จะสดใสเหมือนเดิมหรือไม่ ก็แล้วแต่ความสามารถในการบริหารจัดการของร้านอาหารแต่ละราย โดยภาพรวมส่วนใหญ่คงไม่สามารถดีเท่าเดิมได้” นางฐนิวรรณกล่าว
นางฐนิวรรณกล่าวว่า การปรับขึ้นของราคาน้ำมันขึ้นมีผลกับค่าขนส่งโดยตรง ยิ่งหากปรับขึ้นไปอีก 20% เหมือนที่ภาคเอกชนบอกไว้ กลุ่มธุรกิจจะแบกรับผลกระทบไม่ไหว เพราะการขึ้นค่าขนส่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการทุกอย่างปรับขึ้นตาม ร้านอาหารขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบแบบทันที เพราะจะซื้อวัตถุดิบเตรียมไว้ล่วงหน้า หรือทำสัญญาระยะยาวไว้อยู่แล้ว ทำให้ควบคุมต้นทุนได้ แต่จะมีผลมากขึ้นในระยะยาว รวมถึงมีผลกับประชาชากลุ่มฐานราก หรือพนักงานต่างๆ โดยเฉพาะคนเดินดินกินข้าวแกงที่มีรายได้แบบวันต่อวัน นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหารยังถูกกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะการระบาดโควิด-19 อยู่แล้ว อาทิ การต้องเพิ่มเจลแอลกอฮอล์ บรรจุภัณฑ์ป้องกันภาชนะในร้านอาหาร การทำความสะอาดบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะการต้องตรวจเอทีเคให้กับพนักงาน
ที่มา มติชน