ศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศ (Climate Prediction Center) แห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration:NOAA) ได้ออกรายงานเตือนภัยเอลนีโญ “El Nino watch” เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาในสหรัฐ โดยระบุว่ารูปแบบสภาพอากาศคาดว่าจะก่อตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
การเตือนภาวะเอลนีโญจะออกเมื่อเงื่อนไขเอื้อต่อการก่อตัวของเอลนีโญ ภายใน 6 เดือนข้างหน้า ในขณะนี้ที่สภาพอากาศได้เข้าสู่สภาวะ “เป็นกลาง ENSO” ซึ่งหมายความว่าไม่มีทั้งลานีญาและเอลนีโญเป็นกลาง มีโอกาส 62% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2566 หลังจากลานีญาเกิดขึ้นต่อเนื่องเกือบสองปี
เอลนีโญครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2561-2562
El Nino-Southern Oscillation หรือ ENSO เป็นการเรียกรวมของปรากฏการณ์เอลนีโญกับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation) ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ระหว่างปรากฏการณ์ในมหาสมุทร หรือน้ำ และบรรยากาศ คือ ลม ซึ่งมีผลอย่างมากต่ออากาศและรูปแบบสภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่ของโลก
เอลนีโญเป็นช่วงที่อากาศร้อนของ ENSO เมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้นและมีฝนตกมากกว่าปกติในบริเวณที่ทอดยาวจากตอนกลางไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก
นักวิทยาศาสตร์ของ NOAA จะยังคงติดตามการแนวโน้มของเอลนีโญ และจะอัปเดตประจำเดือนครั้งถัดไปในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566
การคาดการณ์ของสอดคล้องกับการพยากรณ์ด้วยแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของหลายสำนักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก ที่เตือนว่า….
โลกอาจเผชิญกับปรากฏการณ์’ซูเปอร์เอลนีโญ’ในปลายปีนี้
ปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจเกิดขึ้น เป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภัยพิบัติสภาพอากาศทั่วโลก
แบบจำลองบางโมเดลเพิ่มความเป็นไปได้ในปลายปีนี้ที่จะเกิดปรากฏการณ์สุดขั้วหรือ “ซูเปอร์เอลนีโญ” ซึ่งมีอุณหภูมิสูงมากในบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตร
ปรากฏการณ์เอลนีโญสุดขั้วครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2559 ที่ดันอุณหภูมิโลกให้พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ทำให้เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง และโรคระบาด
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียได้ทำการวิเคราะห์แบบจำลองที่แตกต่างกันถึง 7 โมเดล ทั้งจากสำนักงานด้านสภาพอากาศในอังกฤษ ญี่ปุ่นและสหรัฐ ซึ่งทั้งหมดบ่งชี้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลจะทะลุเกณฑ์การก่อตัวของเอลนีโญภายในเดือนสิงหาคม
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียเตือนว่า่ “มีโอกาสเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญประมาณ 50% ก่อนสิ้นปี 2566”
แต่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียและนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเตือนว่า การคาดการณ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้อาจจะใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงดูแนวโน้ม “ด้วยความรอบคอบ”
ลักษณะของปรากฏการณ์เอลนีโญคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างน้อย 0.8 องศาเซลเซียส เหนือค่าเฉลี่ยระยะยาวในพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่เอลนีโญแบบสุดขั้วมีอุณหภูมิในพื้นที่นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 องศาเซลเซียส
การคาดการณ์หลายแบบจำลองบ่งชี้ว่าอุณหภูมิอาจสูงขึ้นได้ภายในเดือนตุลาคม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ย้ำเตือนอีกครั้งให้ใช้ผลการพยากรณ์ด้วยความระมัดระวัง
ดร. ไมค์ แมคฟาเดน นักวิจัยอาวุโสของ NOAA กล่าวว่า ในอดีต เอลนีโญมักจะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปีหรือประมาณนั้น
“เรากำลังจะเจออีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขนาดของปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดการณ์ไว้นั้นแสดงให้เห็นการกระจายที่กว้างมาก ตั้งแต่ขนาดใหญ่มากไปจนถึงระดับอ่อนมาก”
ดร.แมคฟาเดนกล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งใหญ่มักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ถึง 15 ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่อง “ผิดปกติมาก” ที่จะเห็นปรากฏการณ์เอลนีโญในเร็ว ๆ นี้หลังจากเกิดครั้งใหญ่ล่าสุดในปี 2558 และ 2559
“ปรากฏการณ์เอลนีโญขนาดใหญ่ มีผลไปทั่วโลกทั้งความแห้งแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน และพายุที่รุนแรง ซึ่งถ้าเกิดขึ้น เราจะต้องระวังตัว แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาด เราควรระวังและเตรียมพร้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
ดร.แมคฟาเดนและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ชี้ว่าในปี 2547 มีการคาดการณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ปรากฏการณ์เอล นีโญที่รุนแรงที่สุดในศตวรรษนี้เริ่มขึ้นในปีถัดมา จากการให้ข้อมูลของดร.อากุส ซานโตโซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมหาสมุทรแปซิฟิกจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์
ดร.ซานโตโซ กล่าวว่า ตั้งแต่การสังเกตการณ์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในทศวรรษที่ 1950 มีปรากฏการณ์เอลนีโญสุดขั้วเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือปี 2525 ถึง 2526 ปี 2540 ถึง 2541 และปี 2558 ถึง 2559 นักวิทยาศาสตร์บางคนยังจัดว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2515 ถึง 2516 เป็นเหตุการณ์รุนแรง
แคทเธอรีน กันเตอร์ นักภูมิอากาศวิทยาแห่งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียกล่าวว่า สำนักงานฯยังเฝ้าติดตามอุณหภูมิในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมี “ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” ของสภาวะการณ์ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งแล้งขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้และตอนกลางของประเทศ ยิ่งทำให้ผลกระทบของเอลนีโญหนักขึ้น
สำหรับออสเตรเลีย ความแรงของเอลนีโญไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความแรงของผลกระทบเสมอไป แต่แคทเธอรรีนกล่าวว่า “ในช่วงเอลนีโญ มักจะเห็นปริมาณน้ำฝนลดลงทั่วภาคตะวันออกของออสเตรเลียในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ และเรายังเห็นอุณหภูมิกลางวันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่ 2 ใน 3 ทางตอนใต้ของประเทศด้วย”
สภาวะเหล่านั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและคลื่นความร้อน
การศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าในขณะที่ความร้อนของโลกยังคงเพิ่มขึ้น โอกาสที่โลกจะประสบกับปรากฏการณ์เอลนีโญขั้นรุนแรงก็สูงขึ้นเช่นกัน
ในออสเตรเลีย เอลนีโญเพิ่มความเสี่ยงต่อภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่าทางตะวันออกของประเทศ และสำหรับแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวจำนวนมาก
ในระดับโลก ปรากฎการณ์เอลนีโญก่อนหน้านี้ได้ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นจนเป็นประวัติการณ์ แลมีผลให้น้ำท่วมและดินถล่มในอเมริกากลาง ภัยแล้งในอเมริกาใต้ และมรสุมที่ล่าช้าในอินเดีย เอลนีโญที่แรงที่สุดในศตวรรษนี้ซึ่งอยู่ในช่วงตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2559 มีความเชื่อมโยงกับการระบาดของโรคทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอหิวาตกโรคและไข้เลือดออก
เหตุการณ์ทางภูมิอากาศอาจมีผลกระทบรุนแรงตั้งแต่คลื่นความร้อนที่แผดเผาไปจนถึงพายุที่แรงขึ้น จากการที่เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลก สภาพอากาศ และสิ่งมีชีวิตในทะเล
เอลนีโญ คืออะไร?
ปรากฎการณ์เอลนีโญ มีส่วนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงขึ้น ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิของมหาสมุทรและลมในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ผันแปรระหว่างเอลนีโญที่ร้อนขึ้นและลานีญาที่เย็นลง
และมีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าปีนี้จะร้อนกว่าปี 2565 และเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 5 หรือ 6
ผลกระทบของเอลนีโญต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะสัมผัสได้ และอาจหมายถึงปี 2567 ที่อุณหภูมิทำลายสถิติ
เอลนีโญส่งผลต่อสภาพอากาศอย่างไร?
เอลนีโญผลักน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางตะวันออก ทำให้กระแสลมกรดแปซิฟิก(Pacific jet stream )เคลื่อนตัวไปทางใต้จากตำแหน่งที่เป็นกลาง
ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งและอุ่นขึ้นทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา และฝนตกหนักและน้ำท่วมในชายฝั่งอ่าวของสหรัฐอเมริกาและทางตะวันออกเฉียงใต้
ในยุโรป อาจนำไปสู่ฤดูหนาวที่หนาวเย็นกว่าและแห้งกว่าในภาคเหนือและฤดูหนาวที่มีฝนตกชุกในภาคใต้
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส ตามรายงานของ NOAA ซึ่งอาจหมายถึง
การทำลายขีดจำกัดภาวะโลกร้อนสำคัญที่ 1.5 องศาเซลเซียส
“ความน่าจะเป็นที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเป็นปีแรกในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 50:50” ศาสตราจารย์ Adam Scaife จากสำนักอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษ(UK Met Office) กล่าวกับ Guardian
ส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น และพายุที่รุนแรงขึ้น
อินโดนีเซียและออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะประสบกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งกว่าเดิมและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดไฟป่ามากขึ้น
มรสุมในอินเดียและฝนในแอฟริกาใต้อาจลดลง ในขณะที่แอฟริกาตะวันออกอาจมีฝนตกและน้ำท่วมมากขึ้น
เอลนีโญยังมีผลให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแปซิฟิก หมายความว่า พื้นที่เช่น ฮาวายจะเสี่ยงต่อพายุหมุนเขตร้อน
ที่มา ไทยพับลิก้า