สนธิสัญญาโลกเพื่อแก้ปัญหาพลาสติก

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีข่าวสำคัญในวงการสิ่งแวดล้อมนั่นคือ การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2565 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการร่างสนธิสัญญาพลาสติกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลาสติกล้นโลก โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 สนธิสัญญาฉบับนี้น่าจะเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีความตกลงปารีส (Paris agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​

ตัวแทนจาก 175 ประเทศเห็นพ้องต้องกันให้มีการร่างสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) ซึ่งไม่เพียงแต่ปรับปรุงระบบการรีไซเคิลหรือการจัดการขยะพลาสติกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติก และมาตรการห้ามใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งหลายประเภท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างขยะมากมายมหาศาล

ปัญหามลภาวะจากพลาสติกเป็นประเด็นนานาชาติที่ไม่มีพรมแดน ศาสตราจารย์ ​Steve Fletcher แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ ที่ปรึกษาประเด็นด้านพลาสติกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้ความเห็นว่า “ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งจะจัดการมลภาวะพลาสติกได้ตามลำพัง ไม่ว่าจะมีนโยบายหรือกฎหมายดีแค่ไหนก็ตาม เราจำเป็นต้องมีข้อตกลงในระดับโลก เพื่อให้เราสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จในฐานะประชาคมโลก”​

“เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์กันในวันนี้ ในโลกที่กำลังแตกแยกด้วยสงคราม นับเป็นเรื่องดีที่เรายังสามารถบรรลุข้อตกลงที่มีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ได้”

นาย Espen Barth Eide รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของนอร์เวย์ ประธานในที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติครั้งนี้ กล่าว

ในขณะที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหามลภาวะที่เกิดจากพลาสติก แต่การผลิตพลาสติกยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มมีการผลิตพลาสติกในระดับอุตสาหกรรม ตัวเลขการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นจากปีละ 2 ล้านตันเมื่อปี 2493 มาเป็นปีละกว่า 300 ล้านตัน ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา กว่าครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่มีการผลิตออกมาแล้วเกือบ 9 พันล้านตันเพิ่งจะผลิตออกมาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งพลาสติกกว่า 6.3 พันล้านตันที่ผลิตออกมากลายเป็นขยะ

การรีไซเคิลมักถูกนำเสนอว่าเป็นทางออกสำคัญในการจัดการพลาสติก แต่อัตราการรีไซเคิลพลาสติกโดยรวมทั้งโลกยังอยู่ที่ 9% เท่านั้น ขยะพลาสติกอีก 12% ถูกกำจัดด้วยการเผา ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ หรือ 79% ถูกนำไปฝังกลบหรือถูกทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่ล่าสุดมีการประเมินว่ามีขยะพลาสติกหลุดรอดออกสู่มหาสมุทรมากถึงปีละ 14 ล้านตัน ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ดีขึ้นคาดว่าจะมีขยะพลาสติกสะสมในทะเลมากถึง 600 ล้านตันภายใน 20 ปีข้างหน้า

นักวิทยาศาสตร์พบว่าพลาสติกก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่กระบวนการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 4.5% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาทั้งโลก ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมการบินเสียอีก ไปจนถึงสารพิษต่างๆ ที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมเมื่อพลาสติกเสื่อมสภาพ

แต่กระนั้นก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่มีค่า และอาจมีมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำกว่าวัสดุอื่นๆ หลายประเภท เพราะน้ำหนักที่เบา แข็งแรง ทนทาน สะดวกในการขนส่งอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การห้ามใช้พลาสติกโดยสิ้นเชิงจึงอาจไม่ใช่คำตอบ ปัญหาอยู่ที่พลาสติกจำนวนมากมายมหาศาลที่ถูกทิ้งในสิ่งแวดล้อม ทางแก้ปัญหาที่สำคัญคือลดการใช้พลาสติกที่ไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว ลดการผลิตพลาสติกใหม่ (virgin plastic) ให้น้อยที่สุด และนำพลาสติกทั้งหมดที่มีอยู่แล้วกลับเข้าสู่ระบบในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ข้อตกลงของที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่ได้รับการรับรอง อาศัยกรอบการพิจารณาจากร่างที่เสนอร่วมกันโดยเปรูและรวันดาเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนความจริงที่ว่าประเทศกำลังพัฒนากลายมาเป็นแนวหน้าในความพยายามแก้ปัญหามลภาวะพลาสติก รวันดาเป็นประเทศหนึ่งที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างมาก และมีกฎหมายที่เข้มงวดในการห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ห้ามใช้และจำหน่ายถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายประเภทมากว่า 10 ปีแล้ว

“มลภาวะจากพลาสติกเป็นวิกฤติของโลก และเป็นภัยคุกคามกับเราทุกคน” Jeanne d’Arc Mujawamariya รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของรวันดากล่าวในที่ประชุม “ทีนี้เราจะได้เริ่มลงมือทำงานจริงๆกันสักที”

ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ การเก็บรวบรวม การคัดแยกและการรีไซเคิลพลาสติกเป็นบทบาทของซาเล้งรับซื้อของเก่า หรือคนเก็บขยะรีไซเคิล ซึ่งนับเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่อันตรายและได้ค่าตอบแทนต่ำ

การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้ให้การยอมรับอย่างเป็นทางการถึงบทบาทความสำคัญของคนเก็บขยะรีไซเคิลในระบบเศรษฐกิจของพลาสติก (Plastics economy)

“คนเก็บขยะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการรีไซเคิล” Silvio Ruiz Grisales จากเมืองโบโกต้า โคลัมเบีย กล่าวในที่ประชุม Silvio เริ่มทำงานในบ่อขยะมาตั้งแต่อายุ 12 ตอนนี้เขาเป็นผู้นำเครือข่ายคนเก็บขยะแห่งละตินอเมริกาและคาริบเบียน กลุ่มที่เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการปรับปรุงสวัสดิการและการยอมรับในสังคม “เราทำงานกับขยะวันละ 12-16 ชั่วโมง แต่ไม่มีวันหลุดจากกับดักความยากจนไปได้เลย”​

เงื่อนไขอื่นๆ ในที่ประชุมได้กำหนดว่าสนธิสัญญาพลาสติกที่กำลังจะได้รับการร่างขึ้นนี้ ถูกกำหนดให้เป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) และแก้ปัญหาตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกำจัด การรีไซเคิล และการนำมาใช้ซ้ำ รวมไปถึงปัญหาไมโครพลาสติก หรือเศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตรที่เกิดจากการแตกตัวของพลาสติก รวมถึงเส้นใยสังเคราะห์ และไมโครพลาสติกจากยางรถยนต์

ผู้แทนประเทศหลายคนหวังว่าสนธิสัญญานี้จะใช้โมเดลเดียวกับข้อตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศต่างๆ จะต้องกำหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพัน แต่อาจใช้นโยบายที่มีรูปแบบแตกต่างกันไป

นอกจากนี้สนธิสัญญาดังกล่าวจะต้องครอบคลุมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดการใช้พลาสติก การปรับปรุงระบบการรีไซเคิล และให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา

มีรายงานว่าหลายประเด็นได้รับการคัดค้านจากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและอินเดีย โดยญี่ปุ่นพยายามจะเสนอร่างที่มุ่งเน้นเฉพาะปัญหาพลาสติกในทะเล ส่วนอินเดียขู่ว่าจะไม่เข้าร่วมและพยายามเสนอให้มาตรการต่างๆ เป็นไปในรูปแบบสมัครใจ (voluntary basis)

Monica P. Medina ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ หัวหน้าคณะผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ข้อตกลงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของอวสานมลภาวะพลาสติกของโลก เราจะมองย้อนกลับมายังวันนี้ด้วยความภูมิใจว่าเราได้ทำภารกิจสำคัญให้กับลูกหลานของเรา”

Yutaka Shoda ผู้แทนจากญี่ปุ่นกล่าวชื่นชมว่า “สิ่งสำคัญคือเราเห็นพ้องต้องกันในการพัฒนาข้อตกลงนานาชาติที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย”​ ในขณะที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปรียบเทียบสนธิสัญญาพลาสติกว่า เป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ทะเยอทะยานที่สุดนับตั้งแต่พิธิสารมอนทรีออล ที่ควบคุมและยับยั้งการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศของโลกเป็นผลสำเร็จ จนทำให้ช่องโหว่ในชั้นโอโซนของบรรยากาศโลกฟื้นคืนสภาพกลับมาได้

สนธิสัญญาโลกเพื่อแก้ปัญหาพลาสติกจะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญนอกเหนือจากข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น อนุสัญญาบาเซล ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งมุ่งหมายจะลดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย (hazardous waste) จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง ในปี 2563 ภาคีสมาชิก 187 ประเทศ ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุขยะพลาสติกรวมเข้าไปในขอบเขตของอนุสัญญาดังกล่าวด้วย มีผลในการควบคุมและจำกัดการส่งออกขยะพลาสติกระหว่างประเทศ

โดยประเทศต้นทางที่ต้องการส่งออกขยะจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลปลายทางเสียก่อน

Tadesse Amera นักวิจัยจากเอธิโอเปีย และประธานเครือข่ายกำจัดมลพิษนานาชาติ กล่าวว่า สนธิสัญญาควรให้ความสำคัญกับผลกระทบของพลาสติกต่อสุขภาพและสภาพภูมิอากาศ “เวลาเราพูดถึงพลาสติก จริงๆ แล้วมันก็คือ สารเคมีกับคาร์บอน”​

บทบาทของภาคเอกชนในด้านการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเงินต่อประเทศกำลังพัฒนา น่าจะเป็นประเด็นที่มีการเจรจาต่อรองกันอย่างหนัก ในหลายประเทศต้นทุนในการรีไซเคิลตกอยู่กับเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีงบประมาณจำกัด แทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิต กลุ่มองค์กรสิ่งแวดล้อมพยายามรณรงค์ให้นำหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility – EPR) ซึ่งนับเป็นเครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาบังคับใช้ด้วย ซึ่งคงจะต้องติดตามกันว่าจะสามารถผลักดันได้ขนาดไหน

“แอฟริกาไม่ใช่ผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่เลย แต่บริษัทเอกชนต่างๆ นำพลาสติกมาใช้ในปริมาณมหาศาล โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่พวกมันกลายเป็นขยะไปแล้ว ความรับผิดชอบในการจัดเก็บ และรวบรวมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จึงควรเป็นของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า” Amera ให้ความเห็น

เป็นที่น่าสนใจว่าบริษัทยักษ์ใหญ่และสถาบันการเงินกว่า 70 ราย เช่น Coca Cola, PepsiCo, Unilever, Nestle, IKEA, Starbucks, Philips และอื่น ๆ ต่างให้การสนับสนุนให้เริ่มมีการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยมลพิษพลาสติกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยเรียกร้องให้สนธิสัญญาต้อง

  • ออกมาตรการลดการผลิตและการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
  • กำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้กับรัฐบาล ภาคธุรกิจ และสังคมมีความเข้าใจในปัญหาขยะพลาสติกตรงกัน
  • กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วมและปฏิบัติตาม

 

Unilever ให้เหตุผลว่า สนธิสัญญาจะทำให้ทุกภาคส่วน รัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม มีความเข้าใจร่วมกันถึงสาเหตุและแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาพลาสติก สำหรับบริษัทและนักลงทุน สิ่งนี้จะสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และยังสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกเพื่อตอบสนองต่อการใช้งานจริงในวงกว้าง ถ้อยแถลงบางส่วนระบุไว้ว่า

“หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศในเรื่องการใช้ การรีไซเคิล และการลดการใช้พลาสติกในที่สุด เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาพลาสติกได้เราต้องมีแผนปฏิบัติการระดับโลกที่จริงจัง การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และการเปลี่ยนจากมาตรการสมัครใจไปเป็นมาตรการบังคับเชิงกฎหมาย เราจึงสนับสนุนสนธิสัญญาที่มีความทะเยอทะยานและมีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อจัดการกับมลภาวะพลาสติกในระดับโลก เช่นเดียวกับข้อตกลงปารีสที่นำเราไปสู่เส้นทางเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

ในส่วนขององค์กรอนุรักษ์ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ ชนพื้นเมือง สหภาพแรงงาน หลายร้อยองค์กรก็ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนให้มีการเจรจาข้อตกลงนานาชาติที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหามลภาวะพลาสติกโดยเร็วที่สุดเช่นกัน ภายใต้ องค์กรพันธมิตรเพื่อผลักดันสนธิสัญญาพลาสติก

น่าติดตามว่าข้อเรียกร้องต่างๆ จะถูกต่อต้านจากบริษัทน้ำมัน ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ ขนาดไหน และการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้สนธิสัญญาฉบับใหม่จะสำเร็จผลภายในสองปีตามที่ประกาศไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ วิกฤติขยะพลาสติกคงจะเป็นวาระสำคัญของโลกในยุค Anthropocene คู่ขนานไปกับ วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

อ้างอิง

https://www.iucn.org/resources/issues-briefs/marine-plastic-pollution
https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/221-Global-brands-call-for-reducing-plastic-usages
https://www.nature.com/articles/s41558-019-0459-z
https://www.nationalgeographic.com/science/article/plastic-trash-in-seas-will-nearly-triple-by-2040-if-nothing-done https://www.nytimes.com/2022/03/02/climate/global-plastics-recycling-treaty.html
https://www.plasticpollutiontreaty.org/unea
https://www.plasticstreaty.org/
https://www.reuters.com/business/environment/biggest-green-deal-since-paris-un-approve-plastic-treaty-roadmap-2022-03-02/
https://www.reuters.com/business/sustainable-business/global-treaty-curb-plastic-pollution-2022-02-18/
https://www.statista.com/statistics/282732/global-production-of-plastics-since-1950/
https://www.unilever.co.th/news/2022/plastic-pollution-is-fixable-but-the-world-needs-a-plan/

ที่มา ไทยพับลิก้า