รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็น “ธงชาติไทย” เมื่อ 28 กันยายน 2460
“ธงไตรรงค์” หรือ “ธงชาติไทย” มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และสีน้ำเงินขาบ ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ด้านนอก ด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย โดยวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 100 ปี “ธงไตรรงค์”
“ธงไตรรงค์” กำเนิดหลังเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี พ.ศ. 2459 ครั้งนั้นราษฎรแสดงความจงรักภักดีและปลื้มปีติในการเสด็จฯ ด้วยการพยายามจะหาธงทิวซึ่งขณะนั้นเป็นธงรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลางธงมาประดับประดาเพื่อรับเสด็จ แต่ด้วยความที่ธงชาติมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงได้นำผ้าทอสีแดงขาวมาห้อยหรือจีบเป็นรูปสวยงามประดับอยู่ตามทางเสด็จฯ ผ่าน พระราชปรารภนี้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ทรงสะเทือนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากระหว่างเสด็จประพาส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะธงชาติไทยครั้งสำคัญ
“การห้อยผ้าแดงผ้าขาวนี้ดูออกจะคล้ายกับว่าเมืองอุทัยธานีของเราเต็มไปด้วยประเพณีชาวจีนไปเสียแล้ว” พระราชปรารภพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องราวและภาพที่ทรงผ่านพบอยู่ตลอดเวลา ทรงปรึกษากับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงการที่จะแก้ไขธงไทยเสียใหม่ โดยทรงใช้หลักการสำคัญคือ คำนึงถึงเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อแรก เพราะทรงตระหนักพระทัยว่า ธงช้างนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศจึงมีราคาแพงราษฎรไม่สามารถจะซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้านได้ ข้อต่อไปคือต้องมีความหมายและความสง่างาม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจรวมใจผู้คนให้ยึดมั่นร่วมกัน
ครั้งแรกทรงทดลองใช้ผ้าชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงขาวเพลาะสลับกันเป็น 5 ริ้ว วิธีทำก็ง่ายวิธีใช้ก็ง่าย เพราะจะใช้ด้านไหนก็ได้ไม่ต้องกลัวจะติดผิดทางเหมือนธงช้าง ทรงใช้ธงแดงขาว 5 ริ้วนี้ชักขึ้นที่สนามเสือป่าเป็นครั้งแรก แต่เมื่อทางพิจารณาดูแล้วไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะดูจืดชืดไม่งดงามจับตา จึงทรงคิดที่จะหาวิธีที่จะตกแต่งให้งดงามและได้ลักษณะสมพระราชประสงค์ ทรงรำลึกถึงสีน้ำเงินอันเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ ซึ่งทรงยึดถือเป็นสีประจำพระองค์อยู่แล้ว ทรงจัดวางรูปริ้วผ้าใหม่โดยนำริ้วสีน้ำเงินที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของสีขาวและสีแดงไว้ตรงกลางขนาบด้วยสีขาวทั้งล่างและบน มีสีแดงอยู่ริม 2 ข้าง
และพระราชทานความหมายไว้ว่า สีแดง หมายถึงชาติซึ่งคนไทยทุกคนต้องรักษาไว้โดยแม้จะต้องสละเลือดและชีวิต สีขาว คือศาสนาซึ่งบริสุทธิ์ดุจสีขาว ส่วน สีน้ำเงิน หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นโปรดให้ทดลองนำขึ้นสู่เสา ดูสง่างาม และมีความหมายแสดงสัญลักษณ์ของชาติไว้อย่างครบถ้วนตามพระราชประสงค์ เป็นที่พอพระราชหฤทัย พระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์”
วันพระราชทานธงชาติไทย
วันพระราชทานธงชาติไทย เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ โดยการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการสร้างชาติของแต่ละประเทศ
ที่มา silpa-mag.com