ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือ 4.3% หลังภาวะเศรษฐกิจโลกฉุดส่งออก คาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยหนุน GDP ครึ่งปีหลังขยายตัวสูงขึ้น
ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยในปีนี้ลงมาเหลือ 4.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5% จากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ออกมาต่ำกว่าคาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่สดใส และโอกาสที่จะมีความล่าช้าในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมีการเลือกตั้ง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้เพียง 2.9%
อย่างไรก็ดี หากมองไปในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าบรรยากาศการเมืองที่คาดว่ารัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานได้อย่างเต็มที่ และออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม ประกอบกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของภาคการท่องเที่ยวจากอานิสงส์ของการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน จะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น
“เราคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะเติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นกว่าการเติบโตที่ 2.9% ในครึ่งปีแรก นอกจากนี้ เรายังปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 ขึ้นเป็น 25 ล้านคน จากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ 15-20 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนประมาณ 5 ล้านคนในปีนี้ และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่น่าจะหนาแน่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป” ทิมกล่าว
ทิมกล่าวอีกว่า ธนาคารยังคงมีมุมมองที่เฝ้าระวังต่อดุลบัญชีการค้าไทยในปีนี้ สาเหตุมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าที่ยังคงมีมูลค่าสูง โดยความเคลื่อนไหวเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลังและการนำเข้าของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น การส่งออกและนำเข้าที่สอดคล้องกันอาจช่วยลดการขาดดุลการค้า
ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 2.1% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.7% โดยอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สอดคล้องกับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ 1.2% ในไตรมาสที่ 3 และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6% ในไตรมาสที่ 4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว
“เงินเฟ้อและการบริโภคจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐบาลใหม่ ในส่วนของปัจจัยด้านอุปทาน ราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งสนับสนุนมุมมองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้น” ทิมกล่าว
สำหรับมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ 2% ในสิ้นปีนี้ แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก แต่ดัชนีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทยประกอบกับมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจเชิงบวกของ ธปท. น่าจะทำให้ ธปท. ยังดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบาย
ด้านมุมมองต่อค่าเงินบาท คาดว่าภาพรวมในระยะกลางสำหรับค่าเงินบาทยังคงดี แม้ว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว น่าจะเป็นผลดีต่อบัญชีทุนและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้จะอยู่ที่ 3.6% ของ GDP