ตลาด EV ไทยป่วน! ยอดขายรถยนต์สันดาปวูบต่อเนื่อง ขณะที่แพ็กเกจ EV ใกล้หมดอายุ ค่ายรถหวั่นผู้ซื้ออาจเสียสิทธิรับเงินอุดหนุนตามเงื่อนไข

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ระบุยอดการผลิตรถยนต์ 7 เดือนแรกปีนี้โตสุดแค่ 0.66% ทุบยอดขายในประเทศลดลงต่อเนื่อง 5.54% เหตุสถาบันการเงินคุมเข้มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ หนี้ครัวเรือนพุ่ง บวกกับการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า EV ขณะที่ค่ายรถ EV กระทุ้งนายกคนใหม่ให้ไฟเขียวแพ็กเกจ EV 3.5 เร่งด่วน ด้าน BOI และ BYD หนุนรัฐบาลใหม่ต่ออายุแพ็กเกจ EV กระตุ้นผู้ซื้อ ย้ำเป็นจังหวะและโอกาสผลักดันทั้ง Ecosystem ก้าวสู่ฮับยานยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค

รายงานข่าวจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ระบุว่า หลายค่ายรถผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ต่างส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่ให้นำมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรือแพ็กเกจ EV ซึ่งเรียกกันว่า EV 3.5 มาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลมูลค่า 70,000 บาท และ 150,000 บาทต่อคัน ตามรุ่น ต่อเนื่องจากภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษมาตรการ EV 3.0 ที่ว่านี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ (สำหรับรถนำเข้า และต้องจดทะเบียนได้ป้ายขาวให้เรียบร้อย)

ซึ่งหากล่าช้าต้องรอจนกว่าจะเริ่มผลิตในประเทศคืนด้วยสัดส่วน 1 ต่อ 1 ในปี 2567 จึงจะได้เงินสนับสนุนอีกครั้ง ดังนั้น ขณะนี้หลายค่ายรถเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อตัดสินใจเร็วขึ้น เพื่อรับสิทธิและเงื่อนไขซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่สนับสนุนจากรัฐบาลก่อนมาตรการจะสิ้นสุดลง

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ขอให้รัฐบาลใหม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในระยะที่ 2 หรือที่เรียกกันว่าแพ็กเกจ EV 3.5 มาอนุมัติด่วน เพราะ EV 3.0 จะสิ้นสุดเดือนธันวาคมนี้ และเพื่อให้ค่ายรถพร้อมตั้งโรงงานและผลิตในประเทศไทยมากขึ้นและต่อเนื่อง รวมถึงผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนต่างๆ เนื่องจากเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีที่ในขณะนี้ไทยกำลังก้าวสู่ฮับในภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญคือ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป (ICE) และรักษาตลาดไม่ให้การส่งออกของไทยลดลงในอนาคต

“วันนี้ได้รัฐบาลใหม่แล้ว นอกจากเรื่อง EV ทุกพรรคเองก็เคยหาเสียงที่จะลดรายจ่ายประชาชนทั้งค่าไฟ ค่าโดยสารสาธารณะ ขอให้ดูแลค่าครองชีพ พร้อมเร่งรัดดึงการลงทุน เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสร้างการเติบโต ส่งเสริมการจ้างงานต่อเนื่อง ขณะที่รัฐมนตรีที่จะเข้ามาดูแลอุตสาหกรรมและพลังงานนั้นก็ต้องรอดูนโยบาย ทิศทางที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยเรื่องที่ควรเร่งรัดนั้นก็เกี่ยวข้องกับการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์และ EV ลดค่าไฟฟ้า ค่าครองชีพ” สุรพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ การผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 149,709 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 คิดเป็น 4.72% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการผลิตเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมการผลิต 7 เดือนแรกปีนี้ (เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566) อยู่ที่ 1,071,221 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.66%

นับเป็นการเติบโตที่ไม่สูงนัก ซึ่งการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศยังคงไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น

โดยสถิติยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 81,863 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 307.54 % ประเภท HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 311,150 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 33.33% ประเภท PHEV มีจำนวนทั้งสิ้น 49,587 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 31.04%

“เมื่อเร็วๆ นี้เราได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ลง 50,000 คัน จากเดิมวางเป้าหมายการผลิตรวมอยู่ที่ 1,950,000 คัน เป็นผลิตรวม 1,900,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกคงเดิม 1,050,000 คัน แต่ลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลงเป็น 850,000 คัน จากเดิม 900,000 คัน ซึ่งจะลดลงอีกหรือไม่คงต้องติดตามยอดขาย EV และปัญหาหนี้เสียในรถยนต์ ที่จะทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยกู้เพิ่ม แต่เราเองก็หวังว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีที่จะมาฟื้นยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน” สุรพงษ์กล่าว

 

BOI เชื่อมั่นไทยยืนหนึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงานสัมมนา ‘Thailand Focus 2023 : The New Horizon’ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ ‘ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทาน และการกลับเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า’ ว่า การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่งผลให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีผู้ผลิต EV ระดับโลกสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศต่อเนื่อง เร็วๆ นี้จะมีอีก 2 บริษัทใหญ่จากจีนที่เตรียมยื่นขอส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ ฉางอัน ออโตโมบิล และ GAC AION รวมทั้งผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีกว่า 71 โครงการ อนาคตจะเพิ่มสถานีชาร์จจาก 4,000 เป็น 11,000 หน่วยอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกมีการลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องถึง 3 แสนล้านบาท จากแหล่งเงินทุนจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีโครงการพลังงาน เช่น แบตเตอรี่นำกลับมาใช้ใหม่ที่มีมูลค่าลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกในไทยตลอด 50 ปี ทำให้ไทยมีซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและครบวงจร แข็งแกร่งอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 10 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตปีที่ผ่านมากว่า 1.8 ล้านคัน และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 ล้านคันในปีนี้

“เทรนด์การลงทุนย้ายฐานการผลิตกำลังเป็นตัวแปรสำคัญ และจากความกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นโอกาสของไทย เพราะในสายตานักลงทุน ไทยเป็นประเทศ Conflict Safe Zone ด้วยจุดแข็งของไทยทั้งโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชน การตอบรับของตลาดในประเทศ การสนับสนุนสิทธิประโยชน์การลงทุน รวมทั้งความพร้อมของสัดส่วนพลังงานสะอาดในประเทศ ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำ EV ของภูมิภาค” นฤตม์กล่าว

 

BYD มองรัฐกระตุ้น EV มาก ยิ่งหนุนอุตสาหกรรมโต

ประธานวงศ์ พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายแบรนด์ BYD กล่าวว่า คนไทยมีความพร้อมในการใช้รถยนต์ EV มากขึ้น ทำให้เห็นการลงทุนและการเข้ามาทั้งโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ อะไหล่ และชิ้นส่วนต่างๆ ผลักดันอุตสาหกรรมนี้ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งหากมองกลับไปขณะที่บริษัทตั้งใหม่ๆ ยังไม่มีแบรนด์รถยนต์ EV มากนักในประเทศไทย

ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น นอกจากราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้น จึงทำให้รถ EV ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และหากดูแนวโน้มการลงทุนในประเทศก็พบว่า นโยบายที่รัฐบาลอุดหนุนผู้ซื้อ 1.5 แสนบาทต่อคันนั้น ย่อมมีส่วนทำให้ราคา EV เทียบเท่ารถเครื่องยนต์สันดาป ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นตลาดอย่างมาก

ทำให้ประเทศไทยเองก็มีการตอบรับการใช้รถ EV โดยปีที่แล้วมียอดขาย 22,000 คัน ขณะที่ครึ่งแรกปีนี้มียอดขายกว่า 32,000 คัน โดยคาดว่าทั้งปียอดขาย EV น่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 400%

“หากมีรายใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ก็จะดีในแง่ของการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจ และอนาคต BYD ก็จะนำเอารถเพื่อการพาณิชย์เข้ามามากขึ้น และจะนำเอาโมเดลรถยนต์ส่วนบุคคลใหม่เข้ามาในสิ้นปีนี้ด้วย”

สำหรับมุมมองนโยบายรัฐบาลนั้นมองว่า ทิศทางและแผนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของตลาดรถ EV ทั่วโลก และทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าได้ เราคิดว่าหากรัฐบาลสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความคึกคักในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าของไทยมากขึ้นเท่านั้น

“การแข่งขันของแบรนด์รถ EV ที่เข้ามาอย่างคึกคักในปีนี้ยังเป็นการขยายการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภครู้จักรถ EV มากยิ่งขึ้น ผ่านการสื่อสารออนไลน์ซึ่งทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้งานมากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้ยอดขาย EV ขยายตัวอีกด้วย” ประธานวงศ์ทิ้งท้าย