“บิ๊ก ซี.พี.” แนะพลิกวิกฤตโควิดรีฟอร์มประเทศ คืนความแข็งแกร่ง ศก.ไทย ปลดล็อกต่างชาติลงทุน อสังหาริมทรัพย์ “เครื่องยนต์ใหม่” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนท่องเที่ยวซบยาว ปูพรมปฏิรูปทุกเซ็กเตอร์ “ดิจิทัล-การศึกษา-เกษตร 4.0” มั่นใจปีหน้าอานิสงส์มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเยียวยาโควิดสะพัดทั่วโลก ชี้ไทยต้องใช้เงินให้ฉลาดทั้งประคอง-ปฏิรูปสร้างอนาคต เตือนอย่าทิ้งเอสเอ็มอี กระทบพีระมิดประเทศ เสนอรัฐขยายรถไฟไฮสปีดอู่ตะเภาเข้าระยอง บูม EEC ครบวงจร
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมุมมองต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และปีหน้าว่า ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ในไตรมาส 3 ปีนี้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 แต่อาจกลับมาติดลบเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้วยังมีรายได้ จากการท่องเที่ยว
ดังนั้นเฉลี่ยทั้งปีนี้แล้วน่าจะติดลบ 6% ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า มีโอกาสกลับมาเกือบเท่าปี 2562 และเท่ากับหรือสูงกว่าในปี 2565
“ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องดูอีกมาก ถ้าถามว่าปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาได้ตามที่ IMF คาดการณ์ไว้หรือไม่ เฉพาะเรื่องการส่งออกที่ไม่ควรกระทบมาก แต่ถ้าเกิด pandemic ในเชิงเศรษฐกิจ หรือมีการถดถอยระดับโลก การส่งออกสินค้าบางอย่างก็คงได้รับผลกระทบ จึงต้องจับตาดูต่อว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป”
อย่างไรก็ตาม การจะประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปีหน้าและปีถัดไปให้ไปต่อได้ จะต้องสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่มาชดเชยภาคการท่องเที่ยว เพราะคงจะไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้เท่าเดิมในระยะ 1-2 ปีนี้ได้
New Engine แทนท่องเที่ยว
คุณศุภชัยกล่าวว่า การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้น่าจะเป็นเครื่องจักรใหม่ (new engine) ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือเป็น fundamental ที่มีผลกับการเติบโตของเศรษฐกิจและเป็นอุตสาหกรรมใหญ่
“ถ้าเราสร้างเงื่อนไขที่ถูกต้องก็จะดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาได้ เช่น อาจกำหนดให้เข้ามาลงทุนอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแนวทางคัดกรอง การตรวจสอบประวัติต่างๆ แบบเดียวกับที่อเมริกาให้กรีนการ์ด หรือสิงคโปร์ก็ได้”
ฉวยจังหวะปฏิรูปประเทศ
นอกจากนี้ หากประเทศไทยต้องการกลับมาแข็งแรงกว่าเดิม (comeback stronger) หลังวิกฤตโควิด-19 ได้ ก็ควรใช้จังหวะนี้ปฏิรูป (reform) ด้านต่างๆ ตั้งแต่การศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (digital divide) ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น เพราะแม้โทรศัพท์มือถือจะมีการใช้งานแพร่หลาย แต่ก็เป็นในเรื่องความบันเทิงและโซเชียลมากกว่า
“โควิดผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ ปรับตัว และรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ทำให้โลกเปลี่ยนเร็วขึ้น ทั้งเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรมต่างๆ ทุกอย่างโกออนไลน์ สะเทือนไปทั้งหมด แต่เราต้องทำงานหนักขึ้น ถ้าอยาก comeback stronger นี่จึงเป็นโอกาสที่จะรีฟอร์มตัวเอง ตั้งแต่บริษัท ระบบเศรษฐกิจ ปฏิรูปวิถีชีวิตเรา ปฏิรูประบบการศึกษา ถ้าเราไม่รีฟอร์มก็จะคัมแบ็กสตรองเกอร์ไม่ได้ ที่ผมห่วงคือความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ดังนั้น ต้องฝึกตัวเอง ลูกหลาน และคนสูงอายุให้สามารถรับมือเทคโนโลยีได้ คำว่า smart nation ไม่ใช่แค่เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ แต่จะเป็นเรื่องสุขภาพที่ดี การใช้เอไอมาพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมถึงการมีอินโนเวชั่นมากขึ้น”
ปฏิรูปสหกรณ์-ชลประทาน
สำหรับการปฏิรูปภาคการเกษตร แม้ไทยจะมีจุดแข็งด้านนี้ แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพใน 2 ด้าน 1.น้ำ มีมาสเตอร์แพลนลงทุนระบบชลประทาน ให้ครอบคลุมพื้นที่สัดส่วน 6% ของพื้นที่ทางการเกษตรที่มี 120 ล้านไร่ โดยอย่ามองเป็นโครงการลงทุนระยะสั้นที่ต้องคืนทุน เพราะระบบชลประทานเปรียบได้กับการสร้างถนน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจ
และ 2.มีการนำระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่มาพัฒนาด้านการเกษตรไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยดึงธุรกิจเอสเอ็มอี หรือเอกชนที่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านต่างๆ มาช่วยเกษตรกรในพื้นที่ ในลักษณะที่เรียกว่า “เซอร์วิสฟาร์มมิ่ง” โดยดำเนินการในรูปแบบบริษัทที่มี “สหกรณ์” ในแต่ละพื้นที่เป็นเจ้าของ
“สหกรณ์เป็นเจ้าของ แต่ไม่ได้คุมโดยกฎระเบียบของสหกรณ์ ซึ่งรัฐอาจให้ government incentive ดึงเอกชนขนาดใหญ่มาช่วย เช่น ปตท. เอสซีจี ไทยพาณิชย์ เป็นต้น สิ่งแรกที่ต้องทำเลย คือ ออกแบบแลนด์สเคปว่าแต่ละพื้นที่มีระบบน้ำ เหมาะจะปลูกอะไรเพื่อต่อยอดเป็นสินค้าอะไร และให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการประกันรายได้แบบยั่งยืน ต่อยอดสหกรณ์ที่มี 5,000 แห่งทั่วประเทศ”
ปั้น NEC/SEC ดึงดูดบิ๊กบอย
คุณศุภชัยกล่าวว่า ด้านการลงทุน ไทยควรพัฒนาแหล่งลงทุนใหม่กระจายทั่วประเทศ จากปัจจุบันไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ควรสร้างโมเดลนี้ให้เกิดขึ้นในภาคอื่นๆ เช่น เหนือ (NEC) และภาคใต้ (SEC) โดยดึงจุดแข็งแต่ละพื้นที่ขึ้นมา เช่น ภาคเหนือมีพรมแดนติดลาว และจีนตอนใต้ ต้องค้าขายกับจีนเป็นประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 โลก แล้วลงใต้ติดมาเลเซีย และอันดามัน ไปถึงอินเดีย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย
เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ต้องพัฒนา “Industry 4.0” รัฐต้องให้แรงจูงใจในเชิงรุก เพื่อดึงผู้เล่นระดับโลก (global player) หรือบิ๊กบอย ในแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามา เช่น เทสล่ามาลงทุน EV หากสำเร็จจะดึงดูดผู้เล่นรายอื่นเข้ามาด้วย เช่น ถ้ากูเกิลคลาวด์บอกจะมาตั้งศูนย์ทั้งหมดที่ประเทศไทย องคาพยพทั้งหมดก็มา อะเมซอนคลาวด์ต้องมา เพราะมีคนมาให้เซอร์ติฟายว่า ไทย คือ The Right Place ด้านการลงทุน นี่จะช่วยเอสเอ็มอีไทยขยายตัวตามไปด้วย
“เทียบกับเวียดนามเขาใช้วิธีนี้ดูดการลงทุนเชิงรุก ชี้เป้าแล้วเข้าหาเลย เวียดนามมีจุดแข็งที่ประชาชนวัยทำงานเยอะ ส่วนประเด็นที่ไม่เข้าร่วม CPTPP อันนั้นไม่เกี่ยว เป็นการค้าเสรี แต่เราต้องมีเงื่อนไขที่ทำให้เค้ามั่นใจว่าถ้าลงทุนที่นี่แล้วจะได้ base ที่นี่ แล้วเป็นจุด competitive ที่สุด”
กระตุ้น ศก.-ช่วยเอสเอ็มอีเด็กดี
โควิดเป็นวิกฤตที่ใหญ่ทำให้เกิดการกล้าตัดสินใจทั่วโลก ซึ่งในสถานการณ์ปกติคงไม่กล้าสร้างบัดเจตขนาดนี้ ถ้าประคองไว้ไม่ไหว การบริโภคก็อาจลดลง ถ้าการบริโภคลดลง ก็จะเกิดความไม่แน่นอน (instability) ทางการเมือง
“ที่สำคัญคือ เอสเอ็มอี ถ้าล้มลงไปเพิ่มเรื่อยๆ ก็เหมือนกับเราเลี้ยงลูกมาเป็นสิบปี กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ แล้วปล่อยให้ตายป่วย เขาคือ กำลังสำคัญของประเทศ จ่ายภาษีมาตลอด พอเจอวิกฤตไปปีสองปีตายก็เสียดาย กลุ่มเอสเอ็มอีที่เรารู้ว่ายืนระยะกลาง ยาวดีแน่ ก็ควรจะช่วยให้ไปต่อได้ แต่ก็มีที่ไม่ปรับตัวเลย ยังไงก็แข่งไม่ได้ ก็อีกเรื่อง ถ้าไม่ช่วย พีระมิดของระบบเศรษฐกิจจะมีปัญหา ซึ่ง ซี.พี. เข้าก็ไปช่วยซัพพลายเออร์เอสเอ็มอีด้วย เพราะถ้าประเทศไม่ดี เราก็ไม่ดี”
ซี.พี.-ทรูปรับตัวโกออนไลน์
คุณศุภชัยกล่าวถึงภาพรวมกลุ่มธุรกิจในเครือ ซี.พี.และทรูด้วยว่า ธุรกิจเกษตรไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่กลุ่มค้าปลีกได้รับผลกระทบในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนโทรคมนาคมทรงตัว เพราะมีส่วนที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวลดลง การใช้บริการโรมมิ่งและซิมต่างประเทศ ซิมระหว่างประเทศ แต่การใช้งานโดยรวมเพิ่ม เช่น การใช้ดาต้า และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เป็นต้น แต่รููปแบบการทำงานได้ปรับตัวสู่การเป็นออนไลน์ หรือดิจิทัลเวิร์กเพลซเกือบทั้งหมดแล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์เป็นต้นมา
“โควิดทำให้โลกทั้งโลกเปลี่ยนเร็วขึ้น เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเปลี่ยน ต้องออนไลน์หมด โซเชียลก็เปลี่ยนเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ ต่อไปออฟฟิศจะเหมือนเป็นพื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวก ช่วยให้เกิดการร่วมไม้ร่วมมือ แต่ไม่ใช่ที่มานั่งทำงาน จะกลายเป็น hot seat มากขึ้น พนักงานก็จะมีประเภทว่างานแบบนี้ต้องมาทุกวัน แบบนั้นเข้าอาทิตย์ละครั้ง หรือเดือนละครั้งก็พอ”
“เอกชนเรามีความคล่องตัวในการปรับตัว กังวลไหม กังวล แต่มีทางออก อาจเป็นโอกาส หรือปรับตัวไปหา หรือปรับไม่สำเร็จก็ลดคอสต์ เรายังมีวิธีการที่ประคับประคองตัวเรา เราก็ต้องทำ แต่ถ้าเอกชนที่ไม่ปรับตัว หรือปรับไม่ได้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็เหนื่อย ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มจะปรับตัวได้เร็ว และดีแค่ไหน บางอินดัสทรีก็ต้องประคองเยียวยา”
ลุยอัพเกรดแอร์พอร์ตลิงก์
คุณศุภชัยกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท หลังเซ็นสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ถึงขณะนี้การเดินหน้าโครงการอยู่ในกรอบเวลา รอการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างจากภาครัฐ ออกแบบรายละเอียดและหาแหล่งเงินทุนก่อสร้าง คาดว่ารัฐจะส่งมอบพื้นที่ให้ไม่เกินไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ในช่วงแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แต่ต้องไม่เป็นการส่งมอบพื้นที่แบบฟันหลอ เนื่องจากเจรจากับสถาบันการเงินให้กู้ค่อนข้างยาก โดยในแผนงานรัฐแบ่งการส่งมอบพื้นที่เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงดอนเมือง-พญาไท ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงก์ และช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
“ถ้ารัฐส่งมอบพื้นที่ได้ ก็เริ่มงานก่อสร้างได้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ในปีหน้าคาดว่าจะใช้เงินลงทุนระยะแรกหลายหมื่นล้านบาท มีค่าใช้สิทธิเดินรถและค่าดำเนินการแอร์พอร์ตลิงก์ ค่าก่อสร้างที่จ่ายตามระดับความคืบหน้า”
ย้ายสถานีใหม่พัฒนา TOD
คุณศุภชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการก่อสร้างจะขอรัฐย้ายตำแหน่งสถานีใหม่เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ด้านวิศวกรรม ภูมิศาสตร์และประชากรศาสตร์ ให้เกิดความสะดวก และเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) ซึ่งบริษัทมีแผนจะพัฒนาทุกสถานีในแนวเส้นทาง แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เนื่องจากจุดที่ตั้งสถานีเป็นที่สนใจของแลนด์ลอร์ด นักลงทุนพัฒนาอสังหาทรัพย์ จะทำให้จัดหาที่ดินเพื่อสร้างสถานีที่จะต้องไปซื้อที่ดินเพิ่มไม่สามารถทำได้ง่าย ทั้งนี้ การปรับตำแหน่งสถานีจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาโครงการให้ล่าช้า
“รถไฟความเร็วสูงจะทำให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ เกิดการขยายตัวของเมือง แต่คงไม่ถึงขั้นเป็นเมืองใหม่ เพราะการสร้างเมืองใหม่ต้องใช้พื้นที่เป็น 10,000 กว่าไร่ และไม่ง่าย อย่างมักกะสันก็ไม่ใช่เมืองใหม่ เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเรากำลังออกแบบ ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะกระบวนการออกแบบเยอะ และยากกว่าการสร้าง”
ต่อไฮสปีดถึงระยอง ฐาน EEC
คุณศุภชัยกล่าวอีกว่า รัฐควรจะต่อยอดรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน จากอู่ตะเภา-ระยอง-ตราด เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับกัมพูชา แต่เบื้องต้นลงทุนสร้างไปถึง จ.ระยองก่อน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หลังเห็นว่ารัฐมีความมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งมารองรับอีอีซี ทั้งสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูง ถือว่าอีอีซีเป็นพื้นที่น่าลงทุน
ร.ฟ.ท.จ่อเปิด PPP
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายระยอง-จันทบุรี-ตราด มีระยะทางประมาณ 190 กม. ล่าสุด ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30-50 ปี วงเงินลงทุน 122,238 ล้านบาท แบ่งการลงทุน 4 เฟส ระยะแรกอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 20,510 ล้านบาท