เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้เผยแพร่รายงาน Reporting Matters ปี ค.ศ. 2022 โดยได้วิเคราะห์และสรุปภาพรวมรายงานความยั่งยืนของประเทศสมาชิก WBCSD 154 บริษัททั่วโลก ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 โดยปีนี้ รายงาน Reporting Matters ได้รับการเผยแพร่เป็นฉบับที่ 10 ถือเป็นการฉลองครบ 10 ปีของการเผยแพร่รายงานดังกล่าว
ทั้งนี้ WBSCD ได้จัดอันดับให้ รายงานความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฉบับ ปี 2564 อยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรก ร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอื่น ๆ โดย WBSCD ยกย่องรายงานความยั่งยืนของเครือฯ ว่าเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะด้านความครบถ้วนของการทำรายงาน (Completeness) โดยมีการกำหนดขอบเขตรายงานครอบคลุมมิติความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการระบุรายละเอียดมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการจัดทำรายงาน และอธิบายรายละเอียดโมเดลการสร้างคุณค่า (value creation model) ที่อธิบายให้เห็นปัจจัยนำเข้า คือ ทุนที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่กิจการ ซึ่งมี 6 อย่าง (Six Capitals) ของแนวทางการจัดทำรายงานแบบบูรณาการ (IR Framework) โดยเป็นข้อมูลในเชิงปริมาณซึ่งมีความเชื่อมโยงกับผลลัพธ์และผลประโยชน์ต่อทุน ซึ่งความครบถ้วนนี้ถือเป็นหลักการสำคัญในการจัดทำรายงานความยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ ในปี 2560 รายงานความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์เคยได้รับการยกย่องจาก WBCSD ว่าเป็นเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือฯ จัดทำรายงานความยั่งยืนเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 โดยรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2564 นี้ เป็นรายงานฯ ฉบับที่ 6 ของเครือฯ โดยมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นกลยุทธ์ การบริหารจัดการ เป้าหมาย ผลการดำเนินงาน และก้าวต่อไปของประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญของเครือฯ ซึ่งที่มีนัยสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า ครอบคลุมทั้ง 3 มิติของความยั่งยืน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เนื้อหาภายในรายงานยังได้รวบรวมผลการดำเนินงานที่สนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หรือ Sustainable Development Goals: SDGs อีกด้วย
การจัดทำรายงานความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูล ของเครือฯ นั้นเกิดขึ้นจากความต้องการข้อมูลของผู้ลงทุน ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ของบริษัทในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ผลการดำเนินงานด้าน ESG (Environment, Social and Governance) เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจและยังได้รับการยอมรับว่าเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันธุรกิจอีกด้วย
ดังนั้นรายงานความยั่งยืนจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารผลการดำเนินงานให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัทครบทุกมิติ และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คณะกรรมการและผู้บริหารมั่นใจว่าการดำเนินงานเพื่อพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทฯ จะได้รับการตอบสนอง มีการจัดการที่ดี และช่วยพัฒนากระบวนการทำงานภายในไปพร้อม ๆ กัน เช่น การระบุประเด็นสำคัญที่มีความเสี่ยงสูง การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น
คุณสมเจตนา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระบวนการรายงานความยั่งยืนที่ดีจะช่วยสร้างคุณค่าให้บริษัทได้อย่างดี ที่สำคัญจะช่วยให้เข้าใจหนทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน ช่วยทำให้บริษัทพัฒนากระบวนการภายในเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม เช่น การศึกษาตัวอย่างรายงานฯ ที่ดีของบริษัทอื่น ๆ จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรูปธรรมแก่คนในบริษัทว่าการพัฒนาความยั่งยืนในเชิงธุรกิจเป็นอย่างไร และสามารถเชื่อมโยงกับงานของตนเองได้อย่างไร
นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลรายงาน ทำให้เห็นโอกาสในการปรับปรุงและส่วนที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งในด้านการวางนโยบาย การพัฒนากลยุทธ์ การวางแผน การพัฒนาระบบและคุณภาพการดำเนินงาน และช่วยให้เชื่อมโยงผลการดำเนินงานด้าน ESG กับผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ปี 2564 ได้ที่
รายงานความยั่งยืน 2564 | Charoen Pokphand Group (cpgroupglobal.com)
รายงานเฉพาะเรื่องสามารถอ่านได้ที่
รายงานเฉพาะเรื่อง | Charoen Pokphand Group (cpgroupglobal.com)
และ WBCSD Reporting Matters ปี 2565 ฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่
https://www.wbcsd.org/Programs/Redefining-Value/Reporting-matters/Resources/RM2022