ต้องยอมรับแล้วว่า สภาวะโลกร้อนได้ผันเปลี่ยนเป็น “โลกเดือด” จากการประเมินสถานะวิกฤตภูมิอากาศที่ตอกย้ำให้ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข โดยการร่วมมือนี้ต้องเกิดจากการระดมสมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงเหล่าสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น
เนื่องจากปัญหาภาวะเรือนกระจก มลภาวะ หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบในวงกว้าง และเป็นผลกระทบที่เมื่อเวลาผ่านไปจะยิ่งรุนแรงขึ้น
ในงาน Decarbonize Thailand Symposium 2024 : Path to Net Zero Collaboration ที่ผ่านมา ได้มีการรวมตัวของเหล่าสตาร์ทอัพสาย Climate Tech ไว้มากมาย วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก 5 บริษัทสตาร์ทอัพที่น่าจับตามอง
MEDS Venture ช่วยธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน ตั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ
MEDS Venture ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชั่นพลังงานที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จำลองและสร้างแผนการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน สำหรับธุรกิจที่ต้องการ Decarbonization หรือลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ณภัทร รัตนกุล Chief IT Advisor แห่ง MEDS Venture เล่าว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจโดยใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอน มีการกำหนดมาตรฐานในการวัดว่าธุรกิจตนเองปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ รวมถึงภาครัฐก็มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจน แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น บ้านเราถือว่ายังตามหลังอยู่เล็กน้อย
ตัวอย่างเช่น ในสิงคโปร์ที่มีการบังคับใช้กฎหมายว่าบริษัทต้องปล่อยคาร์บอนได้ไม่เกินเท่าไหร่ มีการใช้มาตรฐาน ISO และต้องทำรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนทุกปี เช่น หากต้องการทำ Data Center หรือ Cloud กฎหมายจะกำหนดมาว่าสามารถปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่ ถ้าธุรกิจปล่อยเกินที่กำหนดก็จะไม่สามารถเปิด Data Center ได้อีก ส่วนหนึ่งเพราะสิงคโปร์มีพื้นที่จำกัด จึงไม่สามารถเปิด Data Center ได้ตามต้องการ
สิ่งที่ MEDS Venture ทำคือการให้คำปรึกษาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นำซอฟต์แวร์ที่บริษัทพัฒนาเข้าไปวิเคราะห์ว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนได้ในกระบวนการไหนบ้าง รวมถึงมีการทำรายงาน และคิดโซลูชั่นต่างๆ หลายวิธี โดยใช้ AI คำนวณตัวเลขผลกระทบของแต่ละแผนให้ตอบโจทย์องค์กรมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โรงงานผลิต รวมถึง Smart City
CHOSEN Digital ระบบบริหารจัดการ EV Charger โดยไม่จำกัดยี่ห้อ
ไม่มีใครปฏิเสธความร้อนแรงของรถ EV ได้ ทว่า ปัญหาที่พบคือ เครื่อง EV Charger ที่แต่ละแบรนด์ผลิตออกมาเพื่อใช้กับรถยนต์ของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบให้เข้ากับเครื่องมือหรือระบบของประเทศอื่นๆ ได้
โดยเฉพาะในตลาดไทยและอาเซียนที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่น ที่เครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามาจากหลายแหล่ง ทำให้มีทั้งระบบที่ใช้ตามมาตรฐาน OCPP (Open Charge Point Protocol) และระบบที่ไม่ใช่มาตรฐาน
วรพจน์ รื่นเริงวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชเซ่น ดิจิตอล จำกัด เล่าว่า โชเซ่นเข้าถึง Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า สำหรับเครื่อง EV Charger ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นและสร้างขึ้นโดยคนไทย มีจุดเด่นคือ สามารถปรับเปลี่ยนและประยุกต์ (Fully customization) ให้เข้ากับตลาดของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ได้ โดยไม่จำกัดยี่ห้อและลักษณะประเภทการสื่อสาร Protocol โดยพัฒนาไปถึงเทคโนโลยีที่ลึกที่สุดคือ Core Engine โดยใช้ชื่อระบบ EMSP (Energy Modernization System Provider) เป็นระบบที่สามารถรองรับการชาร์จรถ EV ได้จำนวนมากพร้อมๆ กัน และสามารถสื่อสารกับระบบไฟฟ้าของประเทศไทยได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการทำสถานีชาร์จลดต้นทุนได้ เพราะสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องชาร์จได้หลายยี่ห้อ
ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม EMSP ได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความปลอดภัยต่อระบบนิเวศของการชาร์จรถ EV โดยใช้เทคนิค Automatic and dynamic electricity load balancing EV charging เพื่อช่วยให้ใช้กำลังไฟฟ้าได้เต็มที่และปลอดภัย รวมถึงมีระบบการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
Algal Bio เชื้อเพลิงจากสาหร่าย
หลายคนอาจไม่รู้ว่าสาหร่ายก็นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ เป็นหนึ่งในทางเลือกพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่น่าสนใจ เราอยากแนะนำให้รู้จักสตาร์ทอัพจากประเทศญี่ปุ่นที่นำเชื้อเพลิงจากสาหร่ายขนาดเล็ก (microalgae) มาใช้ในหลายอุตสาหกรรม นั่นคือ Algal Bio สตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากสาหร่าย เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Masahiro Kida หนึ่งในทีมผู้บริหารของ Algal Bio เล่าว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะใช้เชื้อเพลิงและพลังงานจากสาหร่ายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของโลก หนึ่งในนั้นคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยบริษัทได้พัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย อาทิ
1. การเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีประสิทธิภาพสูง: Algal Bio ได้พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายชนิดต่างๆ มากถึง 70 สปีชีส์ เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำ และปุ๋ย รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย: Algal Bio พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากสาหร่าย เช่น อาหารเสริม โปรตีนจากพืช และพลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถแทนที่ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปิโตรเคมีได้
3. การดักจับคาร์บอน: Algal Bio พัฒนาวิธีการดักจับคาร์บอนจากบรรยากาศโดยใช้สาหร่าย โดยใช้การดูดซับคาร์บอนจากอากาศและเปลี่ยนเป็นชีวมวล และชีวมวลที่ได้ก็นำมาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ หรือฝังกลบเพื่อกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน
4. การพัฒนาแหล่งพลังงานชีวภาพ: Algal Bio พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย ซึ่งเชื้อเพลิงชีวภาพนี้สามารถใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
Masahiro Kida กล่าวว่า นอกจากโซลูชั่นที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว สาหร่ายขนาดเล็กยังมีส่วนช่วยในการรีไซเคิลน้ำเสีย และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยสาหร่าย 200 ตันเมตริก (200,000 กิโลกรัม) สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 200 กิโลกรัม เราจึงเชื่อมั่นว่าสาหร่ายจะเป็นหนึ่งในทางออกของการแก้วิกฤตโลกที่เป็นอยู่ตอนนี้
Alternō ใช้พลังงานความร้อนจากทราย เจาะกลุ่มธุรกิจอาหารอบแห้ง
พลังงานความร้อนจากทราย ถือเป็นนวัตกรรมใหม่จาก Alternō และยังเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูงและได้พลังงานเยอะ
Hai Ho ผู้บริหารของ Alternō และผู้คิดค้นพลังงานความร้อนจากทราย เล่าว่า พลังงานสะอาดมีหลายประเภททั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งล้วนเป็นพลังงานที่ต้องอาศัยช่วงเวลาในการกักเก็บ คราวนี้จึงถึงคิวของ พลังงานความร้อนจากทราย หรือ Sand Battery ที่ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานความร้อนหมุนเวียนสำหรับใช้ในการผลิต
โดยแบตเตอรี่ทรายจะเก็บความร้อนจากแผงโซล่าร์เซลล์ และเก็บความร้อนได้สูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส และเก็บความร้อนได้นานเป็นเดือน ใช้พื้นที่จัดเก็บไม่มาก หากใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 2-3 ตู้ในการเก็บ จะให้พลังงานมากถึง 1.8 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง
อีกหนึ่งข้อดีของแบตเตอรี่ทรายคือ สามารถนำมาใช้ได้หลายธุรกิจ ในฝั่งยุโรปนิยมนำไปใช้ในบ้านเรือน โดยเฉพาะในเมืองหนาวที่ต้องการความอบอุ่นตลอด การใช้แบตเตอรี่คลายที่เก็บความร้อนได้นานจึงช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน สำหรับในไทยนิยมใช้ในธุรกิจอาหารและผลไม้อบแห้ง
ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้งานในหลายประเทศ อาทิ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และโซนแอฟริกาใต้ แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรี่ทรายกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน
New Energy nexus สร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ Climate Tech
มาถึงสตาร์ทอัพรายสุดท้ายที่เราอยากพูดถึงคือ New Energy nexus องค์กรที่ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านพลังงานสะอาด เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจพลังงานและนวัตกรรมด้าน Climate Tech ในประเทศไทย
จิรพัฒน์ ฮ้อแสงชัย ผู้บริหาร New Energy nexus เล่าว่า ต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้น เพื่อส่งต่อสิ่งเหล่านี้ถึงมือผู้คนให้เร็วที่สุด ในราคาที่เข้าถึงง่าย
โดยภายในปี 2030 บริษัทตั้งเป้าที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดให้ได้ 100,000 ราย จาก 13 ประเทศทั่วโลก และสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านโครงการต่างๆ เปิดพื้นที่ networking ให้สตาร์ทอัพและนักลงทุนได้เจอกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและดีลที่ประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกันการได้ร่วมงานกับสตาร์ทอัพหลายประเทศ ก็ทำให้เห็นความแตกต่างในหลายๆ จิรพัฒน์ กล่าวว่า จุดที่สตาร์ทอัพไทยต้องพัฒนาคือ ทักษะและ ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำที่สุด เนื่องจากในเวลานี้ตลาดโลกให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บางประเทศไม่นำเข้าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนเยอะเกินไป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องมีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ การใช้พลังงานสะอาดลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหลักคิดในการพัฒนาสินค้า เนื่องด้วยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการอาจโฟกัสแค่ตลาดในประเทศ ตอบโจทย์แค่คนไทย จึงไม่สามารถนำไปขยายตลาดสู่ประเทศอื่นได้ ต่างกับสิงคโปร์ที่พัฒนาสินค้าภายใต้แนวคิดที่ต้องการเจาะตลาดโลก พัฒนาสินค้าตามความต้องการผู้บริโภคทั่วโลก จึงทำให้เปิดตลาดได้ง่าย
ตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจของ New Energy nexus มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน และภาคการศึกษา ผ่านการจัดงาน workshop การฝึกอบรมและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ Eco System ของผู้ประกอบการ Climate Tech เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่เราต้องการสนับสนุน
ณ เวลานี้ Climate Tech กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญของไทยในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย Net Zero และมีสตาร์ทอัพอีกไม่น้อยที่ให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยโลกใบนี้ ในฝั่งของนักลงทุน Climate Tech เป็นเทรนด์การลงทุนที่น่าจับตามอง ทั้งในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีสะอาด การดักจับคาร์บอน และยานยนต์ทางเลือก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กร สถาบันการเงิน ภาครัฐ ในการลงทุนวิจัยเพื่อบูรณาการเทคโนโลยีให้เข้ากับระบบ จึงจะช่วยแก้ปัญหาและนำเทคโนโลยีไปใช้ได้จริงในอนาคต
ที่มา Techsauce