ทำไมปีนี้ SEA เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลของบิ๊กเทคฯ ระดับโลก

ดูเหมือนว่ากระแสการปลดคนของบิ๊กเทคฯ จะมีมาให้เห็นตลอดตั้งแต่ต้นปี และยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตา เพราะคลื่นการปลดคนในระลอกนี้มีจำนวนมากถึงหมื่นๆ และเกิดการเลย์ออฟอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้

แม้ตัวเลขเลย์ออฟจะยังดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่สวนทางกัน นั่นก็คือ ข่าวการลงทุนของขบวนบิ๊กเทคฯ จากทั่วโลก ที่แห่กันเข้ามาจับจองพื้นที่สำคัญๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่ครอบคลุมหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว ติมอร์ และไทย

ที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าพื้นที่ห่างไกลจากความเจริญ ทว่า ทุกวันนี้ภูมิภาคนี้ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นศูนย์กลางของหลายอุตสาหกรรม เห็นได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หมุนเวียนกันเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น Apple, Nvidia และ Microsoft ที่ได้ประกาศแผนการลงทุนจัดตั้ง Data Center ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ Amazon Web Service (AWS) หน่วยธุรกิจของ Amazon ยังได้ประกาศการลงทุนกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาทในสิงคโปร์ เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ และใช้สำหรับการสร้าง Data Center ที่ใหญ่ที่สุด

หากถามว่าทำไมช่วงนี้ประเทศแถบบ้านเราถึงเนื้อหอม มีนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจออกมาให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่จีนมีข้อพิพาทกับสหรัฐฯ และอินเดียที่มีกฎระเบียบเข้มงวด รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้เหล่าบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valeey พุ่งเป้าการลงทุนมาที่ประเทศที่มีศักยภาพการเติบโต และสร้างโอกาสให้บริษัทที่ต้องการขยายการดำเนินงานในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ HSBC Global Connections ที่ได้สำรวจธุรกิจระหว่างประเทศขนาดใหญ่จาก 9 ประเทศ (จีน, อินเดีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหรัฐฯ ออสเตรเลีย, ฮ่องกง และตะวันออกกลาง) พบว่า องค์กรธุรกิจเหล่านี้มองว่าประเทศในกลุ่ม SEA มีโอกาสการเติบโตที่ดี โดย 3 ประเทศที่ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ สิงคโปร์ (36%), มาเลเซีย (27%) และไทย (24%)

วันนี้เราจะพาไปสำรวจแนวโน้มการลงทุนด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นยุคทองแห่งเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของเหล่าบรรดาบริษัทเทคให้ตบเท้าเข้ามาประกาศแผนการลงทุนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ และ Data Center และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลในอนาคต

บิ๊กเทคฯ ปักธงสู่ SEA

ปัจจุบันบิ๊กเทคฯ ต่างให้ความสนใจลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแรงงานมีทักษะ ค่าแรงไม่สูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างเทคโนโลยีที่มีราคาแพง รวมถึงมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีประชากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี โดยบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐฯ หลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อฝึกอบรมพนักงาน และสร้างองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อโลกดิจิทัลในอนาคต

ด้าน Rajiv Batra นักกลยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดเกิดใหม่ จาก JPMorgan Chase & Co. เปิดเผยกับ Bloomberg TV ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีอยู่ในจุดที่น่าสนใจและน่าลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกในหลายประเทศ บวกกับช่วงเวลา 1- 2 ปีที่ผ่านมาจีนมีปัญหากับสหรัฐฯ ทำให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนมาที่ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มากที่สุด

ความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน

แม้การลงทุนในระลอกนี้จะดูสดใส แต่บริษัทก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบของแต่ละประเทศ ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือแม้แต่ความเสี่ยงเรื่องภูมิลักษณะ ซึ่งการรับมือกับความท้าทายครั้งนี้ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีกับรัฐบาลในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ก็ยังมีโอกาสที่เหล่าบิ๊กเทคฯ จะได้ร่วมงานกับภาครัฐของประเทศนั้นๆ ในการพัฒนาทักษะแรงงาน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม และการผลิตต่างๆ

3 เหตุผลที่ทำให้ SEA เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลในปีนี้

การเติบโตของประชากร

ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 660 ล้านคน คิดเป็น 8.5% ของประชากรโลก  และในจำนวนนี้ประชากร 400 ล้านคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะแตะ 500 ล้านคนภายในปี 2025 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องจำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้น และมีทักษะเทียบเท่าจีนหรือในยุโรป ทำให้ภูมิภาคนี้ขึ้นแท่นการเป็นศูนย์กลางการผลิต และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับบริษัทขนาดใหญ่

การเข้าถึงเทคโนโลยี AI

อีกหนึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกคือ ความรู้ความเข้าใจของประชากรที่มีความคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ต และการใช้ AI ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการเติบโตของ Generative AI ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2575  และปัจจุบัน Chat GPT  มีผู้ใช้มากกว่า 180 ล้านคนทั่วโลก

ที่น่าสนใจคือตลาด Generative AI ของประเทศไทยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต  23% ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1,084 ล้านดอลลาร์ (ราว 38,000 ล้านบาท) โดยเมื่อเจาะลึกลงมาถึงพฤติกรรมการใช้ AI ของคนไทยพบว่า 1 ใน 3 ของประชากรมีแนวโน้มจะใช้ AI กลัวเราทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (ข้อมูลจาก Samsung ประเทศไทย, 2024)

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีที่ต้องการขยายธุรกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์ลูกค้า

การพัฒนาระบบนิเวศ

ด้วยจำนวนแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการลงทุน ในขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศก็ผลักดันให้มีการเสริมสร้างทักษะและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของนักลงทุน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจเทคโนโลยี เช่น ประเทศไทยก็มีการเสนอโครงการยกเว้นวีซ่าและยกเว้นภาษีให้บริษัทเทคโนโลยีภายใต้โครงการไทยแลนด์ 4.0 หรือในฝั่งเวียดนามก็มีแผนเพิ่มจำนวนบริษัทข้ามชาติใน Fortune Global 500 ที่ทำธุรกิจในเวียดนามเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2030 ส่วนสิงคโปร์มีการประกาศแผน Smart Nation ที่ต้องการนำประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ และส่งเสริมการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยี

จากข้อมูลดังกล่าว จึงไม่แปลกใจที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติเลือกที่จะจัดตั้งสำนักงานและศูนย์กลางระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ โอกาสในการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุนและดึงดูดบริษัทต่างชาติ

จุดแข็งของประเทศใน SEA

จากปัจจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถตอบสนองการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีได้ดี ซึ่งการเติบโตและการขยายธุรกิจครั้งนี้ไม่ใช่การโฟกัสที่ตลาดในภูมิภาคยุโรป แต่เป็นการก้าวออกไปหาตลาดใหม่ๆ และผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

จากรายงานของ วิจัยกรุงศรี เรื่อง Regional Economic Outlook 2024 ได้วิเคราะห์แบบเจาะลึกแต่ละประเทศในอาเซียนพบว่า

อินโดนีเซีย: เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในด้านจำนวนประชากรที่มีหลักร้อยล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ที่มีกำลังจับจ่ายสูง บวกกับเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และรัฐบาลก็มีนโยบายหลายด้านที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น นโยบายลดการพึ่งพึงการส่งออกสินแร่ (หินหรือแร่) เพื่อดึงดูดนักลงทุน เหมาะสำหรับธุรกิจยานยนต์อีวี

ฟิลิปปินส์: ถือเป็นประเทศที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยอยู่ที่ 5.6% และเป็นประเทศที่ IMF คาดว่าจะเติบโตสูงเป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากเวียดนาม โดยมีปัจจัยบวกหลายประการที่ทำให้ฟิลิปินส์ขึ้นแท่นประเทศทรงพลังในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่คลายลง อัตราว่างงานต่ำ รวมถึงการที่คนฟิลิปปินส์เดินทางไปทำงานต่างประเทศและส่งเงินกลับมา ก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศให้แข็งแกร่งอย่างทุกวันนี้

นอกจากนี้ คนหรือ talent ในฟิลิปปินส์ยังมีทักษะด้านภาษาอังกฤษสูงพอๆ กับสิงคโปร์  จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกฟิลิปปินส์เป็นฐานการลงทุน

เวียดนาม: หากถามว่าตอนนี้ประเทศไหนเนื้อหอมที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเวียดนาม เนื่องจากมีการขยายตัวของกลุ่มคนวัยทำงานจำนวน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างแท้จริง และในมุมของการทำธุรกิจ รัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ มีการทำข้อตกลงทางการค้าอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีจำนวนแรงงานและค่าจ้างไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

และเมื่อพิจารณาในเรื่องทักษะแรงงาน คนรุ่นใหม่ของเวียดนามสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่นักลงทุนมองข้ามไม่ได้

มาเลเซีย: มาเลเซียมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าไทยเกือบ 1 เท่า แต่ก็เป็นผู้นำด้านการผลิตยางพาราน้ำมันปาล์มรายใหญ่ และยังโดดเด่นด้านการส่งออกพลังงาน โดยเฉพาะกับปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมองเห็นโอกาส โดยเฉพาะกับธุรกิจก่อสร้างศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center เดิมทีการลงทุนในธุรกิจ Data Center จะเกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ข้อจำกัดด้านต้นทุนพลังงานและราคาที่ดินที่ค่อนข้างสูง ทำให้นักลงทุนบางส่วนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้

และอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือ ภาษาจีน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ล้วนมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศจีน การตัดสินใจลงทุนในมาเลเซียหรือสิงคโปร์จึงมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ เพราะประชาชนสามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา คือภาษาจีน อังกฤษ และภาษาท้องถิ่น

ไทย: ไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในอาเซียน และมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตในระดับโลก ผลสำรวจบอกว่า เหตุผลที่ทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยคือ ทักษะแรงงาน (28%) และอัตราค่าแรงที่แข่งขันได้ (25%)

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตขึ้นของไทย โดย 27% ของบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทยระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ และในจำนวนเท่ากันมองว่า ประชากรคนรุ่นใหม่ของไทยมีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยหลักที่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศ

ประเภทธุรกิจเทคโนโลยีที่ลงทุนใน SEA

Data Center/ Cloud:

  • Microsoft ลงทุนสร้าง Data Center ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย (มูลค่าการลงทุนยังไม่เปิดเผย)
  • Amazon Web Service (AWS) ลงทุน 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท) ในสิงคโปร์ เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และสร้าง Data Center ที่ใหญ่ที่สุด
  • Google Cloud ลงทุนสร้าง Data Center ในสิงคโปร์
  • Huawei Cloud ตั้ง Data Center ในไทย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งความเร็วการใช้และการเข้าถึงข้อมูลในไทย และสามารถเข้าถึงจากเครือข่ายทั่วโลก

AI:

  • Nvidia ลงทุน 7.3 พันล้านบาท สร้าง AI Center ในอินโดนีเซีย และยังร่วมมือกับ Gojek พัฒนาโซลูชั่น AI
  • Nvidia ได้ร่วมมือกับ FPT บริษัทเทคโนโลยีในเวียดนาม ลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,300 ล้านบาท) สร้างโรงงาน AI ในประเทศเวียดนาม
  • Microsoft ลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 81,000 ล้านบาท) ในมาเลเซีย เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI และฝึกอบรมการใช้ AI ให้กับชาวมาเลเซีย 200,000 คน

Semiconductors

  • Intel ผู้ผลิตชิปอันดับต้นๆ ของโลก ทำ MOU กับ Vin Group พัฒนาเทคโนโลยีอิจฉริยะ ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ภายใต้เงินลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
  • Samsung จัดตั้งโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม มูลค่าการลงทุนกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • TSMC จัดตั้งโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม  มูลค่าการลงทุนกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • Foxconn ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple กำลังเจรจาเพื่อผลิต Apple Watch และ MacBook ในเวียดนามเป็นครั้งแรก มูลค่าการลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น การที่บรรดาบิ๊กเทคฯ พร้อมใจกันเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ เนื่องมาจากการที่ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ AI มากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีมากเท่าไร ยิ่งทำให้จำเป็นต้องมี Data Center เพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลข้อมูลที่มีจำนวนมาก

จากข้อมูลทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ด้วยการเติบโตของจำนวนประชากร มูลค่าทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากรัฐบาล ล้วนเสริมให้พลังของ SEA เติบโตได้ดี และเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

และหากโฟกัสที่ประเทศไทย การที่บิ๊กเทคทั่วโลกหันมาลงทุนในภูมิภาคนี้ ก็ส่งผลดีในระยะยาวต่อประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากการเข้ามาลงทุนมักมาพร้อมกับการอบรมและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แรงงานในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมของแรงงานไทยในตลาดงานที่มีการแข่งขันสูง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี เพราะการสร้าง Data Center  จะทำให้ประเทศไทยมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สำคัญยังทำให้ไทยยกระดับความสามารถการแข่งขันและการเติบโตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมั่นคง

อ้างอิง ForbesCNBCกรุงเทพธุรกิจinfoquestThe Japan TimesThaipublica

ที่มา Techsauce