NIA หรือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ชี้ 7 แนวโน้มนวัตกรรมการเกษตรจะเร่งพัฒนายกระดับเกษตรกรดั้งเดิม ในการเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการเกษตรของไทย ด้วยรูปแบบธุรกิจในการแก้ปัญหาด้วยแนวทางใหม่ๆ
การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ได้เกิดแรงกระทบไปในวงกว้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการเลิกจ้างจากการปิดกิจการที่คาดว่าจะสูงถึง 7 ล้านคน หรือ การลดแรงงานจากมาตรการป้องกันที่เกิดขึ้น โดยหลายคนก็ต้องกลับไปยังถิ่นฐานเพื่อหาลู่ทางสร้างอาชีพใหม่ หรือในบางกลุ่มก็ต้องการหลีกเลี่ยงชีวิตที่อยู่ในเมืองหลวงที่มีความแออัดและมีความเสี่ยงสูงกับความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดย “การเกษตร” จึงเป็นเป้าหมายทางเลือกแรกของหลายๆ คน ที่จะใช้ดินแดนสุวรรณภูมิอย่างประเทศไทย ที่มีทรัพย์อยู่ในดิน สินอยู่ในน้ำ ที่เปรียบเหมือนแหล่งผลิตทองคำล้ำค่าที่สำคัญ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ที่สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและการบริหารจัดการ ที่จะผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้กับการสร้างธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย ให้สอดคล้องกับทิศทางกับกระแสของทั่วโลก และนำมาปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย
ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการระดมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายในวงการด้านการเกษตร จัดทำแนวโน้มด้านนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศไทยใน 7 สาขา ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตจากฟาร์มถึงผู้บริโภค ที่จะนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการสร้างรูปแบบธุรกิจ การสร้างอาชีพใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การทำเกษตรด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ แนวทางในการทำวิจัย ตลอดจนกำหนดนโยบายนวัตกรรมการเกษตรในระยะต่อไป พร้อมตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรจากทั่วโลกและของประเทศไทย ดังต่อไปนี้
1. เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพมาประยุกต์ให้เกิดธุรกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการอาหารปลอดภัย ประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุน โดยมี 4 แนวทางที่สำคัญ ได้แก่ 1.การใช้ประโยชน์ของไมโครไบโอของจุลินทรีย์ดินเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตของพืช 2.ผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ 3.การสร้างพืชที่มีคุณลักษณะตามความต้องการโดยการดัดแปลงยีน และ 4.การวิเคราะห์ข้อมูลทางชีวภาพขนาดใหญ่ ในส่วนนี้คงต้องอาศัยพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกเหมือนตัวอย่างของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรระดับยูนิคอร์นของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง “อินดิโก” ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้กลุ่มจุลินทรีย์จากดิน กระตุ้นให้พืชทนต่อสภาวะแล้งได้ ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้
2. เกษตรดิจิทัล เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ทั่วโลกต้องการเพื่อช่วยสนับสนุนการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เซนเซอร์เก็บข้อมูลระดับน้ำที่แปลงนาข้าว โดยเกษตรกรสามารถดูข้อมูลจากที่บ้านได้ผ่านมือถือ เมื่อมีข้อมูลมากเพียงพอก็สามารถทำนายสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น โดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการใช้บล็อกเชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยด้านผลผลิต และนำมาใช้ในการตรวจสอบความผิดปกติและข้อมูลย้อนหลังด้านต่างๆ ต้องบอกว่าในยุคก้าวสู่ 5G เราจะเห็นธุรกิจนี้เป็นจำนวนมากและเพิ่มอย่างรวดเร็ว ขอยกตัวอย่าง เทคโนโลยีของ “บลูรีเวอร์” สตาร์ทอัพของสหรัฐอเมริกา ที่นำเอไอมาแยกความแตกต่างวัชพืชในแปลงเกษตร ทำให้สามารถกำจัดได้ตรงจุดและถูกต้อง และสตาร์ทอัพไทยอย่าง “ฟาร์มเอไอ” นำข้อมูลการเกษตรใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพอากาศ ร่วมกับข้อมูลจากแปลง ลดการเสี่ยงต่อโรคเพื่อให้ผลผลิตที่สูงขึ้น
3. การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ จากเดิมที่คุ้นเคยทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และการประมงแบบฟาร์ม ที่มีปัจจัยมากมายยากที่จะควบคุม ทำให้การปลูกพืชแนวตั้งหรือโรงงานปลูกพืชที่มีขนาดใหญ่ เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน เป็นแนวโน้มที่เริ่มเห็นในทั่วโลก อย่างที่เห็นจาก “เพลนตี้อิงค์” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้รับการระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการสร้างฟาร์มปลูกพืชขนาดใหญ่ถึง 18,000 ตารางเมตร เทียบได้กับสนามฟุตบอล 2 สนาม ตอนนี้เริ่มมีการพัฒนาขึ้นบ้างในประเทศไทย อย่างสตาร์ทอัพ “วังรีเฟรช แพลนท์แฟคทอรี่” ( Wangree Fresh Plant Factory – www.wangreefresh.com ) กำลังก่อสร้างโรงงานปลูกพืช (Plant Factory หรือ Indoor Vertical Farming) ที่ชื่อว่า “สยามปันสุขแพลนท์แฟคทอรี่” ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ขนาดกำลังผลิตเดือนละ 18 ตัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานภายในปลายปีนี้ นอกจากนี้ที่ควรเพิ่มเติมนวัตกรรมให้มากกว่านี้คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชให้เกิดการผลิตสารสำคัญอย่างในสมุนไพรหรือกัญชา ที่เริ่มมีการศึกษาวิจัยกันในหลายมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการพัฒนาฟาร์มในเขตเมือง ที่ล่าสุดอย่างเพื่อนบ้านสิงคโปร์ก็ประกาศนโยบายสนับสนุนการปลูกผักบนดาดฟ้า และอีกแนวโน้มหนึ่งคือ ระบบการเลี้ยงแมลงแบบ “ฟาร์มเลี้ยงแมลงแบบปิด” อย่าง “YNsec” สตาร์ทอัพชาวฝรั่งเศสที่มีระบบการเลี้ยงแมลงขนาดใหญ่ด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชม. ด้วยกำลังผลิต 20,000 – 25,000 ตันต่อปี
4. เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แม้ว่าตอนนี้จะมีแรงงานกลับถิ่นฐานและมีคนสนใจทำเกษตรกรรมมากขึ้น แต่ต้องมีแนวทางในการดึงดูดให้คนหันมาทำการเกษตรด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดแรงงาน สามารถทำการเกษตรได้เหมือนเกมส์ปลูกผักโดยมีระบบต่างๆ ช่วยสนับสนุน เช่น การใช้หุ่นยนต์มาช่วยดูขั้นตอนต่างๆ แทนมนุษย์ ดังเช่นตัวอย่างสตาร์ทอัพของอิสราเอล “อารักกา” ที่ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ใช้ในการผสมเกสรในโรงเรือน โดยมี AI ที่จะบอกได้ว่าดอกไม้ที่มีความพร้อมสำหรับการผสมเกสรเมื่ออุณหภูมิและระดับความชื้นเหมาะสม สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่มีหุ่นยนต์ไปใช้งาน ส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์ใช้โดรน อย่างเช่นสตาร์ทอัพไทยอย่าง “เทวดา คอร์ป” นำโดรนไปใช้ในการปลูกข้าวได้อย่างแม่นยำสามารถเพิ่มผลลิตได้ถึงสองเท่า
5. บริการทางธุรกิจเกษตร ในช่วงการระบาดโรคโควิด–19 เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน และมีความจำเป็นต้องสั่งสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซและระบบขนส่งอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และช่วยในการส่งสินค้าอาหาร–เกษตรแบบเร่งด่วน นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องพัฒนาบริการที่ตอบสนองกับความต้องการของเกษตรกรและผู้ค้าควบคู่กันไปด้วย ซึ่งข้อมูลจาก “แอคฟันเดอร์” ในปี 2017 การระดมทุนในกลุ่มนี้ บริการซื้อขายและส่งอาหารสดออนไลน์ เป็นจำนวนเงินมากถึงถึงร้อยละ 24 ของเงินลงทุนทั้งหมดของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรและอาหารอย่าง “มิสเฟรชอีคอมเมิร์ซ” และ “ยิเกา” สตาร์ทอัพจากจีนได้รับเงินลงทุนรวมกันเกินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในไทยก็มีการพัฒนาด้านบริการเกษตรหลายรูปแบบ เช่น ระบบการจองอุปกรณ์การเกษตรของไทยอย่าง “ตลาดแอป” ที่คล้ายคลึงกับการจองรถเพื่อการเดินทางที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
6. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากเนื่องจากสินค้าเกษตรเมืองร้อนของไทยมีผิวเปลือกบาง ทำให้ง่ายต่อการเน่าเสียและเก็บรักษายาก ดังนั้นสิ่งที่ควรเร่งสร้างสำหรับธุรกิจนี้ ได้แก่ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเก็บรักษาความสดโดยที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการที่ไม่ใช้สารเคมี ตลอดจนการติดตามและตรวจสอบคุณภาพผลผลิตอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และไม่ทำลายผลิต เช่น “เพียวเฟรช” สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกา ที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศด้วยโอโซนสามารถเปลี่ยนการขนส่งผลไม้เปลือกบางอย่างเช่นกลุ่มเบอรี่ มาขนส่งผ่านทางเรือแทนเครื่องบินได้ ซึ่งสตาร์ทอัพไทยก็เริ่มมีทำด้านนี้กันบ้างแล้วอย่าง “อีเดน” ที่มีการใช้สารเคลือบผิวเพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรได้นานขึ้น
7. ธุรกิจ “ไบโอรีไฟนารี” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่นๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (cell factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์ เช่น “มายโคเวิร์ค” สตาร์ทอัพชาวอเมริกา ที่ผลิตหนังจากการเพาะเลี้ยงด้วยเชื้อจุลินทรีย์ไมซีเลียมกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สำหรับทดแทนการใช้พลาสติกและหนังแท้จากสิ่งมีชีวิต โดยสตาร์ทอัพไทยอย่าง “ไบโอไดเวอร์ซิตี้” นำน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือที่มีโอเมก้าและกรดลอริกปริมาณสูงสำหรับนำไปใช้ในเครื่องสำอาง และการนำเศษที่เหลือหลังการบีบน้ำมันเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับอาหารสัตว์
แนวทางเหล่านี้จะเป็นเข็มทิศตอบโจทย์กับกลุ่มคนที่จะเข้าสู่วงการเกษตร และต้องการยกระดับการเกษตรของไทยไปพร้อมกัน ด้วยการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเกษตร ที่มุ่งการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ด้วยการแก้ไขปัญหาในแนวคิดเกิดรูปแบบธุรกิจแนวทางใหม่ และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เปลี่ยนวิกฤตจากโควิด เป็นตัวเร่งสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ให้ทางการเกษตร เพื่อจะได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
Reference : https://www.facebook.com/groups/245298772981702/permalink/673953200116255/