ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เป็นปัญหารากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย กับดักความจน และระยะทางที่ห่างไกล ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กจำนวนไม่น้อย กระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว…
ไม่ต่างจากชีวิตของนางสาวชลรดา แซ่ลี หญิงสาวชาวม้ง จากอ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่เผชิญกับความลำบากยากเข็ญด้านทุนทรัพย์ จนเกือบหมดโอกาสศึกษาต่อ ทว่าประกายความหวังกลับผลิบานขึ้น เมื่อได้โอกาสเข้าถึงทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เป็นใบเบิกทาง ไม่เพียงต่อตัวเธอ หากรวมถึงครอบครัว และคนนับร้อยของหมู่บ้านม้งทุ่งนาน้อย
นางสาวชลรดา ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชานวัตกรรมการตลาดและการตลาดดิจิทัล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในผู้ได้รับทุนซีพี เปิดเผยความในใจว่า เดิมครอบครัวอพยพจากประเทศลาว มาตั้งรกรากอยู่แถบชายแดน พ่อแม่อาศัยทำงานรับจ้าง เพื่อเช่าที่ดินเพาะปลูก เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ประกอบกับการมีพี่น้อง 7 คน ทำให้รายได้จากการรับจ้างไม่เพียงพอ ส่งผลต่อทุนทรัพย์การศึกษาของลูก ๆ ทุนซีพี จึงไม่เพียงช่วยสานฝันการเรียนต่อของตน แต่ยังเป็นใบเบิกทางลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ห่างไกลอีกด้วย
“เมื่อเราเกิดมามีฐานะยากจน ทำให้หนูมีความเข้มแข็งและมีใจสู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค พร้อมไขว่คว้าหาโอกาส หนูเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำพาหนูไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น มีหน้าที่การงานที่มั่นคง ทุนการศึกษาซีพีจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของหนู ให้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีมีความรู้ ความสามารถในการดำเนินชีวิตเพื่อก้าวสู่อาชีพในอนาคต ถ้าหนูเรียนจบปริญญาตรี หนูจะเป็นบัณฑิตคนแรกของบ้านม้งทุ่งนาน้อย และหนูจะผลักดันให้น้องๆ ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยหลังจบการศึกษาหนูอยากจะสอบรับราชการหรือทำงานบริษัทรัฐวิสาหกิจ เพื่อกลับมาอยู่ใกล้บ้าน และช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิด”
นางสาวชลรดา ยังระบุว่า นอกเหนือจากมูลค่าทุน ตนเองยังได้รับบ่มเพาะทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ ผ่านกิจกรรม “CP Scholarship Boot Camp 2024” ที่จัดขึ้น 5 วันที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อาทิ อบรมทักษะปัญญาประดิษฐ์ การตลาดดิจิทัล ภาษาอังกฤษ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้พบปะกับเพื่อนใหม่ทั่วประเทศ และรุ่นพี่ทุนเครือซีพี เป็นประสบการณ์ล้ำค่า ต่อยอดความรู้ และมุมมองที่จะเป็นประโยชน์ในรั้วมหาวิทยาลัย และการทำงานในอนาคต
เช่นเดียวกับชีวิตของนางสาวแอมมิกา พืชเกิด นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อีกหนึ่งผู้ได้รับทุนซีพี ระบุว่า ครอบครัวค่อนข้างลำบาก รายได้จากการทำสวนยางไม่แน่นอน ที่ผ่านมาครอบครัวต้องกู้ยืมเงินคนรอบข้างเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับการศึกษาเล่าเรียน เมื่อทราบเรื่องทุนซีพีจากรุ่นพี่ที่ประสบการณ์ความสำเร็จ จึงมีความตั้งใจสมัครขอรับทุน โดยได้รับทุนนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว และได้ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้อย่างดี นอกจากมูลค่าทุนที่ได้รับ ทุนซีพียังส่งเสริมให้ผู้ได้รับทุนได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม สร้างประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนจริง (Action Based Learning) ต่อยอดสาขาอาชีพในอนาคต และขยายโอกาสการช่วยเหลือผู้อื่น
“หลังจากเรียนจบอยากเป็นนักเทคนิคการแพทย์ ถือเป็นการบริการสังคมอย่างหนึ่ง รวมถึงยังอยากทำกิจกรรมจิตอาสาต่อไป เพราะอยากพัฒนาศักยภาพของตนเอง ควบคู่กับการใช้ศักยภาพนั้นช่วยเหลือสังคม ทุนการศึกษาซีพี มีส่วนช่วยให้หนูสามารถมีทุนทรัพย์ไปทำกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้สอนหนังสือให้เด็กบนดอย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน หนูจึงไม่ได้ใช้ทุนนี้เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่ยังแบ่งปันเพื่อสังคม ส่งต่อโอกาสดีๆ เพื่อผู้อื่นอย่างไม่มีสิ้นสุด”
ทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือทุนซีพี เป็นบทบาทของภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยอุดรอยรั่ว และเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาของเด็กไทยตลอด 45 ปีโดยไม่มีข้อผูกมัด สนับสนุนคนดี และคนเก่ง ให้ศึกษาจนจบปริญญาตรี มีทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ อันนำไปสู่การพึ่งพาตัวเอง และช่วยเหลือผู้อื่น ตามปณิธานของคุณจรัญ เจียรวนนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ และคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2522 และสานต่อเจตนารมณ์นี้โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้รับทุนมีความเป็นนักนวัตกร มีทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ 5.0 ที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีที่ มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีคุณธรรม จริยธรรม และรักชาติบ้านเมือง
นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ทุนซีพี ที่สะท้อนถึงความสำคัญของโอกาสทางการศึกษาที่จะมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างคนดี และคนเก่งต่อประเทศชาติ และสานต่อดีเอ็นเอของคนที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่นไขว่คว้า และพร้อมจะส่งต่อโอกาสดีๆ ให้ผู้อื่นต่อไป