ปรากฎการณ์ “Tech Company” เลิกจ้าง – ระงับการจ้างงาน สัญญาณเตือนเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกหรือไม่ ?

ปี 2022 บรรดาบริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) ทั้งสตาร์ทอัพ จนถึงรายใหญ่ ต่างปรับนโยบายการจ้างงานภายในองค์กร มีตั้งแต่ระงับหรือชะลอการจ้างงานออกไปก่อน จนถึงประกาศเลิกจ้างพนักงาน

– Meta มีแผนชะลอการจ้างงานในตำแหน่งระดับกลางถึงอาวุโส หลังเผชิญกับการเติบโตรายได้ลดลงในไตรมาสแรกปี 2022

– Netflix เลิกจ้างพนักงาน 150 คน หลังจากยอดสมาชิก (Subscriber) ในไตรมาสแรก 2022 ลดลงกว่า 200,000 ราย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เสียฐานสมาชิก

– ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Elon Musk” ซีอีโอของ Tesla บริษัทเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า ส่งอีเมล์ระงับการจ้างงานทั่วโลกทั้งหมดชั่วคราว และเตรียมเลิกจ้าง เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เซี่ยงไฮ้ หลังรัฐบาลจีนประกาศล็อกดาวน์ทั้งเมือง

Photo Credit: askarim / Shutterstock.com

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Tech Company เริ่มปรับนโยบายการจ้างงาน เพื่อควบคุมต้นทุน ด้วยหลากหลายปัจจัยที่แต่ละองค์กรกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล

– ด้านเศรษฐกิจที่เวลานี้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ Stagflation” คือ เศรษฐกิจชะงัก/ซบเซา และภาวะเงินเฟ้อสูง กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภค

– ธุรกิจหยุดชะงัก และรายได้ธุรกิจลด เช่น มาจากปัจจัยการแข่งขัน, ฐานธุรกิจในบางประเทศสะดุด เช่น มีฐานธุรกิจในจีน ซึ่งรัฐบาลจีนยังใช้มาตรการล็อกดาวน์กับบางเมือง ย่อมกระทบกับธุรกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

– การจ้างงานสูงขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา เพื่อตอบสนอง Demand การใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของผู้คนสูงขึ้นในขณะที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น แต่เมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความต้องการใช้งานของผู้บริโภคลดลง จึงต้องปรับลดการจ้างงานลง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เงินเฟ้อ ทำให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น

 

World Bank” เตือนโลกเผชิญความเสี่ยงสถานการณ์ “Stagflation” – คาดหลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

รายงาน Global Economic Prospects report ประจำเดือนมิถุนายนของธนาคารโลก (World Bank) ล่าสุดได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2022 มาอยู่ที่ 2.9% จากปีที่แล้วโต 5.7% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เวลานั้นประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกจะขยายตัว 4.1%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวลานี้ทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาาจากหลายองค์ประกอบที่ถาโถมเข้ามาต่อเนื่อง เช่น

– ความเสียหายจากการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19

– สงครามรัสเซีย-ยูเครน

– มาตรการล็อกดาวน์ประเทศของรัฐบาลจีน

– การหยุดชะงักของระบบซัพพลายเชน

– ภาวะเงินเฟ้อ

– ภาวะน้ำมันแพง

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันกัน และส่งผลกระทบมหาศาล ทั้งต่อเศรษฐกิจประเทศ, การค้าการลงทุนทั้งในประเทศ – ระหว่างประเทศ, ภาคธุรกิจ และประชาชนที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพสูงขึ้น

สงครามรัสเซีย-ยูเครน (Photo Credit: Seneline / Shutterstock.com)

ธนาคารโลกยังได้เปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีความคล้ายกับช่วงทศวรรษ 1970’s เป็นช่วงเศรษฐกิจซบเซา ในเวลานั้นจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาสูง ซึ่งมีบทบาทในการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินในตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อเจาะลึกการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ละกลุ่มประเทศทั่วโลก พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

– ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจขั้นสูง เช่น สหรัฐฯ, บางประเทศในยุโรป และญี่ปุ่น คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.6% ในปี 2022 จาก 5.1% ในปี 2021 และคาดว่าปี 2023 จะโต 2.2%

– ประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน, อินโดนีเซีย, ไทย, บราซิล, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, อินเดีย,​ ปากีสถาน คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มโต 3.4% ในปี 2022 จาก 6.6% ในปี 2021 และมองว่าปี 2023 จะโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.2%

“สงครามในยูเครน, การล็อกดาวน์ใจีน, การหยุดชะงักของซัพพลายเชน และความเสี่ยงของภาวะ Stagflation กำลังทุบการเติบโตของเศรษฐกิจ และสำหรับในหลายประเทศ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง” David Malpass ประธานธนาคารโลก ฉายภาพสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

จีนยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์ (Photo Credit: Graeme Kennedy / Shutterstock.com)

เพื่อลดความเสี่ยงประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนปี 1970 ในรายงานฉบับนี้ “ธนาคารโลก” เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายระดับชาติ และระดับโลกอย่างเด็ดขาด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมัน และราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น, เร่งบรรเทาหนี้ และขยายการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ

ขณะเดียวกันผู้กำหนดนโยบาย ไม่ควรใช้นโยบายบิดเบือน เช่น ควบคุมราคา, เงินอุดหนุน, ห้ามการส่งออก เพราะจะทำให้ราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนเข้าสู่สภาวะที่แย่ลง

นอกจากนี้ท่ามกลางความท้าทายของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ภาวะการเงินที่ตึงตัว และนโยบายการคลังที่จำกัด รัฐบาลจะต้องทบทวนการจัดลำดับความสำคัญใหม่ในการใช้จ่ายงบประมาณ โดยมีเป้าหมายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

 

จากร้อนแรง สู่ยุครัดเข็มขัด!

ในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ ทั้ง Startup และ Tech Company รายใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยหลายรายกลายเป็นดาวเด่น มีการลงทุนและสร้างมูลค่าธุรกิจได้มหาศาล และสามารถพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ของโลก

ยิ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ระบาดหนัก ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจ Stay-at-home Economy เนื่องจากคนต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ทั้งทำงาน เรียน ช้อปปิ้ง กิจกรรมความบันเทิง รวมถึงออกกำลังกาย จึงเกิด In-home Consumption สูงขึ้น กลายเป็น “โอกาสทอง” ของบรรดาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีทั้งหลาย เช่น e-Commerce, Food Delivery, Video Streaming เติบโตอย่างร้อนแรง รับความต้องการพุ่งสูงขึ้น จึงเร่งขยายตัว และบางองค์กรจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ

แต่ดูเหมือนว่าเวลานี้ในวงการ Startup และ Tech Company ยักษ์ใหญ่ระดับโลก กำลังเตรียมความพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจชะลอตัว และอาจไปถึงขึ้นเศรษฐกิจถดถอย!

อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Y Combinator” ซึ่งเป็น Startup Accelerator จากสหรัฐฯ ที่ลงทุนใน 3,000 กว่าบริษัท เช่น Airbnb, Dropbox, Stripe, Reddit, Instacart, Docker and Gusto ส่งอีเมล์แนะนำผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ใจความหลักระบุถึงการเตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจตกต่ำ “วางแผนสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด”

“ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายเพียงใด แต่สิ่งต่างๆ มีทีท่าดูไม่ดี วิธีที่ดีที่สุดในการเตรียมตัวคือ ลดต้นทุนและขยายเงินทุนของคุณภายใน 30 วันข้างหน้า ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แม้แต่กองทุน VC ระดับใหญ่ที่มีเงินจำนวนมาก ยังชะลอการใช้เงินทุน (กองทุนที่เล็กกว่านั้น จะหยุดการลงทุน หรือล้มหายไป)…”

ข้อมูลจาก “Layoffs.fyi” รวบรวมสถิติการเลิกจ้างงาน เปิดข้อมูลว่ามีบริษัทเทคโนโลยี 60 บริษัทเลิกจ้างพนักงานในช่วงเดือนพฤษภาคมมากกว่า 16,000 คน โดยบริษัทตัดสินใจลดพนักงานในช่วง 2 – 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เช่น บริษัท Startup ด้านโภชนาการ Noom, แพลตฟอร์มจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภค Getir และบริษัทเทคโนโลยีการเงิน Bolt

นอกจากนี้ยังมี Tech Company ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ปรับนโยบายด้านการจ้างงาน ท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุน และเงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น

– Netflix: เลิกจ้างพนักงาน 150 คน หลังจากยอดสมาชิก (Subscriber) ในไตรมาสแรก 2022 ลดลงกว่า 200,000 ราย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เสียฐานสมาชิก และคาดว่าจะเสียฐานสมาชิกอีก 2 ล้านคนในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะเดียวกัน Spencer Neumann ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของ Netflix บอกว่า บริษัทจะลดการใช้จ่ายบางส่วน เพื่อควบคุมต้นทุน

Photo Credit: Kaspars Grinvalds / Shutterstock.com

– Meta: มีแผนชะลอการจ้างงานในตำแหน่งระดับกลางถึงอาวุโส หลังเผชิญกับการเติบโตรายได้ลดลง โดยในไตรมาสแรกปี 2022 บริษัทมีรายได้รวม 27.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 7% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021 มีรายได้รวม 26.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ผลประกอบการยังเติบโต แต่เป็นการเติบโตลดลงมากที่สุดในรอบทศวรรษ เป็นผลมาจากบริษัทเผชิญทั้งปัญหาในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย – ยูเครน รวมทั้งนโยบายความเป็นส่วนตัวของระบบ iOS จำกัดการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ Apple ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อรายได้โฆษณาของ Meta โดยตรง

Photo Credit: Sergei Elagin / Shutterstock.com

– Twitter: Parag Agrawal ซีอีโอของ Twitter Inc. ประกาศชะลอการจ้างงานใหม่ออกไปก่อน และลดต้นทุนด้านอื่นๆ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะความไม่แน่นอนของบริษัทในขณะรอ Elon Musk ซื้อกิจการมูลค่ารวมกว่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งล่าสุดปรากฏข่าว Elon Musk ขู่จะยกเลิกข้อตกลงซื้อ Twitter หากยังไม่ส่งข้อมูลบัญชีปลอม และบัญชีสแปมให้กับเขา

ซีอีโอ Twitter ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ระดับโลกต่างๆ รวมถึงสงครามในยูเครน และวิกฤตซัพพลายเชน ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ Twitter แต่บริษัทยังไม่ได้มีแผนเลิกจ้าง ทว่าผู้นำต้องทำการเปลี่ยนแปลงภายในต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

Photo Credit: Rokas Tenys / Shutterstock.com

– Tesla: เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Elon Musk” ซีอีโอของ Tesla บริษัทเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า ส่งอีเมล์เรื่องหยุดการจ้างงานทั่วโลกทั้งหมดชั่วครา และเตรียมเลิกจ้างในสัดส่วน 10% ทั้งที่ช่วงปลายปี 2021 มีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เซี่ยงไฮ้ หลังรัฐบาลจีนประกาศล็อกดาวน์ทั้งเมือง ซึ่งเซี่ยงไฮ้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ Tesla ที่สำคัญ แม้ว่าโรงงานจะหยุดแต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

Photo Credit: Nadezda Murmakova / Shutterstock.com

– Robinhood: แอปเทรดหุ้น เลิกจ้างพนักงานประมาณ 9% ของพนักงาน Full-time เพื่อลดตำแหน่งงานที่ซ้ำซ้อน ผ่านมาซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว กระทบกันพนักงานราว 340 คน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ พร้อมใจกันชะลอหรือระงับการจ้างงานออกไปก่อน และลดค่าใช้จ่ายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Uber, Salesforce, Coinbase

Photo Credit: MOZCO Mateusz Szymanski / Shutterstock.com

ท่ามกลางการแข่งขัน การชะลอใช้จ่ายของผู้บริโภค แรงกดดันต้นต้นทุน และเงินเฟ้อสูงขึ้น คงต้องดูต่อว่าการที่บรรดา Startup และ Tech Company รายใหญ่ปรับการจ้างงานในครั้งนี้ ทั้งเลิกจ้าง และระงับการจ้างงานใหม่ออกไปก่อน จะมีระลอกต่อๆ ไปตามมาอีกหรือไม่

Photo Credit: Koshiro K / Shutterstock.com

Source: Protocol , World Bank , CNBC , Techcrunch

ที่มา MARKETING OOPS!