วันช้างไทย เกิดจากการริเริ่มของคณะอนุกรรมการ ประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการ เอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทย ขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น
คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541
ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทย เกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
ความสำคัญของช้างไทย
ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศเคยใช้ธงชาติเป็น รูปช้างเผือก ชาวไทยเชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ช้างเผือกจึงได้รับการยกย่องเสมือนเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า
ช้างเป็นผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้จารึกไว้ว่าช้างได้เข้ามามีส่วนในการปกป้องเอกราชและความเป็นชาติให้แก่ชาวไทยหลายยุคหลายสมัย ในสมัยกรุงธนบุรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงรวบรวมชายไทยให้เป็นปึกแผ่นและมั่นคงบนหลังช้างทรงพระที่นั่ง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ได้ทรงประกาศเอกราชและความเป็นชาติ
ช้างใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เมื่อแรกเริ่มการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นช้างคือพาหนะสำคัญที่อัญเชิญพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตมาสถิตย์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล จะต้องนำช้างเผือกแต่งเครื่องคชาภรณ์ไปยืนที่แท่นเกยช้างด้านตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวังเพื่อประกอบพระเกียรติยศ
ช้างสร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ และเบตาเวีย (จาการ์ตา) ประเทศอินโดนีเซีย ได้พระราชทานช้างสำริดให้แก่ทั้ง 2 ประเทศนี้
ช้างใช้เป็นพาหนะในการคมนาคม ในยุคสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเทียบเท่ากับในปัจจุบัน มนุษย์ยังไม่ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆ สำหรับนำมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อการขนส่งของ ช้างคือพาหนะที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่มีความเฉลียวฉลาดและมีพละกำลังมหาศาล ช้างจึงสามารถขนส่งสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในปริมาณมากได้อย่างอดทน
ช้างใช้ในการอุตสาหกรรมทำไม้ การใช้ช้างทำไม้ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่การล้มไม้ การทอนไม้ซุง การขนส่งไม้จนถึงโรงงานหรือตลาดการค้า ในแง่ของการอนุรักษ์ป่าไม้ และระบบการจัดการป่าไม้ในประเทศไทย การใช้ช้างชักลากไม้ นับว่าเหมาะสมมาก เพราะช้างสามารถเดินไปได้โดยไม่ทำลายกล้าไม้ต้นเล็กๆ ไม่ทำให้ดินแน่น ไม่ต้องตัดถนนหนทางให้มากเส้น นอกจากนี้ช้างยังขึ้นเขาได้ดี และมีอายุการใช้งานนานถึง 50 ปี
ความสำคัญของช้างต่อประวัติศาสตร์ ชาติไทย
ข้อความที่ปรากฎอยู่ในศิลาจารึก สุโขทัยหลักที่หนึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น “ช้าง” คือขุนพลที่ร่วมรบอยู่ในสมรภูมิจนมีชัยชนะ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงประทับช้างนำราษฎรไปบำเพ็ญกุศลตามพระอารามในอรัญญิก จะเห็นได้ว่าทั้งในยามศึกและยามสงบช้างอยู่คู่แผ่นดินสุโขทัยเรื่อยมา ช้างมีความสำคัญมากถึงเพียงนี้ จึงมีการสอนวิชาขับขี่ช้างซึ่งเป็นวิชาสำคัญสำหรับเจ้านายและลูกผู้ดีเพื่อ ยังประโยชน์ในการใช้ช้างเป็นพาหนะและเตรียมการเพื่อศึกสงคราม
ช้างใช้ในการศึกสงครามในอดีต ในสมัยโบราณ ช้างเป็นยุทธปัจจัยสำคัญของกองทัพเปรียบได้กับรถถังประจัญบานของนักรบในปัจจุบัน ทว่าชัยชนะที่สง่างามกว่าหลายเท่า เพราะมนุษย์ที่นั่งอยู่บนคอช้างต้องเชี่ยวชาญอาวุธของ้าว ใช้ความกล้าหาญไสช้างแต่ละเชือกพุ่งตรงเข้ารบปะทะกันตัวต่อตัว ช้างต่อช้างเข้าชนกันนั้น หากช้างของผู้ใดมีความสามารถมากกว่าก็จะงัดช้างศัตรูขึ้นด้วยงาจนแหงนหงาย หรือเบนบ่ายจนได้ที เพื่อให้แม่ทัพบนคอช้างส่งอาวุธเข้าจ้วงฟันคู่ต่อสู้ ช้างกับนักรบบนคอช้างจึงต้องมีกำลังแข็งแรงฝีมือเข้มแข็ง ทั้งคู่จึงจะได้ชัยชนะมาประดับเป็นเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน
การรบบนช้างหรือที่เรียกว่า ยุทธหัตถี นั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ไทย แต่ครั้งสำคัญที่สุด ซึ่งคนไทยยังกล่าวขวัญจดจำไม่รู้ลืม คือ การยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาและพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปีพุทธศักราช 2135 หรือกว่า 400 ปีล่วงมาแล้ว