นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ภาวะโลกรวนมีแนวโน้มทำให้ภัยแล้งที่เกิดในประเทศซีกโลกเหนือช่วงฤดูร้อนนี้รุนแรงกว่าเดิมอย่างน้อย 20 เท่า โดยหากไม่มีปัญหาเรื่องโลกรวนที่เกิดขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์นั้น ภัยแล้งที่รุนแรงนี้คาดว่าจะเกิดเพียง 1 ครั้งในทุกๆ 400 ปี
ภัยแล้งที่รุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ได้กระทบการเก็บเกี่ยวพืชผลและการผลิตพลังงาน ส่งผลให้วิกฤตอาหารและพลังงานที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หนักหนาขึ้นกว่าเดิม โดยนักวิเคราะห์เตือนว่าภัยแล้งจะรุนแรงขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยขึ้นอีกในอนาคต เว้นแต่ว่าทั่วโลกจะร่วมมือกันลดละเลิกการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล
ผลจากการวิเคราะห์ระบุว่า ภัยแล้งในยุโรปช่วงฤดูร้อนนี้แล้งสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1950 ขณะที่ภัยแล้งในประเทศซีกโลกเหนือนั้นแล้งสุดเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2012
คลื่นความร้อนที่โหมกระหน่ำในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียช่วงฤดูร้อนนี้ ได้ทำให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งแล้งจัด โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิร้อนระอุอย่างในปีนี้ ‘แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย’ หากไม่มีคลื่นความร้อนที่เป็นผลมาจากภาวะโลกรวน และเฉพาะแค่ในยุโรปนั้นมีผู้เสียชีวิตจากอากาศที่ร้อนจัดแล้วถึง 24,000 คน
ศาสตราจารย์โซเนีย เซเนวิรัทเน จากสถาบัน ETH Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า “ฤดูร้อนปี 2022 แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์เพิ่มความเสี่ยงต่อความแห้งแล้งในภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นและพื้นที่เพาะปลูกอย่างไรบ้าง เราจำเป็นต้องยุติการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หากเราต้องการป้องกันไม่ให้เกิดภัยแล้งที่บ่อยและรุนแรงขึ้นกว่านี้”
สำหรับในภูมิภาคเอเชียใต้นั้นนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า คลื่นความร้อนได้ทวีความรุนแรงขึ้นถึง 30 เท่าจากภาวะโลกรวน ขณะปริมาณน้ำฝนที่เกิดจากฝนตกหนักผิดปกติก็เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 50% ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือปากีสถาน ที่ขณะนี้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศกำลังจมอยู่ใต้บาดาลจากเหตุน้ำท่วมใหญ่
อ้างอิง: