เรื่องราวของ คุณเบสท์ สรรเสริญ สมัยสุต ประธานสำนักพัฒนาธุรกิจของ CP Group ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการสรรหาและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับกลุ่ม ซีพีพร้อมกันนั้นก็เป็นผู้มีส่วนผลักดันและเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผู้นำหรือซีอีโอรุ่นใหม่ในอนาคตซึ่งอยู่ภายใต้โครงการโรงเรียนผู้นำที่กลุ่มซีพีมุ่งมั่นพัฒนามานานหลายปีแล้ว ซึ่งคุณเบสท์ ทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือเมนเทอร์คนสำคัญของโครงการดังกล่าวด้วย
ก่อนอื่น…ถ้าคุณอ่านบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้แล้วคันไม้คันมืออยากไฮไลท์ข้อความที่เป็นวรรคเด็ดแล้วละก็
เราขอบอกว่า คุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนี้!
เพราะคนเบื้องหลังมากมายที่ผ่านตาและตรวจสอบบทสัมภาษณ์ชิ้นเข้มข้นของเราชิ้นนี้ ต่างก็รู้สึกแบบเดียวกัน เพราะมันมีวรรคเด็ดให้จดจำมากจนเกินจะนับ
และหากถอดรูปแบบการพูดคุยสนทนาออกไปแล้ว เราเชื่อว่านี่คือตำราการทำธุรกิจที่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าซึ่งกลั่นมาจากความคิดคนที่หลงใหลและทุ่มเทกับการทำธุรกิจมาตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบ !
ท่านประธานของกลุ่มซีพี หรือ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เรียกเขาว่า อาจารย์เบสท์ ซึ่งเขามักจะหัวเราะเขินๆ เสมอเมื่อพูดถึง เพราะเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอาจารย์ใครได้ นอกจากเป็นอาจารย์ของตัวเอง
การเป็นอาจารย์ของตัวเองไม่ใช่แค่วรรคเด็ด (ในกรณีที่คุณกำลังจะไฮไลท์) แต่เป็นหลักคิดสำคัญที่ทำให้คุณเบสท์-สรรเสริญ หล่อหลอมตัวเองมาได้จนถึงทุกวันนี้
เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ผ่านการลงมือทำ เพื่อให้รู้จักตัวเอง รู้จุดดี ปิดจุดอ่อน ชัดเจนกับจุดตายและหลีกเลี่ยงมันให้ได้ เหล่านี้คือหลักการที่เขาบอกว่า ไม่มีใครสอนนอกจากการลงมืออย่างจริงจังเข้มข้น เข้าเลือดเข้าเนื้อ
แม้กระทั่งวันนี้ คุณเบสท์ก็ไม่ได้มาสอนใคร หากแต่เขาแค่มาสะท้อนให้เห็นว่า การเป็นผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่ที่ดี มันต้อง ‘แพ้เป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร’ กันอย่างไร
ไปจนถึงเรื่องที่ว่า ทักษะแห่งอนาคตของผู้ประกอบการยุคใหม่ ควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราสกัดแง่คิดมาจากเจ้าตัว ที่เคยเป็นอดีตเถ้าแก่ที่เฟ้นหาโอกาสทางธุรกิจให้ตัวเองมาตลอดชีวิต และเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในวงการธุรกิจไทย
ข้อพิสูจน์นั้นก็คือการปั้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซของตัวเองที่ชื่อ We Love Shopping ตอนอายุ 22 สร้างระบบการขายของจนเข้าตาบริษัทใหญ่ระดับประเทศ
อ้าว แล้วเขามาเป็นผู้บริหารขององค์กรยักษ์ใหญ่แบบ CP ได้อย่างไร? คุณอาจจะแอบสงสัย
เขาก็ขายบริษัทอีคอมเมิร์ซนั้นให้กับบริษัทในเครือของ CP แล้วมาเป็นเพชรเม็ดงามให้กับองค์กรที่เชื่อมั่นในวิธีคิดของเขาจนถึงวันนี้…
นี่คือบทสัมภาษณ์ที่จะช่วยให้คุณ Shift มุมมองการเป็นเถ้าแก่ยุคใหม่ ทบทวนการทำธุรกิจที่คุณเคยทำมาทั้งชีวิต
เรารู้ว่า ไม่อ่านไม่ได้แล้ว ถ้าอย่างนั้น อย่ารอ!
คุณมองเห็นวิธีคิดของ Entrepreneur หรือเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะในยุคนี้เป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามองจากประสบการณ์การสอนที่โรงเรียนผู้นำของกลุ่มซีพีมานานหลายปี
ผมคิดว่าหนึ่งในวิธีการสร้างคนที่ดีที่สุด คือการให้โอกาส เพราะต่อให้เป็นคนเก่ง คนดีและมีความสามารถ แต่ไม่ได้รับโอกาส เขาก็ไม่มีวันได้ฉายแสงนะครับ ผมคิดว่าสิ่งที่ซีพีกรุ๊ปมีให้ ก็คือ เรามีธุรกิจที่ใหญ่และหลากหลาย ดังนั้นจึงทำให้เรามีโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้ทดลองทำ แล้วผมคิดว่าในโลกของความเป็นจริง การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องของทฤษฎี แต่เป็นเรื่องของการลงมือทำ เพราะการลงมือทำ คือการกำหนดโชคชะตาของเราเองด้วย
ถ้าพูดถึงว่าการลงมือทำเท่ากับโชคชะตาแล้ว เบื้องต้นคุณคิดว่าแล้วการลงมือทำ หรือการกำหนดโชคชะตา มันต้องเริ่มต้นหรือประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง?
จริงๆแล้ว ถ้าขยายความเรื่องของโอกาสให้มากขึ้นก็คือว่า ถ้าเป็นในสมัยก่อน ผมอาจจะอยู่ในยุคที่การเป็นเถ้าแก่ มันไม่ได้ง่ายเลย เพราะอย่าลืมว่าการได้โอกาสมาหนึ่งโอกาส มันหมายความว่าทุกโอกาสมันมีต้นทุนเสมอ ทุนขั้นต่ำเลยก็คือค่าแรงเราถูกมั้ย? ดังนั้นการจะทำธุรกิจมันไม่ง่าย สมัยก่อนการที่ผมจะสร้างธุรกิจมาได้เนี่ย โอ้โห!มันต้องใช้ความอดทน ต้องบากบั่นและเต็มไปด้วยการแข่งขันต่างๆนานาสารพัด
แต่เถ้าแก่ในซีพีทุกวันนี้ องค์กรเรามีโปรเจกต์ให้เขาได้รับผิดชอบธุรกิจไปเลย 1 ธุรกิจ เช่น อาจจะให้ไปรับผิดชอบร้านเซเว่นกี่สาขาก็ว่าไป หรืออาจจะให้เขาไปรับผิดชอบธุรกิจ True Shop CP Fresh Mart บางโซน บางเขตไปเลย
ให้ธุรกิจไปทำแล้ว ก็ต้องให้อำนาจพวกเขาเป็นเหมือน Mini CEO นั่นคือให้พวกเขาได้มีสิทธิ์ที่จะบริหารงานเหมือนเป็นซีอีโอจริงๆ โดยให้ผู้มีอำนาจแต่เดิมหรือนายเก่าพวกเขาที่เคยดูแลพื้นที่นั้นๆ เปลี่ยนจากผู้นำกลายเป็นผู้สนับสนุนแทน
ดังนั้นเด็กเหล่านั้นก็มีโอกาสได้ทำ ได้เป็นทั้งนักคิดและนักทำด้วย จากนั้นก็มารายงานผลกับผู้บริหารทุกๆ 2 สัปดาห์หรืออะไรก็แล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งการที่เด็กได้คิด ได้ทำตามความคิดของตัวเอง อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการเปิดกรอบให้พวกเรา ผู้ใหญ่อีกหลายๆ คน ได้เรียนได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เห็นมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ว่าเขามีมุมมองที่แตกต่างจากผู้บริหารยังไงโดยที่เราเป็นผู้สนับสนุน ไม่ได้เป็นครอบงำพวกเขาว่า ทำแบบนู้นแบบนี้ถึงจะสำเร็จ
พวกเราในกลุ่มผู้บริหารเชื่อว่า การให้โอกาสต้องมาพร้อมกับการให้อำนาจ ถ้าคนเรามีโอกาสแต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เขาก็ไม่สามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
เมื่อเราให้ทั้งโอกาสและอำนาจแล้ว ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจโดยแท้จริงต้องพร้อมสนับสนุน และคิดว่าทำยังไงให้เด็กเหล่านี้ประสบความสำเร็จในแบบของเขา และในขณะที่เด็กมารายงานผล เราก็เรียนรู้พร้อมไปด้วยว่าเด็กได้ทดลองอะไร หรือได้ทำเรื่องใหม่ๆอะไรลงไปบ้าง เท่ากับว่ามันเป็นการเปิดโลกทัศน์สำหรับผู้นำ ได้ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ และได้ฟังเสียงคนที่อยู่หน้างานคือพนักงานที่ไปลงมือทำจริงๆ
ด้วยวิธีนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าด้วย นี่คือโอกาสที่ดี ที่จะให้เด็กไปรับผิดชอบและกล้าตัดสินใจลงมือทำ
ขณะเดียวกัน เด็กๆ ก็ต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่า สิ่งที่จะทำคืออะไร ดังนั้นแค่เรื่องเป้าหมายอย่างเดียวจะทำให้เราเรียนรู้จักเด็กทันทีเลยนะ เพราะถ้าเด็กตั้งเป้าหมายเล็กเราก็จะรู้ทันทีว่าเด็กเหล่านี้คิดเล็ก หรืออาจจะอยู่ใน Comfort zone นะ แล้วพอคิดเป้าหมายเล็กๆ กิจกรรมและกลยุทธ์ มันก็จะเล็กตามไปหมด
เพราะเป้าหมายเล็กก็มักจะไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการไปอัพเกรดปรับปรุงสิ่งเดิมๆที่มีอยู่ให้ดีขึ้น แต่ถ้าเด็กคนนั้นตั้งเป้าหมายใหญ่ ก็จะทำให้กลยุทธ์ของเขายิ่งใหญ่และวิธีการลงมือทำก็จะใหญ่ แล้วพอเขามีเป้าหมายใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะไม่เลือกไปพัฒนาปรับปรุงระบบเก่าๆหรอก เขาก็จะต้องทำสิ่งใหม่ไปเลย มันถึงจะใหญ่พอ
ดังนั้นจริงๆแล้ว จุดเริ่มต้นมันเริ่มจากการมองให้ออกว่า คุณภาพความคิดหรือเป้าหมายของเด็กๆ หรือคนทำงานรุ่นใหม่มีคุณภาพแค่ไหน นี่แค่ดอกแรกนะ แค่เรื่องการวางเป้าหมายก็เห็นแล้วว่าเด็กคนนั้นคิดยังไง หรือมีศักยภาพยังไง แค่การตั้งเป้าหมายมันก็เห็นหมดทุกอย่าง
จากนั้น พอเด็กตั้งเป้าหมายเสร็จ เราก็จะดูแล้วว่าถ้าเด็กมีเป้าหมายใหญ่ มีโครงการยิ่งใหญ่ที่จะทำ มีตัวเลขมาประกอบ เราก็จะดูว่าเขามีกลยุทธ์ไหม กลยุทธ์มันจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริหารที่รับฟังอยู่ว่า กลยุทธ์เหล่านั้นมีโอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายได้มั้ย บางครั้งเป้าหมายมันก็พูดง่ายนะ เพราะมันเป็นเรื่องของความฝัน แต่ความฝันมันจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อมีกลยุทธ์ที่จับต้องได้นะครับ
ดังนั้นคนมีวิสัยทัศน์กับคนขี้โม้เนี่ย มันต่างกันนิดเดียวเองนะ คนมีวิสัยทัศน์ก็คือคนที่เล่าอนาคตได้ จับต้องได้ นี่เขาเรียกคนมีวิสัยทัศน์ แต่คนที่เล่าอนาคตที่จับต้องไม่ได้ คนเหล่านี้คือคนขี้โม้ ซึ่งสองแบบนี้มันต่างกันแค่เส้นบางๆกั้นเท่านั้นเอง
การมีกลยุทธ์ที่ดี ก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่เราจะเห็นได้ว่า บุคลากรรุ่นใหม่มีมุมมองที่จะดำเนินธุรกิจยังไง ถ้ากลยุทธ์ดี เฉียบ และคม เราก็จะมีความมั่นใจได้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะไปถึงเป้าหมาย และกลยุทธ์ก็คือสิ่งที่เราทำได้ แต่คู่แข่งทำไม่ได้ คือสิ่งที่เราต่อยอดจากจุดแข็งของเราหรือเราทำก่อนคนอื่นเป็นต้น
เมื่อมีกลยุทธ์ที่จับต้องได้ แล้วก็จะมาดูเรื่องต่อมา ก็คือการลงมือทำ เราต้องดูว่าเขามีวิธีการลงมือทำให้เห็นผลยังไง มีการทำงานเชิงปฏิบัติยังไงบ้าง เพราะว่าคนที่จะเป็นเถ้าแก่ได้จะต้องมีโลกทั้งสองใบคือ โลกแห่งความฝัน และโลกแห่งความจริง โลกของนักธุรกิจมันอยู่กับความฝัน แต่การทำงานมันอยู่กับความเป็นจริง มันอยู่กันคนละโลก ดังนั้นคนที่สามารถเป็นเถ้าแก่หรือเป็น CEO ได้ จะไม่ได้เป็นคนที่มีแต่ความคิดหรอก มันต้องลงมือทำให้เห็นผลได้ เขาต้องบริหารฟ้ากับดินให้อยู่ร่วมกันให้ได้
ดังนั้นเราจะดูเถ้าแก่รุ่นใหม่ด้วยว่า ในโลกความเป็นจริงหรือการลงมือทำเนี่ย เขาทำให้เห็นผลทางตัวเลขได้ไหม เชื่อเถอะว่า คนที่เก่งและมีศักยภาพ เขาใช้โอกาสไม่เปลืองหรอก และเมื่อเขาได้รับโอกาส เขาจะเดิมพันกับโอกาสนั้นแล้วทุ่มเท แล้วเราจะเห็นเลยว่าเมื่อเราเอาไฟไปเผาแล้ว เขาจะกลายเป็นถ่านหรือเป็นเพชร
เวลามองคนว่าเก่งหรือไม่เก่ง ต้องมองตอนโดนความกดดัน เพราะตอนอารมณ์ดีหรือวุฒิภาวะปกติของทุกคนเนี่ย ผมเชื่อว่าศักยภาพแต่ละคนไม่แตกต่างกันมาก แต่ศักยภาพจะแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน ก็ต่อเมื่อเขาได้รับแรงกดดัน คนที่ได้รับแรงกดดัน หรือคนที่เก่งจะสามารถแปรเปลี่ยนความกดดันเป็นผลงานได้ ในขณะที่คนทั่วไป ต่อให้เป็นคนมีความคิดดี แต่โดนความกดดันก็อาจจะอารมณ์ร้อน ตัดสินใจไม่แม่นยำ โวยวาย หรืออีคิวไม่ได้ และแทนที่จะเปลี่ยนความกดดันเป็นผลงานก็กลายเป็นความท้อแท้ ท้อถอย ยอมแพ้ ดังนั้นเราจะเห็นนิสัยใจคอของคนได้หมดทุกมิติผ่านการลงมือทำ
และที่สำคัญนะครับ การทำงานใหญ่ มันไม่ได้สำเร็จได้ด้วยคนเพียงคนเดียวหรอก การจะเป็นเถ้าแก่ หรือ CEO มันต้องบริหารคนให้เป็นด้วย การให้เด็กรุ่นใหม่ หรือผู้บริหารรุ่นใหม่เขาไปบริหารธุรกิจเอง เราจะเห็นวิธีการบริหารคนของเขาด้วย จะได้รู้อีคิวหรือวุฒิภาวะในการตัดสินใจว่าเขาสามารถบริหารคนได้ไหม เพราะคนที่เราเลือกให้อยู่ในกลุ่มเขาจะเป็นคนเก่งทั้งนั้น ธรรมชาติของคนเก่งมักมีอีโก้และคนเก่งคุยกันมักจะไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะทุกคนมีจุดยืนของตัวเองกันทั้งสิ้น ดังนั้นคนเก่งที่แท้จริงคือคนที่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดได้ ไม่ใช่แค่ว่าคิดได้ โอเค ถ้าคุณคิดได้มันก็ดี กลยุทธ์เจ๋งลงมือทำธุรกิจก็เกิด แต่บริหารคนไม่ได้สุดท้ายก็ทำงานใหญ่ไม่ได้อยู่ดี เพราะเขาทำงาน อยู่คนเดียว เขาก็จะกลายเป็นศิลปินโดยสมบูรณ์แบบ
คนที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ หรือวุฒิภาวะของ CEO จึงมีเรื่องการสื่อสารและการบริหารคนเป็นอีกปัจจัยหลัก ที่จะทำให้รู้ว่าศักยภาพของแต่ละคนจะไปได้ไกลแค่ไหน ดังนั้นถ้ายกตัวอย่างการอบรมที่กลุ่มซีพีทำอยู่ ก็คือ เมื่อผู้บริหารแนะนำเด็กๆ ไปแล้ว เด็กๆก็จะลงมือทำแล้วก็จะมารายงานผลทุกอาทิตย์ แล้วพวกเราก็จะฟังวิเคราะห์แล้วก็เสนอแนะเขาว่าควรจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่วนเขาเมื่อรับฟังไปแล้วจะเอาไปทำตามหรือไม่เป็นเรื่องของเขา เพราะถือว่าเราให้อำนาจหรือให้โอกาสพวกเขาไปทำแล้ว ดังนั้นหน้าที่ของกลุ่มผู้บริหารในเครือเราก็เหมือนกับผู้นำโดยแท้จริงโดยไม่ได้ไปนำเขาตลอด แต่ต้องเดินข้างๆสนับสนุนให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
ผมคิดว่า คนที่จะบริหารธุรกิจใหญ่โตได้ ศักยภาพพื้นฐานของเขาต้องมีทักษะการสื่อสารและความเป็นครูอยู่ด้วย มันไม่มีทางหรอกที่เราจ้างบุคลากรมาแล้วจะเป็นไปตามสิ่งที่เราคิดทุกอย่าง แต่เราต้องรู้จักปั้นเขา รู้จักสร้างเขาให้เป็นบุคลากรที่เราต้องการ ดังนั้นผมคิดว่าหนึ่งในหน้าที่ของผู้นำคือทักษะการสื่อสารและถ่ายทอด
ทักษะการบริหารคนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการบริหารคนที่ตำแหน่งน้อยกว่าเรา เราใช้คำสั่งได้ คุณสั่งเขาก็ทำนะครับ แต่คนที่มีทักษะ หรือเรียนมาสูงมากเช่น อาจจะเรียนมาเท่ากันหรือมากกว่า เราจะสั่งด้วยคำสั่งไม่ได้หรอก ต้องสั่งด้วยการให้แรงผลักดันและด้วยวิสัยทัศน์ให้เขาเห็นภาพเขาถึงจะทำ เช่น ผมอายุน้อยกว่าแต่จะบริหารคนที่อายุมากกว่า มันไม่ได้บริหารด้วยอารมณ์หรือคำสั่งได้เลยนะ เพราะด้วยวัยวุฒิรวมถึงอีกหลายปัจจัย ไม่ได้อำนวยให้สั่งด้วยคำสั่งได้หรอก ดังนั้นต้องพูดด้วยเป้าหมายและกลยุทธ์ที่จับต้องได้ มีเหตุผลและมีน้ำหนักทางตัวเลขที่น่าเชื่อถือมากพอที่จะทำให้เขาตัดสินใจเชื่อเราได้ ไม่ใช่ด้วยอารมณ์
ในกรณีที่ผู้บริหารคนนั้นไปบริหารกิจการที่มอบให้ไปและไม่ประสบความสำเร็จ ผู้นำองค์กรจะมีวิธีมองความล้มเหลวของพวกเขายังไง
เหมือนกับผมไปบอกให้พนักงานทุกคนปีนภูเขาลูกเล็กๆ ลูกหนึ่ง ถ้าลูกเล็กๆเตี้ยมากๆเหมือนข้ามสะพานเนี่ยนะ ผมคิดว่าพนักงานทุกคนก็ทำได้หมด ผมก็จะไม่รู้หรอกว่าคนไหนเก่งหรือไม่เก่งเพราะเขาข้ามกันได้หมดทุกคน ดังนั้นสิ่งที่ผมทำก็คือว่า เมื่อเราจะสร้างคนและให้โอกาสที่ใหญ่พอนะ ผมต้องให้ภูเขาลูกใหญ่ไปลูกหนึ่งแล้วให้ทุกคนปีนข้าม ผมจะเห็นลิมิตของแต่ละคนว่าอยู่ที่ไหน เช่น คนนี้ปีนได้เกือบถึงยอดเขาหรือคนนี้แค่ตีนเขาก็ไม่รอดแล้ว ดังนั้นถ้าผมให้โอกาสที่ท้าทายพอ เราจะเห็นลิมิตของเด็กแต่ละคน แล้วเราจะรู้แล้วว่าจุดอ่อนเขาอยู่ตรงไหนทันทีเลย แล้วเราจะได้พัฒนาเขาได้ถูกต้องว่า คนนี้อ่อนเรื่องไหน ไม่อย่างนั้นนะคุณรับคนรุ่นใหม่มาแล้วคุณก็ค่อยๆใช้งานเขาไปเนี่ย กว่าคุณจะรู้ว่าเขาเก่งหรือไม่เก่ง อาจจะผ่านไปแล้ว 5 ปี 10 ปี เพราะเขาได้โอกาสเล็กนิดเดียว เลยไม่ได้ฉายแสงสักที สู้เราให้โอกาสที่ใหญ่ให้งานหนักไปเลยทีเดียว เราจะรู้เลยศักยภาพเขาอยู่ตรงไหน มันจะดีกว่า
แล้วอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองจากฝั่งบริษัท มันไม่เสี่ยงสำหรับคนที่ให้โอกาสหรือ
มันไม่เสี่ยงหรอก ทุกการเรียนรู้มีต้นทุนทั้งนั้น เราเรียนปริญญาตรีก็จ่ายค่าเทอม เรียนปริญญาโทก็จ่ายค่าเทอม ทุกการเรียนรู้ก็มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นมันมีความเสียหายอยู่แล้วทางการเงินถูกไหม ถ้าอยากรู้ว่าเขาทำได้หรือไม่ได้แค่ไหน บริษัทก็ต้องลงทุน แต่ส่วนที่เรายกให้เขาไปรับผิดชอบ มันไม่ได้ใหญ่โตเกินไป เช่นกรณีการสร้างเถ้าแก่รุ่นใหม่ เราให้เขาไปบริหารธุรกิจ เราก็แบ่งเขตรับผิดชอบ โดยรู้อยู่แล้วว่าถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นในเขตนี้ เต็มที่เราจะเสียเท่าไหร่ กี่สาขา กี่จังหวัด เราเห็นหมดแหละ และอีกอย่างคือว่า ต่อให้ผิด มันก็ไม่ได้ผิดไกลหรือนานมากหรอก เพราะว่า 2 อาทิตย์เขาก็มารายงานทีนึง ดังนั้นตัวเลขก็มีให้เห็นอยู่ว่าอะไรดีหรือไม่ดี
เอาจริงๆ ผมไม่ได้กลัวความผิดพลาด เพราะแปลว่ามันมีการลงมือทำ มันถึงได้มีถูกมีผิด แต่ถ้าไม่ผิดเลยก็คือไม่ทำ ดังนั้นความล้มเหลวมันก็เป็นจุดเริ่มของความสำเร็จ ถ้าไม่อยากล้มเหลว หรือไม่ผิดพลาดเลย ก็คือไม่ทำ ดังนั้นให้คนรุ่นใหม่เขาลงมือทำแล้วเราก็ช่วยและสนับสนุนเขาไปดีกว่า ถ้ามีอะไรผิดพลาด ก็ให้เขาพูดมาตรงๆได้เลย เพราะพวกเขาคือฮีโร่ที่ทำให้เรารู้ว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เพราะว่าถ้าเกิดเขาทำผิดแล้วไปต่อว่ามันก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดีอยู่แล้วที่ผู้นำจะไปว่าเขา ดังนั้นผู้นำองค์กรที่ดีเนี่ย ถ้าเด็กทำผิดพลาดก็ต้องผลักดันให้ความรู้เขาและบอกให้เขารู้ว่าอย่าผิดซ้ำ
สำหรับผม ปัญหามันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท หนึ่งคือ ปัญหาใหม่ ซึ่งจะทำให้บริษัทเดินหน้า กับสองคือปัญหาเก่า ซึ่งทำให้บริษัทถอยหลัง ถ้าเจอปัญหาซ้ำซาก บ่อยๆ แสดงว่าบริษัทถอยหลังแล้วละ เพราะแก้ไม่ได้สักที แต่ถ้าเจอปัญหาใหม่ๆเรื่องใหม่ๆ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่าลืมว่าการทำสิ่งใหม่มันมาคู่กับปัญหาทั้งนั้น ดังนั้นถ้าคนจะเป็นนักธุรกิจต้องมีความสุขกับปัญหาก่อน เพราะการทำธุรกิจต้องอยู่กับปัญหาถ้าไม่มีความสุขกับการอยู่กับปัญหาและการแก้ไขปัญหา มันจะทำให้เมื่อเห็นปัญหาคุณก็เบื่อหรือท้อ จิตวิญญาณของคุณจึงไม่ใช่ผู้นำ ยิ่งเป็นผู้นำก็ต้องทำสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ต้องเจอกับปัญหาเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นผมคิดว่าจิตตั้งต้นในการที่จะมีความสุขกับการแก้ปัญหาคือสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องในการเป็นผู้นำและเป็นนักธุรกิจ
อยากให้คุณช่วยย้อนกลับไปตอนที่เริ่มทำธุรกิจส่วนตัวกันบ้าง ในตอนนั้นมีคนมาให้คำปรึกษามั้ย หรือไปเรียนรู้เอาเองและตอนนั้นคุณค้นพบว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสุขกับปัญหาหรือการแก้ปัญหาหรือเปล่า
ต้องบอกว่าผมมีเป้าหมายในการทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก คือผมอาจจะโชคดีที่รู้จักตัวเองได้เร็วด้วย เพราะผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งมาตั้งแต่เด็กว่าถ้าผมยิ่งรู้จักตัวเองมากเท่าไหร่ ผมจะยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ดังนั้น การที่ผมรู้จักตัวเองมาก ก็ยิ่งทำให้รู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองมากขึ้น จากนั้นผมก็เลือกที่จะพัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อน ดังนั้นในมุมมองผม ซึ่งอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่นก็คือ ผมไม่มีใครเป็นไอดอลที่จะต้องเป็นอย่างคนๆ นั้น
หลักการคิดของผมก็คือ ผมนับถือตัวเองเป็นอาจารย์และเรียนรู้จากตัวผมเองนี่แหละ เรียนรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็ง จุดอ่อน จุดตายอยู่ตรงไหน แล้วผมก็พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือพื้นฐานที่ทำให้ผมมีบุคลิกและทัศนคติเป็นแบบทุกวันนี้ ผมพยายามแตกฉานด้วยตัวเอง ผ่านการลงมือทำจนเข้าใจตัวเอง เช่น ตอนเด็กๆ ผมอาจจะคิดว่าที่ผมชอบวิศวะเพราะผมเก่งเลข แต่พอผมลงมือเรียนจริงๆ ผมก็เริ่มรู้ว่าผมเก่งทั้งเลขและฟิสิกส์ ดังนั้นตัวอย่างนี้ ทำให้ผมคิดว่า การลงมือทำนั่นแหละ ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นมันไม่มีอะไรดีเท่ากับการเรียนรู้ตัวเองผ่านการลงมือทำอีกแล้ว
ผมเป็นคนมีเป้าหมายในชีวิตตั้งแต่เด็กนะว่าชอบทำการค้า จุดเริ่มต้นคือสมัยผมอายุ 7-8 ขวบ ตอนนั้นเรียนชั้นประถม ผมว่าผมค้นพบตัวเองโดยไม่ได้เจตนา (หัวเราะ) เริ่มจาก ตอนเด็กๆ ผมชอบกินขนมถุงยี่ห้อ กาก้า คัมคัม โดเรม่อน ซึ่งสมัยก่อนเขาจะแถมของเล่นหรือสติกเกอร์ต่างๆ ที่ได้กินนี่ก็เพราะแม่ตามใจซื้อให้ แต่พ่อผมไม่อยากให้กินเพราะมันเป็นขนมไร้สาระ เอาเป็นว่าทุกครั้งที่กิน พ่อไม่เคยมาว่าผมโดยตรง แต่พ่อกลับไปบ่นกับแม่ตลอด เช่น ปล่อยให้ลูกกินขนมอย่างนี้ได้ยังไง จนถึงจุดหนึ่งที่ผมอยากกินขนมแบบมีความสุขโดยที่พ่อไม่ต้องว่าแม่ ผมก็เลยไปคุยกับพ่อว่า ผมจะกินขนมได้ยังไงโดยที่พ่อไม่ต้องว่าแม่ (หัวเราะ) ก็ไปถามตามประสาเด็กแหละ พ่อผมก็ตอบแบบฉลาดว่าถ้าหาตังค์เองได้ ก็ไม่ว่าหรอก มันก็เป็นการปฏิเสธฉลาดๆ เพราะเด็กมันหาเงินเองไม่ได้อยู่แล้ว
แต่หารู้ไม่คำที่ว่า “ถ้าหาตังค์เองได้แล้วไปซื้อขนม พ่อจะไม่ว่าเลย” มันกลายเป็นการจุดประกายให้ผมคิดหาตังค์ตั้งแต่เด็กๆ ผมยังไม่รู้หรอกว่าการต้องหาตังค์ได้เองคือวิถีเถ้าแก่ แต่ผมก็ตัดสินใจหาของมาขาย
ทีนี้ ทุกวันอาทิตย์ ญาติๆของผมจะไปรวมตัวกันที่บ้านคุณย่า แล้วในยุคนั้นเป็นยุคเบอร์โทรศัพท์ 02 คือโทรศัพท์บ้านนั่นแหละ แล้วทุกบ้านจะมีสมุดโทรศัพท์และมีสมุดฉีกเล็กๆอยู่ข้างโทรศัพท์เสมอ ผมก็ฉีกเอากระดาษพวกนั้นมาพับเป็นนก เป็นสัตว์ต่างๆ เป็นเสื้อ เท่าที่จะทำได้ แล้วผมก็เอากระดาษที่พับแล้วใส่ถาดแก้วน้ำเล็กๆไปเร่ขายให้ญาติๆในวันอาทิตย์ ไปถามว่า เอานกไหมครับ เอาเสื้อไหมครับ ขายตัวหนึ่งก็ 20-25 สตางค์ ซึ่งในยุคนั้นมันได้เยอะมากนะ
กลายเป็นว่าญาติๆผมเนี่ย มาแห่กันซื้อของที่ผมพับเต็มไปหมดเลย ถามว่าเขาอยากได้มั้ย เขาไม่ได้อยากได้หรอกไอ้เศษกระดาษพับได้ของผมเนี่ย แต่เขาซื้อเพราะความเอ็นดูเด็กคนหนึ่งเท่านั้นแหละ แต่หารู้ไม่ว่าการพับกระดาษไปเร่ขายญาติ ทำให้ผมมีเงินแล้วไปซื้อขนมอย่างที่อยากกินได้
แล้วไปๆ มาๆ พ่อผมและคนอื่นๆ ก็ชมว่า “เก่งจังเลยหาตังค์ได้ พับนกมาขายอีกนะ พับเสื้อมาขายอีกนะ”ซึ่งมันกลายเป็นคำชมที่โอ้โห! ปลื้มมากๆ เหมือนเดินไปไหนก็มีแต่คนชม แล้วการพับนกขายมันก็เลยกลายเป็นกิจการชิ้นแรกที่ผมจำได้ เป็นของเล่นวัยเด็กที่ไม่เคยลืม เป็นความประทับใจที่ฝังมาโดยไม่รู้ตัว ขนาดไอ้ของเล่นอื่นๆ ในชีวิตผมยังไม่เคยจำได้เลยว่าผมมีอะไรมั่ง แต่ผมจำเรื่องนี้ได้ แล้วมันก็กลายเป็นสิ่งที่จุดประกายทำให้รู้สึกว่าการหาเงิน แม้จะเป็นเรื่องยากแต่มันก็สนุก
พอครั้งแรกทำแล้วมันได้ผลดี อาทิตย์ถัดมาผมก็อยากขายได้อีก ก็เลยมานั่งพับนก พับเสื้อแบบเดิมขายอีก แต่ญาติๆ เขาไม่เอาแล้ว เพราะมันซ้ำกับอาทิตย์ที่แล้ว ผมก็ต้องคิดวิธีใหม่ๆ ที่ทำให้ขายได้ เช่น พอสัปดาห์ที่ 2 ต้องเอาปากกา ดินสอสีมาระบายกระดาษให้มีสีสัน สัปดาห์ที่ 3 ต้องเอาสติกเกอร์ใสฉีกแล้วม้วนๆเป็นก้อนเหนียวๆ มาติดตัวกระดาษที่พับ แล้วผมก็บอกว่าเอาไปแปะตู้เย็นได้ คือพยายามหาเรื่องทำให้มันแตกต่าง แล้วก็อัพราคาจาก 25 เป็น 50 สตางค์แล้วก็เพิ่มเป็น 1 บาท โอ้โห! กว่าจะได้บาทหนึ่งแทบตาย ทำจนกระทั่งหมดมุกอะ (หัวเราะ)
ดังนั้นจำได้ว่าทุกอาทิตย์ พ่อผมจะมีเรื่องมาท้าทายผมอยู่ตลอดว่าเช่น “อาทิตย์นี้จะทำของเล่นอะไรไปขายญาติๆอีก” ผมก็จะต้องมานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้มันแตกต่างจากครั้งที่แล้วเพื่อให้มันขายได้ตังค์เยอะขึ้น ได้เงินไปซื้อขนม มันเหมือนเป็นรางวัลที่อยู่ตรงหน้า พ่อแม่ก็ไม่ด่า แต่หันมาชมเราว่า “เออ! เก่งนะรู้จักทำมาหากิน” มันก็อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ทำให้ผมมีจุดเปลี่ยน และค้นพบตัวเองว่า เออ ผมมีความสุขกับการเป็นเถ้าแก่ มีความสนุกกับการหาเงินด้วยตัวเอง แต่ผมเอาไปลองทำกับลูกตัวเอง 7-8 ขวบเหมือนกันเนี่ย ลูกผมก็ไม่ได้อินนะ (หัวเราะ)
เวลาคนเราจะเริ่มลงมือทำอะไรใหม่ๆ สักอย่าง ความรู้สึกหนึ่งที่คนส่วนใหญ่จะต้องเจอบ่อยๆก็คือความกลัว เช่น กลัวว่าจะทำไม่ได้ ไม่รู้จะทำสำเร็จหรือเปล่า อยากทราบว่าความรู้สึกเหล่านี้มันเกิดกับคุณบ้างไหม
มันเป็นเรื่องปกติแหละ คนเรามันก็ต้องมีสัญชาตญาณความกลัว และบังเอิญว่าความกลัวเป็นความรู้สึกที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ง่ายที่สุด ดังนั้น ผมคิดว่าการกลัวความล้มเหลว หรือกลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความกลัวเหล่านั้นเจือจางลงก็คือการหาเหตุผลและน้ำหนักทางตัวเลขที่ชี้วัดได้ว่าความกลัวนั้นเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่กันแน่
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องการวิเคราะห์ว่าความเสี่ยงคืออะไร นักธุรกิจที่ดีต้องตีความเสี่ยงแฝงออกให้ครบ ยิ่งตีความเสี่ยงแฝงได้มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งต่ำเท่านั้น ดังนั้นผมคิดว่าหนึ่งในการตีความเสี่ยงก็คือ องค์ความรู้ในเชิงปฏิบัติ และนั่นแหละคือต้นทุนที่แพงที่สุดในการทำธุรกิจ ดังนั้นถ้าเราทำอะไรโดยไม่ได้รู้จริง การประเมินความเสี่ยงก็จะไม่ชัด และนำมาสู่ความเสี่ยงในเรื่องอื่นๆ ของการทำธุรกิจได้อีก ดังนั้นการจะตีความเสี่ยงได้ชัดเจนแม่นยำ ก็ต้องดูว่าองค์ความรู้เรามีพอหรือเปล่า และที่สำคัญก็คือ ถ้าคิดจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องให้คนเก่งจริงมาทำ เพราะถ้าหากผมจะทำธุรกิจอะไรก็ตามในโลกนี้ แล้วลงมือทำด้วยตัวเองเสมอ ผมก็จะเจ๊งทุกเรื่องเหมือนกันเพราะผมไม่ได้เก่งจริงทุกเรื่อง
ดังนั้นบอกเลยว่า ผมไม่ได้เหมือนคนอื่นๆ ที่เห็นธุรกิจไหนที่มันดูเซ็กซี่แล้วก็ไปลงมือทำด้วยตัวเองหมด เวลาผมเจอธุรกิจอะไรที่ดีและเหมาะสมที่จะทำ ผมก็จะคิดเรื่องต่อมาทันทีเลยว่า ผมมีบุคลากรที่เก่งจริงมาทำไหม ถ้าผมได้คนที่เก่งจริง หรือเป็นเบอร์ต้นๆในประเทศเป็นคนทำธุรกิจนั้น ผมก็มีโอกาสขึ้นไปเป็นอันดับต้นๆในประเทศได้ แต่ถ้าผมไม่ได้มีคนเก่งจริงๆ ในมือ ผมก็พอมองออกว่ามันคงจะไม่ใช่ธุรกิจอะไรที่ใหญ่โตต่อไปได้หรอก
หลักการสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ผมจะไม่เอาตัวเองไปเดิมพันกับทุกธุรกิจที่ผมเห็นโอกาส แต่ผมจะใช้เวลาในการหาบุคลากรที่ใช่ไปรันธุรกิจนั้นๆ แล้วผมจะเปลี่ยนบทบาทจากคนที่มองหาโอกาสหรือบุคลากร มาเป็นผู้สนับสนุนให้คนเก่งเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เพื่อทำให้เขาประสบความสำเร็จแล้วโตไปด้วยกัน
สำหรับผมแล้ว การเห็นโอกาสแล้วกระโดดลงไปทำเองหมด มันคือการเอาตัวเองไปเดิมพันทั้งนั้น เท่ากับเอาชีวิตคุณไปซื้อหวย 1 ใบ จะถูกหรือเปล่าไม่รู้ แล้วการทำธุรกิจตัวหนึ่งมันใช้เวลานะ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆหมูๆ กว่าจะรู้ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็หลายปี เท่ากับว่าผมมิต้องเอาชีวิตไปเดิมพันเป็นสิบๆปีเหรอ? สมัยนี้เวลามันผ่านไปเร็วมากนะ
เอาอย่างนี้ดีกว่า เพื่อให้มองภาพได้ง่ายขึ้น เวลาผมจะทำธุรกิจอะไร ผมจะต้องสรุปวิธีให้ได้ใน 5 ข้อหลักๆ ข้อแรกก็คือ คุณภาพของโอกาสที่ผมได้รับมามันใหญ่มากน้อยแค่ไหนและตอบโจทย์ใหญ่ของผมมั้ย ถ้าคุณภาพใหญ่พอ มันก็จะเข้าสู่ข้อที่ 2 คือ คุณภาพของโอกาสนั้นอยู่ในจังหวะเวลาที่ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นจะเห็นว่าเรื่องที่สองเป็นเรื่องจังหวะเวลาแล้วนะ ถ้าโอกาสดีและคุณได้ทำคนแรก คุณก็เป็นผู้นำ แต่ขณะเดียวกัน แม้จะเป็นโอกาสที่ดีแต่จังหวะเวลาไม่เหมาะสม คุณไปทำหลังชาวบ้านเขาคุณก็กลายเป็นผู้ตามได้ ดังนั้นจังหวะมันเป็นศิลปะของการทำธุรกิจ คนที่ทำธุรกิจเป็นต้องรู้จักจังหวะที่เหมาะสม ต้องรู้ว่าถ้าเกิดเรามาช้ากว่าเขา หรือทำหลังคนอื่นก็ต้องมีทีเด็ดที่กลยุทธ์ที่แข็งแรงพอที่จะผลักดันตัวเองให้มาเป็นผู้นำทางธุรกิจได้ ดังนั้นมันหนีไม่พ้นที่คุณต้องคิดใหม่ หาวิธีการใหม่ๆ ถึงจะมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำได้ ข้อต่อมา เป็นข้อที่ 3 คือ บุคลากร จริงอยู่ถ้าผมมีโอกาสดี จังหวะดี แต่บุคลากรไม่มีจะทำ ผมก็ไม่เอาแล้ว นี่แหละถึงเน้นว่า ผมต้องไปควานหาคนเก่งๆ มาทำงานให้ได้
ข้อที่ 4 คือเรื่องของเงินทุน เพราะที่พูดมาทั้งหมด ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีประโยชน์
(หัวเราะ) อย่าลืมว่าทุกธุรกิจก็ต้องใช้เงินทุนกันทั้งนั้น ซึ่งเงินทุนก็มาได้จากหลายที่ ซึ่งเราก็ต้องดูเนื้อคู่ของธุรกิจเราให้ออกด้วยว่าใครจะมาเป็นคนให้เงินทุน เช่น ได้เงินมาจากนักลงทุนที่มีองค์ความรู้เชิงปฏิบัติ หรือมีประสบการณ์ในวงการนั้นมาเยอะ ซึ่งจะมาต่อยอดธุรกิจผมได้ด้วย ไม่ใช่แค่ได้ทุน แบบนี้ผมจะถือว่าเป็นเงินทุนที่มีคุณภาพดี แต่ถ้าหากได้เงินทุนมาจากธนาคาร ผมถือว่าเป็นเงินที่คุณภาพกลางๆหรือทั่วไป
ต่อมาข้อที่ 5 คือ แผนปฏิบัติการ ถ้าคุณทำทุกอย่างดีหมดแต่ไม่มีกลยุทธ์ในการลงมือทำ และไม่เห็นแนวทางว่าจะทำงานกันในเฟส 1 หรือ 2 ยังไง ไม่รู้ว่าตัวชี้วัดความสำเร็จอยู่ตรงไหน ทุกอย่างที่เล่ามาก็เป็นแค่ความฝันอยู่ดี ทั้งหมดนี้คือตัวคัดกรองโอกาสในการทำธุรกิจได้อย่างมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าผ่านหลัก 5 ข้อนี้ไปได้ ผมก็ค่อยลงลึกไปคิดในเรื่องอื่นๆ
เพราะอย่าลืมนะ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่คนที่หาโอกาสเป็นอย่างเดียว แต่คนที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องรู้จักปฏิเสธโอกาสที่ไม่ใช่ด้วย ผมมองว่า คนทั่วไปบางทีก็ปฏิเสธไม่เป็นนะ เห็นโอกาสเข้ามาก็ทำหมด รับไว้หมด ซึ่งถ้าเกิดผมมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน แล้วผมไปเลือกทำโอกาสเล็กๆที่มันเป็นดอกไม้ริมทางที่ผ่านมาอยู่ตรงหน้าและผมปฏิเสธโอกาสเหล่านั้นไม่เป็น มันก็จะทำให้เป้าหมายหรือภาพใหญ่ของผมผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้นการจะปฏิเสธโอกาสได้ ก็ต้องอาศัยหลักการ 5 ข้อเมื่อกี้ที่ผมบอกไป เพื่อเป็นการตีมูลค่าของโอกาสออกมาให้คุณเห็นว่าโอกาสมันใหญ่พอที่จะเข้าไปลงมือทำไหม โอกาสนี้ควรปฏิเสธไหม เพื่อให้สามารถบริหารเวลาแล้วสามารถโฟกัสสิ่งที่ต้องทำได้แม่นยำขึ้น
กลับมาเรื่อง Entrepreneur อีกทีในฐานะที่คุณมักให้คำปรึกษาเรื่องนี้บ่อยๆ คุณคิดว่าทักษะอะไรที่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเป็นสิ่งที่เขากำลังขาดไป
ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่มีความกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ดังนั้นสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องของไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ ความอดทน และการสื่อสารที่เด็กยุคนี้ไม่ได้มีเหมือนเถ้าแก่ในอดีต อาจเป็นเพราะว่า เด็กรุ่นใหม่โตมากับหน้าจอ คือเล่น iPad เป็นก่อน เขียนก.ไก่ เสียอีก ดังนั้นพออยู่กับหน้าจอปุ๊บ สิ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่แตกต่างจากคนรุ่นผมก็คือการสื่อสารไม่ค่อยดี เพราะความที่อยู่แต่กับคอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์ ไม่ได้สื่อสารกับคนในโลกจริงๆ แบบเจอหน้าเจอตากันมากนัก
ผมใช้คำว่า คนยุคผมจะอยู่กับคนบนโลกจริงเยอะ เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไม่ค่อยมี ต้องมาเจอหน้าเจรจากัน ดังนั้นทักษะเรื่องกาาติดต่อสื่อสารจึงมีสูงกว่าถ้าเทียบกับเด็กรุ่นใหม่ พอขาดทักษะเรื่องการสื่อสาร ก็จะมีปัญหาเรื่องการบริหารคนด้วย นั่นคือจุดอ่อนหลักๆของเด็กรุ่นใหม่
จุดอ่อนของเด็กรุ่นใหม่อีกเรื่องเท่าที่ผมเจอมา คือ ขาดความอดทนและทิ้งเป้าหมายตัวเองได้ง่าย คนที่เวลาเจอปัญหาอะไรนิดหน่อยก็ยอมแพ้ง่าย ผมเรียกอาการแบบนั้นว่า “แรงยึดเกาะเป้าหมายต่ำ” คือเขาอาจจะตั้งเป้าหมายได้ดี แต่พอลงมือทำและเจออุปสรรค ภูมิต้านทานไม่ได้แข็งแรงพอ แรงยึดเกาะกับเป้าหมายนั้นก็เลยต่ำ ทำให้ทิ้งเป้าหมายตัวเองไปอย่างง่ายๆ
ผมมักจะเล่าให้พนักงานผมฟังประจำว่า เวลาผมทำธุรกิจเนี่ย ก็เหมือนกับการเล่นเกมแหละ ถ้ามันมี 10 ด่านถึงจะเห็นฉากน็อค ผมก็จะตั้งเป้าหมายในการเล่นว่าจะเล่นให้ถึงฉากน็อคให้ได้ ตอนเริ่มต้น ทุกคนถือจอยสติ๊กเล่นเกมเหมือนกัน แต่พอเล่นไปถึง Level 3 Level 4 ผมก็ค้นพบว่า เด็กบางกลุ่มหรือประมาณ 50 % จะละทิ้งเป้าหมายได้เร็วมาก เพราะแพ้แล้วเบื่อ เลยตัดสินใจโยนจอยฯ ทิ้งก่อนเป็นกลุ่มแรก คือทิ้งเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่เด็กกลุ่มที่ 2 จะพยายามแล้วพยายามอีก แต่เล่นไปได้แค่ Level 4 5 6 สุดท้ายพวกเขาก็ยังแพ้อยู่ดี เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ 2 ที่เลือกที่จะทิ้งจอย ฯไป เด็กกลุ่มนี้จะบอกว่า เอ๊ย! ผมเนี่ยพยายามแล้วพยายามอีกนะ แต่ผมก็รู้แล้วว่ามันไม่ใช่ตัวผมจริงๆที่จะเล่นเกมนี้จนน็อคได้ ดังนั้นกลุ่มนี้เขาก็จะสร้างเหตุผลที่จับต้องได้ในการที่จะละทิ้งเป้าหมายไป
ทีนี้ก็จะเหลือกลุ่มที่พยายามไปต่อ และเล่นไปจนถึงด่าน 7 8 9 เกือบจะสูงสุดละ แต่ก็ยังไปไม่ถึงฉากน็อค กลุ่มนี้ก็จะบอกว่า งั้นผมไม่ไหวละ ผมทิ้งเป้าหมายแล้ว ดีกว่าเพราะว่าคนที่จะเล่นจนเห็นฉากน็อคอย่างที่คุณเบสท์บอกได้ คงต้องเป็นคนที่มีพรสวรรค์เท่านั้น เขาอาจจะบอกว่าเขาพยายามสุดชีวิตแล้ว สุดท้ายมันก็ตันที่ความสามารถเขาจริงๆ แล้วเขาก็จะยอมรับความจริงว่าตัวเองเล่นไม่ได้ กลุ่มนี้ก็จะทิ้งจอยฯ ไปอีกเป็นกลุ่มที่ 3
สุดท้ายตอนนี้ก็ยังไม่มีใครถึงฉากน็อคอยู่ดี แล้วถ้าถามผมล่ะ? ในฐานะที่ผมก็ตั้งเป้าหมายว่ายังไงต้องเล่นถึงฉากน็อคให้ได้ แต่ทีนี้ผมจะทำยังไงดี ถ้าเกิดมันน็อคด้วยมือผมเองไม่ได้? ผมก็จะจ้างคนอื่นที่มันเก่งจริงมาเล่นไง เพื่อที่ผมจะยังคงเห็นฉากน็อคได้อยู่ เข้าใจมั้ยว่าผมไม่ทิ้งเป้าหมายของผม แต่แค่เปลี่ยนวิธีการและไม่ดื้อด้านที่จะเก่งด้วยตัวเอง เพราะผมรู้ว่าชาตินี้ผมก็เล่นเกมนี้ไม่ได้ มันคือการยอมรับความจริงว่า ขีดความสามารถผมอยู่ตรงไหนโดยผ่านการเรียนรู้จักตัวเอง แต่ยังคงรักษาเป้าหมายเดิมได้อยู่ คุณพอเข้าใจแรงยึดเกาะเป้าหมายของผมไหม?
นี่คือการยกตัวอย่างให้เห็นว่าแรงยึดเกาะเป้าหมายแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วแรงยึดเกาะเหล่านั้นแหละที่เป็นความตั้งใจและเป็นภูมิต้านทานที่ทำให้ผมสามารถที่จะอดทนทำอะไรสักอย่างจนสำเร็จให้ได้ เพราะผมยังคงยึดมั่นในเป้าหมายเดิม
สุดท้ายแล้ว ถ้าคนเรามีแรงยึดเกาะต่ำ ความพยายามก็ต่ำ ความอดทนก็ต่ำด้วย มันคือธรรมชาติมนุษย์ ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ได้ดีเท่าไหร่ หรือเข้าใจธรรมชาติตัวเราเองได้ดีเท่าไหร่ เราก็ยิ่งประสบความสำเร็จได้มากเท่านั้นแหละ มันคือหลักการธรรมชาติง่ายๆที่คนมองข้ามไป
ก่อนหน้านี้คุณพูดเรื่อง แพ้เป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร ถ้าเอาสมการนี้มาใช้ในเวลาที่เจอวิกฤติ คุณพอจะยกตัวอย่างได้มั้ยว่าอะไรเป็นไฟ อะไรเป็นถ่าน
มันไม่รู้จะเปรียบเทียบยังไงนะ ผมแค่มองว่าเรื่องไฟ ถ่าน เพชรของผมเนี่ย มันคือผลลัพธ์ของการลงมือทำงานหนักด้วยความอดทน ถ้าเราแพ้ก็เป็นถ่าน ผ่านก็เป็นเพชร ซึ่งแปลว่าเราสามารถอดทนแก้ไขปัญหาจนบรรลุเป้าหมาย ทนความร้อน ทนความกดดัน ทนปัญหาอุปสรรคและทนจนเห็นผลลัพธ์ได้
ผมคิดว่าคนที่จะเป็นเถ้าแก่หรือซีอีโอได้ ต้องดูเขาตอนที่ตกต่ำด้วย คือตอนที่ธุรกิจมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ผมคิดว่าใครๆก็ทำธุรกิจได้ แต่ตอนธุรกิจอยู่ในภาวะวิกฤติต่างหากที่เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า เขามีการบริหารจัดการความกดดันยังไง แก้ปัญหายังไง นั่นแหละคือการจะวัดว่าซีอีโอคนนั้นมีศักยภาพเป็นซีอีโอได้จริงๆหรือเปล่า ดังนั้นผมแค่จะบอกว่า วิธีคิดในการเจอปัญหามันคือ จิตตั้งต้นในการเจอปัญหาเท่านั้นเอง ถ้าจิตตั้งต้นในการเจอปัญหาของเขาเป็นลบ หรืออารมณ์ร้อนมันก็จะผิดไปหมดทุกอย่าง เพราะเมื่ออารมณ์ร้อน ผมก็จะตัดสินใจหุนหัน โทษคนอื่น ด่าลูกน้องหรือทำทุกอย่างร้อนไปหมดเพราะจิตตั้งต้นเป็นลบ
แต่ถ้าจิตตั้งต้นเป็นบวกมันจะเป็นอีกอย่าง ลองสังเกตคนที่เป็นผู้นำ เราจะเห็นว่ายิ่งเจอปัญหา ก็จะยิ่งเย็น ไม่ใช่ยิ่งร้อน ยิ่งเย็นหมายความว่า ยิ่งปัญหาหนัก ต้องยิ่งเย็นก่อน จิตตั้งต้นมันจะได้เป็นบวก พอเย็นเสร็จ ธรรมชาติของความเย็นคือ เราก็จะฟังมากขึ้น พอเราฟังมากขึ้นข้อมูลจะเยอะขึ้น การตัดสินใจจะแม่นยำขึ้น การแก้ปัญหาก็จะดีขึ้น คนเก่งถ้าได้ข้อมูลน้อย ก็คือคนไม่เก่ง เพราะมันไม่มีประโยชน์นะ ต่อให้คุณมีตรรกะโคตรเฉียบคม แต่ข้อมูลมันน้อย ก็ไม่มีประโยชน์เพราะเอาไปตัดสินใจอะไรไม่ได้
ดังนั้นจิตตั้งต้นที่เป็นบวก จะทำให้เราเห็นข้อมูล และเปิดใจรับฟังมากขึ้น สามารถแตกปัญหาใหญ่ให้กลายเป็นปัญหาเล็กๆได้ แล้วก็สามารถแก้ไขหรือมอบหมายคนอื่นให้แก้เรื่องนี้ และทุกปัญหามันก็จะง่ายขึ้นเอง เรื่องพวกนี้ จริงๆ มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนก็รู้
ปกติผมไม่ใช่คนที่จะไปอ้างอิงทฤษฎีใคร ผมสามารถที่จะคิดวิเคราะห์ด้วยตัวผมเองได้ เพราะตราบใดที่มันดีมากกว่าเสีย ผมก็กล้าตัดสินใจทั้งนั้น และถ้าเสียก็ต้องยอมรับได้ แล้วยิ่งถ้าเกิดการตัดสินใจมันดีหมดกับทุกฝ่าย ผมยิ่งไม่ต้องรออ้างอิงจากใครทั้งนั้น ผมตัดสินใจได้เลย แต่ถ้าการตัดสินเรื่องไหนที่มีข้อเสีย ผมจะมาดูว่าแล้วข้อเสียที่เลวร้ายที่สุดคืออะไร ผมรับได้ไหม ถ้ารับได้ ผมก็จะลงมือตัดสินใจทันที
ถ้าจะอ้างอิงจากประสบการณ์หรือประยุกต์แนวคิดทั้งหมดให้เข้ากับสิ่งที่คุณทำ พอจะยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมได้ไหมว่า ธุรกิจของคุณที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ คุณมีวิธีมองหาโอกาสยังไงและทำไมถึงทำจนประสบความสำเร็จได้
ผมเปิดบริษัทอายุ 22 ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สมัยก่อนก็ทำเว็บ MarketAtHome.com เติบโตได้ดีจนผมขายให้กลุ่ม True แล้วเปลี่ยนเป็น We Love Shopping (Weloveshopping.com) ซึ่งกลายเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไปแล้ว
ตรรกะง่ายๆจากการทำธุรกิจ คือ ขั้นเริ่มต้นผมทำทุกอย่างด้วยตัวผมเองก่อน ต้องทำอย่างอดทนแล้วค่อยหาบุคลากรมาทำแทนผมทีละขา ที่บอกว่าทำเองหมดคือ ต้องเขียนเว็บ ออกแบบเว็บ ขายแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บ รับโทรศัพท์ ทำบัญชีเองหมด แล้วมันก็ทำให้ผมรู้จักตัวเองดีขึ้นผ่านการทำงานทั้งหมดนี้แหละ
ผมรู้แล้วว่าจุดอ่อน จุดแข็งผมคืออะไร ผมเริ่มรู้แล้วว่าอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง เช่น รับโทรศัพท์ ผมก็เริ่มจ้างคนมารับโทรศัพท์แทน ผมเริ่มรู้ว่าการออกแบบเว็บผมอาจจะไม่ได้เก่ง ผมก็เริ่มรับดีไซเนอร์มาทำแทนผม จากนั้นก็หาโปรแกรมเมอร์มาทำแทน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถเป็นเบอร์หนึ่งในประเทศได้เนี่ย ก็เพราะว่ายุทธศาสตร์การหาคนของผมด้วย
ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อน ด้วยความที่ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งพอตัว ผมเขียนโค้ดได้เร็วมาก ก็เลยคิดว่าเมื่อไหร่ที่ต้องหาคนมาทำงานแทน ก็ต้องหาคนที่เก่งกว่าผมมาทำ ถ้าหาคนที่เก่งกว่ามาทำไม่ได้ ก็เท่ากับว่าผมจะสร้างปัญหาให้ตัวเอง เพราะว่าถ้าผมจ้างมาแล้วเขาทำได้ไม่ดีผมก็ต้องมานั่งแก้ ต้องมานั่งทำอยู่ดี ดังนั้นตรรกะโดยด้วยพื้นฐาน มันก็เหมือนกับการบริหารบริษัทใหญ่ๆ ไม่มีผิด ถ้าเราได้ลูกน้องที่ไม่เก่ง เราก็ต้องทำเอง ยิ่งจ้างพนักงานเยอะ ก็ยิ่งเหนื่อย อย่าไปประหยัดเพื่อซื้อปัญหาเข้าตัวเอง ดังนั้นหลักการของผมคือ ถ้าจ้างคนในราคาห้าหมื่นก็ได้สมองห้าหมื่น ถ้าจ้างแสนหนึ่งก็ได้สมองแสนหนึ่ง แต่ถ้าไปจ้างคนสมองสองแสนมาทำงานหนึ่งแสน มันทำได้ไม่นานหรอก เพราะทุกคนก็รู้มูลค่าตัวเอง เขาก็คงทำได้แป๊บนึง ถ้าเขารู้ว่าเขาไม่เหมาะกับไอ้แสนหนึ่งเดี๋ยวเขาก็ลาออกอยู่ดี
ดังนั้นตรรกะผมก็คือว่าในยุคนั้นเวลาผมหาโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง ต้องไปหาตามเว็บบอร์ด เพราะสมัยก่อนไม่มีเฟซบุ๊ก และคนที่เก่งในเว็บบอร์ดก็คือคนที่ไปไล่ตอบปัญหาชาวบ้านหรือให้คำแนะนำคนอื่น ผมจะเห็นวิธีการพูดของเขา การสอนของเขา ได้รู้ว่าจิตใจเขาเป็นยังไง คนพวกนี้ถ้าสอนคนอื่นได้ จิตใจเขาก็ต้องดีนะ
ผมก็ไปขออีเมล แล้วก็นัดกินกาแฟ ไปคุย ไปจ้างเขามาเป็นพนักงานผมให้ได้ ในขณะเดียวกัน คุณนึกดูว่าสมัยก่อน ผมใช้ที่บ้านเป็นออฟฟิศ นุ่งกางเกงขาสั้นเขียนโปรแกรม มีพนักงานไม่กี่คน แล้วคุณคิดว่าโปรแกรมเมอร์เก่งๆที่อยู่บริษัทรอยเตอร์ หรือไอบีเอ็มเนี่ย เขาจะมาอยู่กับผมไหมในสภาพแบบนั้น
ดังนั้น มันจะมีวิธีอะไรที่ผมจะทำให้เขามาอยู่กับผมล่ะ มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรอก แต่มันคือวิสัยทัศน์ที่จับต้องได้อย่างที่ผมบอก ผมเล่าวิสัยทัศน์ให้เขาฟังว่า ผมอยากเชิญเขามาเป็น Co-Founder อยากเชิญเขาเข้ามาร่วมธุรกิจกับผม แล้วโตด้วยกัน แล้วผมก็พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วด้วยว่า ผมทำได้ระดับหนึ่ง เพราะผมเป็นคนเขียนโปรแกรมมาก่อนแล้วทั้งหมด ดังนั้นแปลว่าผมสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ ผ่านการกินกาแฟและนัดเจอกันหลายครั้ง จนผมได้เขามาร่วมงาน ซึ่งเงินเดือนที่เขาขอตอนนั้นก็ประมาณเกือบ 40,000 บาท ซึ่งยุค 17 ปีที่แล้วผมแทบจะกรี๊ดแต่ผมยอม
เพราะผมรู้ว่า ถ้าได้เขามาชีวิตจะดีขึ้นเลย แล้วผมก็ใช้สูตร 2 3 4 แปลว่า จ้าง 2 คน เงินเดือนเท่า 3 คน แต่ประสิทธิภาพเท่า 4 คน จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้ว ผมก็ใช้เงินเท่ากับแบบเดิมที่ผมทำนั่นแหละ แต่แทนที่ผมจะจ้างคนธรรมดามา 4 คน ผมยอมจ่ายแพงกว่าแล้วจ้างคนเก่งๆมาเลยแค่ 2 คน ผมจะไปประหยัดทำไม ในเมื่อผมรู้ว่าคนเก่งซอฟต์แวร์ เขาต้องเอาสมองไปทำเงิน ดังนั้นถ้าผมยอมจ่ายแพงหน่อย แต่จ้างน้อยคนก็มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า ดังนั้นด้วยตรรกะพื้นฐานผมตรงนี้เลยทำให้ผมได้คนเก่งระดับประเทศมาทำงานในยุคนั้น
ประเด็นคือ หลังจากนั้นคนเก่งก็จะดึงดูดคนเก่งมาร่วมงานเองโดยอัตโนมัติ เพราะคนเกรด A เขาก็จะหาคนเกรด A มาทำ และผมก็สร้างวัฒนธรรมองค์กรใน 17 ปีที่แล้ว จนเกิดความสามัคคีและทำงานกันด้วยวิสัยทัศน์ ทำให้ปลาเล็กสู้ปลาใหญ่ได้ ด้วยการเป็นปลาเร็วกินปลาช้า และอย่างที่ผมบอกว่า องค์ความรู้เป็นต้นทุนที่แพงที่สุด จึงทำให้ผมมีคนเก่งเข้ามาทำงานเยอะ แต่มันก็ต้องมีการรับคนพลาดบ้าง แต่สุดท้ายในเมื่อพนักงานส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ เดี๋ยวคนที่ไม่ใช่ก็จะออกไปเอง กลายเป็นภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนป้องกันบริษัทไปโดยอัตโนมัติผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เรารู้จักสรรหาคนเก่งและเป็นคนดี นั่นคือจุดเริ่มต้นของผมที่ทำให้ผมได้บุคลากรเก่งๆระดับประเทศมาทำงานด้วย คู่แข่งที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ ยังไม่มี เพราะธุรกิจที่ผมทำก็ยังไม่บูมมากในตอนนั้น ทำให้ผมได้เปรียบในการที่จะดึงดูดพวกเขามาทำงาน
ถ้ามองจากการทำธุรกิจของผม ด้วยความที่ผมมีองค์ความรู้และรู้ก่อนก็ทำให้ผมสามารถชิงจังหวะมาทำได้ก่อนคนอื่น การรู้ก่อนทำก่อน มันทำให้ได้เปรียบ และกลายเป็นผู้นำตลาดในตอนนั้น สรุปแล้ว การที่เราจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้าจะเป็นเบอร์หนึ่ง เราต้องมีบุคลากรที่เป็นเบอร์หนึ่งด้วย ถ้ามีบุคลากรธรรมดาๆ อยู่ในบริษัทเยอะมากไป ก็ไม่มีวันจะเป็นเบอร์หนึ่งได้หรอกจริงมั้ย ผมเปรียบเทียบการสร้างบริษัทเหมือนสร้างสวนสัตว์ก็แล้วกัน เพื่อให้เห็นภาพความหลากหลาย ถ้าคุณจะสร้างสวนสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก แต่คุณมีแต่แกะอยู่ข้างใน มันจะเป็นสวนสัตว์ได้ไหม? ไม่มีทาง เพราะมันก็จะเป็นได้แค่ฟาร์มแกะ ถ้าคุณจะสร้างสวนสัตว์ระดับโลก คุณต้องมีสัตว์หลายๆชนิดอยู่ด้วยกัน มีเก้ง ละมั่ง สมเสร็จ เลียงผา มีสัตว์นานาชนิดอยู่ด้วยกันและต้องบริหารจัดการไม่ให้งูกินไก่ ไม่ให้เสือกัดหมาอะไรแบบนี้
การสร้างบริษัทก็เหมือนกัน ไม่มีใครถูกจริตหมดหรอกตราบใดที่เป็นมนุษย์ ต้องทำใจว่าการเมืองมีทุกที่ ทุกบริษัท ผมมีหน้าที่แค่จัดโซนให้ทุกคนทำงานได้ ให้คนฮอร์โมนประเภทเดียวกันอยู่ด้วยกันให้เป็นที่เป็นทาง ถ้าผมสามารถบริหารจัดการองค์รวมได้ดี มันก็ทำให้การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันง่ายขึ้นเยอะ
ผมว่าผมเข้าใจธรรมชาติของคน และสุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าตัวคูณความสำเร็จก็คือการสื่อสาร ผมค้นพบว่าคนเก่งในประเทศไทยถ้าไปเทียบระดับโลก คนไทยไม่ได้แพ้ใครเลยในเรื่องของความสามารถ แต่อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไทยสู้ต่างชาติไม่ได้เรื่องหนึ่งคือเรื่องการสื่อสาร คนไม่ค่อยคุยกัน แล้วก็สื่อสารกันไม่เข้าใจ ตัวคูณความสำเร็จมันก็ไม่เกิด
ผมถึงบอกว่าการสื่อสารเป็นหนึ่งคุณสมบัติของผู้นำ เพราะจะต้องสามารถถ่ายทอดให้พนักงาน เข้าใจถึงเป้าหมาย วิสัยทัศน์ ยิ่งสื่อสารดีเขาก็รู้สึกยิ่งมีส่วนร่วม รู้สึกรักบริษัทและนี่คือการสั่งงานชั้นสูงเลยก็ว่าได้ ถ้าผมไปสั่งให้เขาทำนู่นทำนี่ ขอโทษที บริษัทฉิบหายหมดแหละ เพราะเขาทำด้วยคำสั่งไม่ได้ทำด้วยใจ แต่ถ้าผมสั่งงานให้เขาทำงานด้วยใจนะ สั่ง 100 ทำไป 150 200 แต่ถ้าสั่งด้วยคำสั่ง 100 ทำ 60-70 ก็บุญโขแล้ว อย่างที่ผมบอก ก็ย้อนกลับมาในเรื่องของจิตวิทยาในการบริหารคนทั้งนั้น นี่คือ ตรรกะวิธีคิด ผมถึงคิดว่าคนที่เป็นผู้นำบริษัทระดับประเทศทั้งหลายก็ต้องมีทักษะเหล่านี้อยู่ แต่คุณสมบัติการถ่ายทอดของพวกเขาจะเก่งมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ศักยภาพของแต่ละคน มันคือเรื่องของสไตล์และวัฒนธรรมของแต่ละบริษัท
คุยมาถึงตรงนี้ อยากทราบว่าคุณมีวิธีพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง ถึงได้ก้าวมาจนถึงวันนี้ได้
คือเรื่องนี้ ผมไม่ต้องมานั่งรอคนนั้นคนนี้มาบอกว่าผมต้องพัฒนาตัวเองยังไง ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกว่าผมไม่ดีตรงนี้นะ เพราะอย่างที่บอกว่าผมนับถือตัวเองเป็นครู ผมเรียนรู้จากตัวเองทุกวันและผมก็รู้ข้อดีข้อเสียแล้วแก้ไขไปเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเราเนี่ยเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีความคิดและสามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ แต่เรามักจะไปปล่อยให้คำๆหนึ่งมากำหนดชีวิตเราให้ไม่พัฒนาตัวเอง นั่นก็คือคำว่า “สันดาน” เช่น ก็สันดานเป็นแบบนี้ เลยไม่พัฒนาตัวเอง แทนที่จะคิดว่าตัวเองมีจุดอ่อนตรงไหนแล้วก็แก้ไขไป
ผมก็เหมือนกัน เช่น วันนี้ผมทำไม่ดี พรุ่งนี้ผมก็จะแก้มันใหม่อีกครั้ง แต่ผมไม่ได้เหมือนคอมพิวเตอร์ที่จะอัพเดท Firmware และบั๊กในชีวิตผมจะหายไปในชั่วข้ามคืน เพียงแต่ผมก็จะพยายามแก้ไขไปเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นนิสัยใหม่และเมื่อไหร่ที่จะทำอะไรไม่ดี ก็ต้องรู้ตัวด้วย
แต่ขณะเดียวกัน ผมไม่ได้ขวนขวายหาจุดสมบูรณ์แบบในชีวิต เพียงแต่ผมอยากเป็นคนที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ไม่ใช่ดีแบบ 100 % ถ้าผมสมบูรณ์แบบ 100% ผมก็คงเป็นเทวดาไปแล้ว คงไม่มาเกิดตรงนี้หรอก แต่อย่างน้อยผมก็พยายามพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อที่จะเป็นคนที่สมบูรณ์ที่สุด ผมคิดว่าเราเกิดมาเพื่อพัฒนาตนเองก็เท่านั้นแหละ ผมเห็นคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ วันๆหนึ่งๆคุยกันแต่เรื่องนินทาคนอื่น ดังนั้นโอกาสพัฒนาตัวเองก็ยาก เพราะถ้ามัวแต่คุยเรื่องคนอื่น เรื่องตัวเองไม่คุยเลย เมื่อไหร่มันจะพัฒนา
นอกจากเรื่องการทำธุรกิจแล้ว ผมก็มีเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองนี่แหละ และแรงยึดเกาะเป้าหมายของผมในการพัฒนาตัวเองก็เหนียวแน่นกว่าคนทั่วไป ผมเชื่อว่า คนจะบริหารธุรกิจได้ ต้องบริหารตัวเองได้ ถ้าบริหารตัวเองไม่ได้ ก็อย่าคิดมา บริหารธุรกิจเลย
ผมย้ำเสมอว่า คนเราต้องเป็นกระจกส่องหน้าตัวเอง ไม่ได้มาดูว่าหล่อไม่หล่อ แต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นคนดีที่สุดได้ วันนี้ผมอาจจะทำอะไรพลาดไป เพราะผมก็เป็นมนุษย์ แต่เมื่อพลาดแล้วผมรู้จักขอโทษ และเอามาพัฒนาตัวเอง เพราะผมรู้ว่าอุปสรรคในการพัฒนาตัวเองของผู้ชาย ก็คือการเอ่ยปากพูดว่าขอโทษ คำนี้จะหลุดออกจากปากยากมาก
ในเรื่องของการพัฒนาตัวเอง ผมจะคิดว่าวันนี้เป็นจุดต่ำสุดอยู่เสมอ และคิดว่าพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ การที่คิดว่าวันนี้เป็นจุดที่ต่ำที่สุด ทำให้ผมรู้ว่าจะพัฒนาตัวเองยังไง บ้าง ทำยังไงจะปิดจุดอ่อน หรือจุดตายตรงไหนได้บ้าง แต่ผมจะรู้ให้ระวัง ไม่ได้รู้ให้ระแวง ผมต้องคิดว่าถ้าวันนี้มีวิกฤติเกิดขึ้น มันจะเกิดที่ตรงไหนและจะพยายามหาทางแก้หรือปิดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ทำให้ผมรู้จักมีสติระวังและหาทางแก้ไข เมื่อเกมรับของของผมแน่น ผมก็จะกล้าบุกได้อย่างเต็มที่ กล้ายิงประตูมากขึ้น
ดังนั้น เราต้องปิดจุดตาย ปิดจุดอ่อน และเสริมจุดแข็ง ถ้าปิดจุดตายหรือจุดอ่อนไม่ได้ ก็จ้างคนอื่นมาปิด เพราะผมก็คงไม่มีเวลามากขนาดนั้น ทุกคนมีเวลา 8 ชั่วโมงเท่ากัน ผมก็คงไม่มานั่งเสียเวลาพัฒนาจุดอ่อนให้เป็นปกติหรอก ผมเอา 8 ชั่วโมงเท่ากันไปต่อยอดจุดแข็งของผมให้มันสุดยอดไปเลยดีกว่า
ในการทำงาน ผมจะสั่งงานแบบให้วิสัยทัศน์ ให้วิธีคิดไปเลย พอลูกน้องหรือทีมเข้าใจวิสัยทัศน์ในการทำงานเขาก็จะเข้าใจผมเอง เหมือนผมให้สูตรคณิตศาสตร์ไป เจอโจทย์อะไรก็จะต้องแก้ได้หมด เพราะมันมีสูตร แต่ถ้าผมไม่ได้ให้วิธีการคิดไป เจอปัญหาอะไรเขาก็โทรมาหาตลอด หรือ นัดประชุมตลอดมันก็ไม่ใช่
เมื่อเราให้วิธีคิด เขาก็จะกล้าตัดสินใจว่าทำแบบนี้ผมจะชอบ แต่ถ้าทำแบบนั้นผมจะไม่เอาแน่ๆ เมื่อเขาตัดสินใจแทนผมได้ เขาก็จะมั่นใจมากขึ้น และถ้าทำผิดพลาด ผมก็ไม่ว่า แต่อย่าผิดซ้ำๆ เวลาประชุมก็เอาปัญหามานั่งคุยกัน มีอะไรจะได้ร่วมกันแก้ไข แต่ที่สำคัญคือ บริษัทจะเดินหน้าได้คือต้องตัดสินใจแก้ปัญหาและการตัดสินใจได้ต้องมีข้อมูล มันมีอยู่แค่นี้แหละที่เป็นรื่องพื้นฐาน แต่เป็นพื้นฐานที่คนมองพลาด และไม่สามารถบริหารสัจธรรมของธุรกิจได้ ธุรกิจมันมีสัจธรรมของมันอยู่ ถ้าไม่เข้าใจสัจธรรมความสำเร็จนั้นก็หลงทางตลอด
สัจธรรมในการทำธุรกิจคือความจริง บริหารธุรกิจด้วยความจริง อะไรดีหรือไม่ดีก็พูดกันตรงๆ อะไรเป็นปัญหาก็ต้องพูดกันตรงๆ ให้ได้ บางทีการเชื่อผู้บริหารอย่างเดียวก็เหมือนเดินผิดทาง เพราะผู้บริหารโกหกเป็น แต่ถ้าเชื่อข้อมูล ตัวเลข มันแน่นอนกว่า
นี่เป็นวิธีการบริหารที่ผมเองก็ไม่ได้ไปอ้างอิงจากใคร ตรรกะพวกนี้ผมก็คิดเอาเอง แล้วเอามาพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ อะไรดีก็ทำ หรือต่อยอดไป อะไรไม่ดีก็ทิ้งไปไม่ได้ยึดติด ธุรกิจมันก็เหมือนปลูกต้นไม้ ตอนตั้งใหม่ๆ ก็ต้องใช้สูตรเร่งราก เราก็ต้องให้ปุ๋ยอีกแบบ พอถึงช่วงออกดอก เร่งดอก จะมาให้ปุ๋ยแบบเดิม วิธีการทำงานแบบเดิมมันก็คงไม่ใช่ สิ่งที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีตก็อาจจะใช้ไม่ได้แล้วในระยะนี้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนสูตรกันไป
ความยืดหยุ่นและยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ใครมาบอกว่ามีปุ๋ยสูตรเดียว ปลูกต้นไม้ไปได้ 300 ปีไม่มีหรอก ผมไม่เชื่อตรงนั้น ผมแค่คิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นยังไง แล้วยอมรับความจริง พยายามหาปุ๋ยให้มันถูกกับต้นไม้ที่สุด หาบุคลากรต่างๆที่ใช่ ปัญหาเข้ามาก็ไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวองค์กรมันก็จะโตด้วยปัจจัยพื้นฐาน ผมไปถามลูกน้องเลยว่าอะไรคือ 10 อย่าง ที่ผมสามารถสนับสนุนคุณและบริษัทจะดีขึ้นได้? และอะไรคือ 10 อย่างที่แย่มากที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ และควรต้องแก้ไข คุณช่วยลิสต์มาให้ผมหน่อย ถ้ามี 10 เรื่องที่ดีในมือ ก็แปลว่า นั่นคือจุดแข็งของผมแล้วละ แต่ถ้าลูกน้องลิสต์ออกมาแล้วพบเรื่องแย่ๆ 10 เรื่อง แถมคนอื่นๆ ก็พูดเหมือนๆ กัน ก็ถือว่าโอเค เพราะถ้าผมแก้ปัญหาที่แย่ที่สุดได้ ปัญหาอื่นๆก็คงไม่ใช่เรื่องยากแล้วละ
จะว่าไป ยิ่งสถานการณ์ที่เราต้องเจอวิกฤติยากๆ ผมถือว่ามันเป็นด่านวัดกำลังใจของผู้ประกอบการทุกคน อย่าไปท้อ ตอนเศรษฐกิจดี ทุกคนมันก็ดีกันหมดนั่นแหละ แต่ตอนวิกฤติต่างหากที่สำคัญ ผมคิดว่าถ้าผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เถ้าแก่ในเมืองไทยก็จะมีภูมิต้านทานอีกระดับหนึ่ง ยิ่งสถานการณ์โควิดตอนนี้ ผมคิดว่าข้อดีคือเป็นการพัฒนาบุคลากรทั้งประเทศไปทีเดียวพร้อมกันหมด คนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและรู้จักการพัฒนาตัวเองก็จะเอาชีวิตรอด และเหตุการณ์นี้จะเป็นเครื่องเตือนสติให้เราใช้ความคิดกันให้มากขึ้น
WILAIRAT AIMAIEM
ที่มา Shift your future.com