สภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยผลสำรวจจากผู้บริหาร ส.อ.ท. พบว่าส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการตั้งรัฐบาลและความไม่แน่นอนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง 2023 หวังรัฐบาลใหม่เร่งปรับกฎเกณฑ์ฯ เอื้อการทำธุรกิจ – แก้ปัญหาหนี้ SME – แก้ปมหนี้ครัวเรือน
มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 ในเดือนก.ค. 2023 หัวข้อ “ประเด็นกังวลที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง 2023” ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังนี้และส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ หากการชุมนุมประท้วงของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศ พบว่า มีความกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครนที่ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะการเข้าสู่ฤดูหนาวในยุโรปที่จะทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ส.อ.ท. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากแรงกดดันปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบในทุกระดับ โดยเฉพาะวิธีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth) รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของ SMEs และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ลดภาระผู้ประกอบการรายเล็ก และช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องด้านการเงินในระบบเศรษฐกิจไทย
รายละเอียดในผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 258 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 จำนวน 5 คำถาม ได้แก่ (ผู้บริหารสามารถตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
- ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังเรื่องใด
- 78.3% กังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยฯ ในหลายประเทศที่อยู่ระดับสูงส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าลดลง
- 58.5% กังวลเรื่องสงครามรัสเซีย–ยูเครนที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งท่าทีของสมาชิก NATO ที่ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น
- 51.2% กังวลต่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหลังเปิดประเทศ และความเสี่ยงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์
- 39.1% กังวลต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
2. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเรื่องใด
- 81.0% กังวลต่อความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง
- 76.4% ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงทั้งจากค่าไฟฟ้า พลังงาน ราคาวัตถุดิบและค่าขนส่ง
- 64.3% กังวลต่อกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัว จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
- 54.7% กังวลต่ออัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน และปัญหา NPL ที่เพิ่มมากขึ้น
3. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่อาจล่าช้าในเรื่องใด
- 69.8% กังวลต่อการชุมนุมประท้วงของประชาชน และความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้ความรุนแรง
- 66.7% กังวลต่อภาคเอกชนชะลอการลงทุน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
- 65.1% กังวลต่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
- 56.6% กังวลต่อความเสี่ยงในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2024 ที่ล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ
4. สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม
- 68.6% ควรสร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบในทุกระดับ
- 57.8% ควรเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของ SME และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL)
- 57.8% ควรบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ
- 55.4% ควรเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ
5. ภาคอุตสาหกรรมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ไว้อย่างไร (ผลรวม 100%)
อันดับที่ 1 : ทรงตัว 52.0%
อันดับที่ 2 : แย่ลง 43.0%
อันดับที่ 3 : ดีขึ้น 5.0%
ที่มา – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย