ในเวที Recovery Forum หัวข้อ “แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร : โอกาสของประเทศไทยในตลาดโลกยุคนิวนอร์มัล” ซึ่งจัดโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2563 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน หาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยหลังวิกฤติโควิด-19
คุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุถึงอุตสาหกรรมอาหารว่า เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมี 5 ปัจจัยที่เป็น ตัวเร่ง คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชากรโลกที่มีอายุมากขึ้น ความเป็นสังคมเมือง การเปลี่ยนของขั้วอำนาจ ทางเศรษฐกิจ และการคำนึงถึง สิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“เราต้องมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจจากปัจจัยทั้ง 5 นี้ ยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ซึ่งจำนวนมากมีจุดเริ่มมาจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ขณะที่ปัจจัยการขยายตัวของสังคมเมืองเพราะ ทุกคนต้องการความสะดวกสบาย ก็จะวิ่งเข้ามาอยู่ในเมือง ทำให้เกิดวิถีชีวิตรูปแบบใหม่และตลาดใหม่ๆ ส่วนประเด็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจะเห็นว่า แกนเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปและเอเชียจะมีบทบาทมากขึ้น ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ต่อไปนี้ใครจะผลิตอะไรตามใจชอบไม่ได้ เพราะถ้ากระทบภาคใหญ่ก็จะถูกเพ่งเล็งและเล่นงานได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ พลาสติกที่กำลังถูกเพ่งเล็งจากประชาคมโลก”
ขณะที่ธุรกิจอาหารในอนาคตจะเกิดวัตถุดิบเลียนแบบที่มาทดแทนวัตถุดิบดั้งเดิม ขนมแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน อาหารเสริมเด็ก โปรตีนบาร์ที่มาจากแมลง อาหารเหลวสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เครื่องดื่มให้พลังงาน รวมถึงขนมขบเคี้ยวที่มาจากผักผลไม้ ซึ่งการจะสร้างธุรกิจอาหารในอนาคตให้ประสบความสำเร็จ ต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า เน้นจุดขาย เพื่อสุขภาพ ตลาดผู้สูงอายุ จุดขายเรื่อง รักษ์โลก รวมถึงจุดขายด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
โควิดดัน 85% ใช้ฟู้ดเดลิเวอรี่
คุณพูลสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจอาหารปรับรุปแบบการบริการอย่างรวดเร็ว อย่างในยุโรปเกิด Ghost Kitchen หรือการขายแบบไม่มีหน้าร้านเพื่อรองรับตลาดออนไลน์ รวมถึงเกิด Mobile Kitchen โดยสั่งผ่าน แอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการปรับตัวของธุรกิจอาหารที่น่าสนใจและได้ผลตอบรับที่ดีมาก สอดคล้องกับข้อมูลของ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า โควิด-19 ทำให้เกิดนิวนอร์มัลในธุรกิจอาหาร คือ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากโลกออฟไลน์สู่โลกออนไลน์ เพื่อตอบรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค การปรับตัวของร้านอาหารสู่แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่
“ในช่วงโควิดผู้คนหันมาใช้บริการจัดส่งอาหารหรือฟู้ดเดลิเวอรี่มากถึง 85% และจากที่ผู้บริโภคมี ไลฟ์สไตล์ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การพัฒนา อาหารในรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพยังคงเติบโตได้ดี และพฤติการณ์การซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปคือ ซื้อสินค้าและบริการด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจฝืดเคือง”
คุณพูลสวัสดิ์ ยังระบุถึง ข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารยังได้เปิดเผยถึงเทรนด์อาหารในปี 2563 ที่แนะให้ผู้ผลิตเร่งปรับตัวรับกระแสสุขภาพ คือ เทรนด์โปรตีนทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ ลดน้ำตาลและหันมาใช้ความหวานที่เป็นมิตรกับสุขภาพ อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภค หันมาให้ความสำคัญกับอาหาร ผู้สูงอายุและโภชนาการเฉพาะบุคคล เน้นวัตถุดิบและส่วนผสมที่มาจากท้องถิ่น การเพิ่มขึ้นของเครื่องดื่ม สีใสที่แต่งกลิ่นและรสชาติให้สดชื่น ยิ่งขึ้น รวมถึงเทรนด์ฟังก์ชั่นฟู้ด เป็นต้น
“วิกฤติโควิดส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งด้านอาหารและไม่ใช่อาหาร แต่อาหารก็ยังเป็นจุดแข็ง ที่จะนำพาประเทศฝ่าฟันจากวิกฤติ ดังกล่าว เพราะหากจะรอภาคการท่องเที่ยวก็ยังอีกนานที่จะฟื้นตัว ด้านการแพทย์และเวชภัณฑ์ก็ใช้เวลาอีกหลายปีในการพัฒนากว่าจะออกสู่เชิงพาณิชย์และสร้างรายได้ แต่ระยะสั้นถือว่าอุตฯ อาหารตอบโจทย์ได้ดีที่สุดเพราะคนต้องกินทุกวัน ขณะเดียวกันการผลักดันอุตฯอาหารยังส่งผลไปถึงคนรากหญ้าด้วยตั้งแต่ต้นน้ำปลายน้ำ คนไทยมากกว่าครึ่งประเทศ อยู่ในซัพพลายเชนธุรกิจอาหาร”
แนะทำบิ๊กดาต้าอุตฯ อาหาร
นอกจากนี้ คุณพูลสวัสดิ์ ยังได้เสนอแนวคิดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีในธุรกิจอาหารของไทย ผ่านการเสนอแนวคิด Food Navigator ที่จะเป็นแพลตฟอร์มรวมข้อมูลมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ คือ แหล่งเกษตรกรรม แหล่งเพาะปลูก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กลางน้ำ คือ ระบบการขนส่ง คลัง โรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยี และปลายน้ำ คือ ตลาดในประเทศ ตลาด เออีซี ตลาดโลก ตลอดจนข้อมูลอุปสงค์อุปทาน เป็นต้น หากแพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องมือนำทางสำคัญของเอสเอ็มอีไทยในการเพิ่มโอกาสดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้
“ผมได้แนวคิด Food Navigator จากเว็บไซต์ชื่อเดียวกันนี้ในอเมริกาที่ได้รวบรวมซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหารไว้ได้ดีมาก ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้ไทยเรานำมาประยุกต์ใช้เพื่อที่จะรู้ถึงจุดแข็งและ จุดอ่อนของเราเอง ท้ายที่สุดก็จะ เรียนรู้ว่า ธุรกิจอาหารจะไปได้อย่างไรระดับโกลบอล ทั้งนี้ ในการทำไกด์ไลน์ เช่นนี้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ รวมถึง สอวช.ที่อาจจะเป็นแกนกลางในเรื่องนี้แล้วประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึง Market place ตลอดจนสถานทูตไทยในประเทศที่ต้องการอาหารจากประเทศไทย”
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ