โลกยิ่งร้อน ยิ่งก่อโรคร้าย ยิ่งตัดต้นไม้ ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม ปลูกต้นไม้ 1.2 ล้านล้านต้นทั่วโลกช่วยดูดซับคาร์บอนฯ ที่สะสมมานับ 10 ปี

หลายๆ คนคงจะทราบกันดีว่า ‘โลกร้อน’ ไม่ได้เกิดจากสิ่งอื่นใด แต่เป็นน้ำมือ ‘มนุษย์’ นั่นเอง

ภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดผลเสียต่อมวลมนุษยชาติอย่างไร????
เราจะช่วยโลกใบนี้ ได้หรือไม่ ….อย่างไร ?

We Are CP มีผลสำรวจการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่สันนิษฐานว่า มีปัจจัยส่งเสริมจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เปรียบเทียบได้ว่าสภาพภูมิอากาศคือ “ชนวน” เชื้อโรคคือ “กระสุน”
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งอาร์กติกค่อยๆ ละลายจนสามารถปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียที่จำศีลอยู่ตั้งแต่ในยุคหลายพันปีก่อนออกมาได้ ลองไปไล่เรียงดูว่า เกิดปรากฏการณ์โรคร้ายอะไรบนโลกของเรากันบ้าง

• ปี 2539 – โรคระบาดที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ อาทิ ไข้เหลือง และมาลาเรีย ทวีความถี่และเกิดผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นโดยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดัน

• ปี 2546 – ไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัส H5N1 มีการแพร่ระบาดข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ปีกสู่คน

• ปี 2548 – ได้ทดลองนำน้ำจากทะเลสาบของอลาสก้าที่ถูกแช่แข็งมากว่า 32,000 ปี ตั้งแต่ยุคแมมมอธ และนำมาละลายน้ำแข็ง พบว่าแบคทีเรียที่อยู่ในนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

• ปี 2550 – นักวิทยาศาสตร์ทดลองละลายน้ำแข็งจากแอนตาร์กติกา ที่มีถึงอายุ 8 ล้านปี พบว่าแบคทีเรียก็กลับมามีชีวิตได้อีกเช่นกัน

• ปี 2559 – เชื้อแอนแทร็กซ์ นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่า สาเหตุอาจเกิดจากคลื่นความร้อนทำให้ชั้นดินเยือกแข็งละลายตัว จนเผยซากกวางเรนเดียร์ที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำแข็งด้วยโรคแอนแทร็กซ์ เมื่อ 75 ปีแล้ว เมื่อขึ้นมาสัมผัสกับน้ำและอากาศ เชื้อแอนแทร็กซ์ สามารถสร้างสปอร์ห่อหุ้มตัวเพื่อดำรงชีวิตรอดในน้ำแข็งได้ และในวันที่น้ำแข็งถูกละลายด้วยอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จึงถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง หรือไวรัสบางชนิดเองก็มีดีเอ็นเอที่แข็งแกร่งกว่าไวรัสทั่วไปในปัจจุบัน

• ปี 2562 – ยุงและแมลงชอบอากาศที่อบอุ่นจนถึงร้อน สามารถแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้น เติบโตเร็วขึ้น วงจรของปรสิตในยุงยังพัฒนาเร็วขึ้นด้วยจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งอาจซ้ำความร้ายแรงด้วยปรสิตมาลาเรียดื้อยาในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

• ปี 2563 ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ – เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโรคอุบัติใหม่จากไวรัสที่เห็นชัดที่สุดในขณะนี้

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพของเชื้อโรค ก็คือ “การอุบัติใหม่” และ “การย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค” ซึ่งความทันสมัยของโลกทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย
การที่โลกร้อนขึ้น ไม่เพียงทำให้น้ำแข็งละลาย แต่ยังทำให้เดินทางเข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายและสะดวก อย่างเช่น มีการรุกล้ำของอุตสาหกรรมประมงและขุดเจาะพลังงานในพื้นที่ไซบีเรีย ซึ่งก็เป็นอีกหนทางที่เชื้อโรคสามารถเดินทางออกจากไซบีเรียไปยังพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ ได้ และเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคจากใต้ดินปนเปื้อนออกสู่ดินชั้นบน แหล่งน้ำ และห่วงโซ่อาหารได้

เราอาจจะได้รู้จักกับโรคระบาดชนิดใหม่มากขึ้น และรุนแรงขึ้น หากวิกฤตโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป โลกที่ป่วย ชีวิตบนโลกก็ป่วยตาม เพราะสุขภาพของเราขึ้นอยู่กับสุขภาพของโลก

ร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขก่อนจะสาย!
ทางหนึ่งที่จะช่วยลดความร้อนให้โลกของเรา นั่นก็คือ “การปลูกต้นไม้” หากเราปลูกต้นไม้ทั่วโลกจำนวน 1.2 ล้านล้านต้น จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดโลกร้อน ซึ่งมนุษย์ได้สร้างเอาไว้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้
ผลการศึกษานี้เป็นผลงานของที่ปรึกษาโครงการรณรงค์ปลูกต้นไม้ล้านล้านต้นของสหประชาชาติ (UN) ภายใต้ UN’s Trillion Tree Campaign ที่พบว่า การปลูกต้นไม้ 1.2 ล้านล้านต้น หากทั่วโลกทำได้จริง จะเป็นวิธีการที่ลดก๊าซคาร์บอนฯ ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดมากกว่าวิธีการใดๆ ที่มนุษย์มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาพลังงานทางเลือก หรือการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ก็ตาม

ข้อมูลจาก:
• https://www.greenpeace.org/thailand/story/11035/climate-heating-planet-increase-disease/
• https://www.un.org/en/chronicle/article/climate-change-and-malaria-complex-relationship
• https://www.matichon.co.th/foreign/news_1593570
• http://www.tgo.or.th/2015/thai/news_detail.php?id=2098
• โลกร้อนกับโรคระบาด, หน้า 365 วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 กค.-กย. 2552, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข