นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผยโอกาสพลิกเทสโก้โลตัสสู่การจัดการ โซ่อุปทานสีเขียว หลังซีพีประกาศนโยบายเครือฯ องค์กรขยะเป็นศูนย์ (Zero Food Waste Policy)

หลังจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ไฟเขียวให้กลุ่มซีพีควบรวมกิจการของ เทสโก้ โลตัส ภายใต้เงื่อนไขหลายๆ อย่าง ที่ทำให้คู่ค้าสบายใจ รักษาการจ้างงาน คงไว้ซึ่งประโยชน์ผู้บริโภคและคู่ค้า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่กลุ่มซีพีประกาศจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น การควบรวมกิจการ เป็นโอกาสในการปรับปรุงกระบวนการสู่ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นเงื่อนไข สำคัญสำหรับความสำเร็จทางธุรกิจและได้รับการยอมรับว่า การจัดการ เชิงกลยุทธ์ที่เน้นความยั่งยืนสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

ทั้งนี้ การกำหนดเข็มทิศธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญ ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี กล่าวว่า เครือซีพีและบริษัทในเครือ ได้ประกาศ 2 เป้าหมายท้าทายระดับโลก Zero Waste” และ “Zero Carbon” ชูบทบาทความรับผิดชอบของภาคเอกชนที่มีต่อสังคมโลกและสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่า นโยบายนี้จะต้องนำมาปฏิบัติในสายธุรกิจของเทสโก้ โลตัสหลังเปลี่ยนมือเจ้าของจากสหราชอาณาจักร กลับมาอยู่กับซีพีอีกครั้ง

ในปี พ.ศ. 2549 เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศที่จะรับมือกับปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของเทสโก้ โลตัส ลงอย่างน้อย 50% ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563 หรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จากปริมาณ 320,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2549 ให้เหลือปริมาณ 160,000 ตัน ในปี พ.ศ.2563 ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่าน หรือคิดเป็นครึ่งทางของ “เส้นทางสีเขียว” ของบริษัทฯ เทสโก้ โลตัส สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจได้ถึง 30% ผ่านนวัตกรรมต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นเพื่อพัฒนาระบบการปฏิบัติงาน

รศ.ดร.สถาพร กล่าวต่อว่า เนื่องจากการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในกลุ่มลูกค้า ไปจนถึงความต้องการรับรู้ถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมดตลอดโซ่อุปทาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนของโซ่อุปทานมากกว่าในอดีต

ตัวอย่างของความพยายามในการจัดการโซ่อุปทานที่ยั่งยืนได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือดิสเคาน์สโตร์ ที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในโซ่อุปทานของสินค้าอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้เนื่องจาก ไฮเปอร์มาร์เก็ตถูกมองว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีส่วนในการก่อมลพิษ และสร้างภาวะโลกร้อน จากการพึ่งพาระบบโลจิสติกส์และเครือข่ายการกระจาย สินค้าในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การจัดการโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain Management) ที่มุ่งลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศอันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์และกิจกรรมอื่นๆ ในโซ่อุปทาน จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

จากการที่ผู้ค้าปลีกเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจต่อรองสูงสุดในโซ่อุปทานสินค้ารองมาจากผู้บริโภคไฮเปอร์มาร์เก็ต จึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทาน ดังจะเห็นได้จากกรณีของ Walmart บริษัทค้าปลีกข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ที่ดำเนินธุรกิจเครือข่ายดิสเคาน์สโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนอกจากแคมเปญ Everyday Low Price ที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยการจัดการโซ่อุปทานที่ดีแล้ว Walmart ยังให้ความสำคัญกับการจัดการโซ่อุปทานสีเขียวด้วยการตั้ง 3 เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม คือ

  1. ใช้พลังงานหมุนเวียนในการขนส่งสินค้า
  2. ทำของเสียในระบบให้เป็นศูนย์
  3. จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการปฏิบัติงานในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การแก้ปัญหาการวิ่งรถกลับเที่ยวเปล่า โดยให้รถบรรทุกไปรับสินค้าจากซัพพลายเออร์ก่อนตีรถกลับไปที่ศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งสามารถประหยัดเชื้อเพลิงและลดมลพิษทางอากาศจากการวิ่งรถเที่ยวเปล่า การร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้

นอกจากจะประหยัดต้นทุน ช่วยให้จัดเก็บสินค้าได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการทำขยะให้เป็นศูนย์ตลอดโซ่อุปทาน โดยใช้แนวทาง 3Rs คือ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle)

แม้ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจค้าปลีกไปแล้ว แต่ยังมีความท้าทายต่างๆ ที่ภาคธุรกิจต้องตระหนักถึง หากจะดำเนินการ โซ่อุปทานสีเขียว เช่น การขายน้ำดื่มบรรจุขวด ที่แม้จะไม่อยู่ในลักษณะของผลิตภัณฑ์สีเขียว แต่ก็ไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากยังเป็นสินค้าที่ลูกค้ามีความต้องการสูง

นอกจากนี้ การวัดระดับและจัดประเภทผลิตภัณฑ์สีเขียวหรือผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากที่จะระบุได้ว่า ผลิตภัณฑ์ใดเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน” มากกว่ากัน เนื่องจากการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถพิจารณาได้หลายมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น

สุดท้าย การผลักดันนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยังเป็นที่ถกเถียง ถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้กลับมาเป็นตัวเงิน โดยเฉพาะกับลูกค้าหรือซัพพลายเออร์รายย่อย ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์น้อยกว่าที่รายใหญ่ได้รับ

ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 สู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านความยั่งยืน ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยประกาศ 2 เป้าหมายความยั่งยืนใหม่ที่ท้าทายและต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2030 คือ  1. การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste ลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์    2.การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

ดังนั้น จึงวนกลับมาที่หลักการสำคัญของการจัดการโซ่อุปทานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของสมาชิกทั้งหมดของโซ่อุปทาน และการมองผลประโยชน์ ในภาพรวมที่ไม่ใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมุ่งสร้างผลในเชิงบวกให้กับการดำรงอยู่ของมนุษยชาติเป็นสำคัญ จึงจะสามารถทำให้การจัดการโซ่อุปทานที่ยั่งยืนเป็นไปด้วยความยั่งยืนอย่างแท้จริง

Cr.ข่าวสด