ประเทศไทยในยุค AI Economy ไม่ได้ขาดงาน แต่ขาดคนที่มีทักษะ AI

ท่ามกลางคลื่นลมพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความท้าทายในทุกมิติ เทคโนโลยี AI ได้เข้ามาแฝงตัวอยู่ในทุกกลุ่มธุรกิจแล้ว บางคนอาจมองว่าเป็นภัยคุกคาม บางคนมองว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อคเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกให้เติบโตยิ่งขึ้น

รายงานจาก PwC บอกว่า AI มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ราว 45% ภายในปี 2030 โดยมาจากการใช้ AI พัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และยังช่วยยกระดับ GDP ของประเทศต่างๆ ได้เฉลี่ย 2.6% ซึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพแรงงานและการพัฒนาสินค้า

หากโฟกัสที่ประเทศไทยในมุมเชิงเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งจนถึงยุคหลังโควิด เดิมทีช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7.6% ในช่วงโควิด 3.2% และหลังโควิดเหลือเพียง 1.6%

จากตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เวลานี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถดถอย หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของ AI  ก็เป็นหนึ่งในทางออกที่บริษัทเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ทำให้ AI ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศหรือที่เรียกว่า AI Economy หรือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย AI

ทำไม AI เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

ในอดีตมีคนใช้งาน AI อยู่ไม่กี่กลุ่ม แต่ตอนนี้ AI อยู่ในมือของเราทุกคน ใช้งานง่ายขึ้น เข้าถึงผู้คนและข้อมูลมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีความปลอดภัย ที่ทำให้ผู้ใช้และผู้พัฒนาสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัวกับข้อมูลทางการแพทย์ หรือข้อมูลด้านการเงินกับระบบการศึกษา สิ่งเหล่านี้ทำให้เทคโนโลยี AI เติบโตอย่างรวดเร็ว

มีรายงานจาก IMF เรื่อง AI Will Transform the Global Economy. Let’s Make Sure It Benefits Humanity. เผยว่า การมาของ AI จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานทั่วโลกกว่า 40% และเป็นการกระทบในลักษณะการทดแทนในบางหน้าที่ IMF จึงแนะนำว่าภาครัฐของแต่ละประเทศต้องสร้างนโยบายที่สมดุล เพื่อนำประโยชน์ของ AI มาใช้กับธุรกิจให้ได้มากที่สุด

ประเทศไทยไม่ได้ขาดงาน แต่ขาด “คนที่มีทักษะ AI”

ว่าไปแล้วปีนี้ถือเป็นปีที่เราได้ยินคำว่า AI บ่อยกว่าปีที่ผ่านๆ มา ทั้งการมาถึงของ ChatGPT, Gemini และ Claude ที่เข้ามาเปลี่ยนโลกการทำงานและการใช้ชีวิตของใครหลายคน เช่นเดียวกับหลายแบรนด์ หลายองค์กรที่มองหาเครื่องมือในการบริหารจัดการ และแบ่งเบาการทำงานอย่างจริงจัง

นำมาสู่คำถามที่ว่า AI จะแย่งงานหรือไม่ แล้วต้องมีทักษะอะไรที่ทำให้เราอยู่รอดในโลกของ AI ได้

ในรายงานจาก PwC บอกว่า คนไทยยังขาดทักษะที่จะนำ AI มาใช้กับธุรกิจ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับแรกที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และ 36% ของซีอีโอไทยมีการนำ GenAI ไปใช้ในบริษัทของตนแล้ว ขณะที่ 24% ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทอันเนื่องมาจากการเข้ามาของ GenAI ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังสอดคล้องกับตัวเลขทั่วโลกที่ 32% และ 31% และเอเชียแปซิฟิกที่ 33% และ 28% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะเข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพองค์กร ในรายยังระบุอีกว่า CEO ไทยกว่า 58% ต้องการยกระดับทักษะพนักงานเพื่อให้รองรับการทำงานร่วมกับ AI เนื่องจากปัญหาของคนไทยในเวลานี้คือ ช่องว่างในการนำ GenAI มาใช้ทำให้หลายองค์กรขาดบุคลากรที่มีความพร้อมด้าน AI เพราะถึงแม้ผู้บริหารจะตระหนักดีว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็น แต่ก็ยอมรับอีกเช่นกันว่ายังขาดพนักงานที่มีทักษะพร้อมใช้ AI

ดังนั้น ปัญหาของไทยคือ เราไม่ได้ขาดงาน แต่ขาดคน ซึ่งหมายถึงคนที่มีทักษะความรู้มากพอในการใช้ AI แน่นอนว่า AI มีความสามารถในการทำงานมากพอโดยไม่ต้องสงสัย แต่หากอยากใช้ให้มีประสิทธิภาพ ต้องได้รับคำสั่งจากผู้ใช้งานที่มีทักษะ การที่คนมีทักษะจับมือกับ AI จะให้ผลลัพธ์การทำงานที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

นอกจาก AI จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาการทำงานแล้ว ยังช่วยปลดล็อก “เวลา” ในการทำงาน เช่น แทนที่พนักงานต้องแยกเอกสารทั้งวัน ก็อาจลดเวลาไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจแน่นอน เพราะเมื่อคนทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้น ธุรกิจก็มีการเติบโตที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจก็โตตามไปด้วย

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกันรายงาน Work Trend Index 2024 ที่จัดทำโดย ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และ LinkedIn โดยบอกว่า 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% และ 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI หรือในกรณีที่ต้องเลือกจ้างพนักงานสักคน 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้

ทั้งนี้ ทักษะด้าน AI มีหลายประเภท อาทิ Cloud Computing, Data Science และ Data Analytics, Programming, Data visualization และ Story-telling, Internet of Things (IoT) เป็นต้น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ สรุป Work Trend Index 2024 เจาะลึกพฤติกรรมการใช้ AI ทำงานของคนไทย

ประเด็นที่ว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือไม่ คำตอบจึงขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานประเภทใด หากเป็นอยากได้ที่ใช้ทักษะเฉพาะทาง และไม่ได้ทำเป็นรูปแบบซ้ำๆ โอกาสที่ AI จะเข้ามาแทนก็เป็นไปได้ยาก เช่น สถาปนิก นักออกแบบ และนักจิตวิทยาเป็นต้น ขณะที่อาชีพที่ทำงานซ้ำๆ ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบก็มีโอกาสที่จะถูก AI แย่งงาน เช่น แคชเชียร์ พนักงานจัดเรียงสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม AI ยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ และพนักงานว่าจะปรับตัวและทำงานกับ AI ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน ดังนั้น อย่างเดียวที่ทำให้มนุษย์ชนะ AI ได้คือ คนมีทักษะใช้ AI

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ได้จัดประชุมหารือในประเด็นตลาดแรงงานและการใช้ AI ของไทยไว้หลายมิติ

ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. ได้กล่าวในการประชุม กมธ. AI ในมุมของบริบทการใช้ AI ด้านแรงงานว่า AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และผลกระทบของ AI จะแผ่ขยายไปในกลุ่มแรงงานที่รวมผู้คนทุกระดับการศึกษา การที่ตอนนี้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน มีส่วนฉุดให้ศักภาพเศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้ช้า เปรียบได้กับเป็นนักวิ่งสูงวัย

ปัจจุบันหลายคนคงเห็นแล้วว่า AI พัฒนาไปเร็วจนเกือบตามไม่ทัน ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ViaLink กล่าวถึงประเด็นเรื่องการศึกษาว่า แรงงานและอนาคตของชาติกำลังอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม การมาของ AI ไม่ได้กระทบแค่บางอุตสาหกรรม แต่จะกระทบทุกอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะกระทบยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่า พนักงานคนไทย 70-85% ยังคงทำงานแบบ Routine ที่หมายถึงการทำงานซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้พัฒนาทักษะให้ดีขึ้น จึงเสี่ยงที่จะถูก AI ทดแทนได้ง่าย ไม่เว้นแม้แต่คนที่เรียนจบระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โจทย์ การสร้าง AI Literacy พัฒนาคนให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI สามารถนำมาใช้งานได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT หรือ OpenAI

เนื่องจากทุกวันนี้ผู้ใช้งานในไทยแบ่งได้ 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่ม Non-AI หรือกลุ่มที่ไม่เคยใช้ AI หรือใช้ไม่เป็น กับกลุ่มที่ใช้ AI อยู่แล้ว ทิศทางจากนี้คือ การผลักดันให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มีความใช้ง่าย ใช้คล่องมากขึ้น ไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกวางไว้บนหิ้งหรือต้องเป็นคนที่มีความรู้สูงเท่านั้นจึงจะใช้ได้ หน้าที่ส่วนนี้จึงตกเป็นของภาครัฐและเอกชนที่ต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปรู้ว่า AI ใช้ง่าย และหากใช้ให้ดีก็จะเกิดประโยชน์กว่าที่คิด

การสนับสนุนจากรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสิ่งสำคัญ

ข้อมูลจาก Asia Pacific AI Readiness Index ประจำปี 2566 ของ Salesforce ระบุว่า สิงคโปร์ครองอันดับ 1 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความพร้อมด้าน AI มากที่สุด ตามด้วยญี่ปุ่นและจีน ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีเม็ดเงินลงทุนด้าน AI สูงทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้นำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในส่วนพนักงานและการผลิต สำหรับในประเทศไทยที่มีการใช้ AI เพียงเบื้องต้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริหารต้องสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาว และการทำกำไรในระยะสั้น ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของไทยในการเปลี่ยนสู่ยุค AI Economy

อย่างไรก็ตาม บริบทการใช้ AI ของไทยก็ยังแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน นโยบาย การรู้เท่าทันของประชาชน ไทยอาจไม่ใช่ผู้พัฒนาเทคโนโลยี แต่เราสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ขณะเดียวกันภาครัฐสามารถช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึง AI ได้ง่ายและราคาถูกลง ไปจนถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่นำ AI มาใช้และต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง รวมไปถึงการนำ AI ไปใช้ในระบบราชการต่างๆ เช่น ใช้ในงานที่ไม่ซับซ้อน อย่างการคำนวณภาษี การทำบัตรประชาชนใหม่ การจัดตารางขนส่งสาธารณะ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

สุดท้ายนี้ แนวทางที่ภาครัฐควรพิจารณาให้เร็วคือ การพัฒนาทักษะแรงงาน และทำให้ AI เข้าถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างแท้จริง

อ้างอิงข้อมูล PWC, PWC 2, Microsoft

ที่มา Techsauce