นักเศรษฐศาสตร์เตือนส่งออกไทยเดือนมีนาคมอาจหดตัวแรงขึ้น เนื่องมาจากฐานที่สูงในปีก่อน หลังกระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกไทยติดลบ 4.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี ttb analytics และ EIC เห็นตรงกันว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเศรษฐกิจตลาดหลักไม่ได้ชะลอตัวรุนแรงเท่าที่คาดไว้ และอานิสงส์ของการเปิดประเทศของจีนจะเห็นชัดเจนขึ้น
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตัวเลขมูลค่าส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ติดลบ 4.7% ‘ไม่ได้เกินคาด’ พร้อมกล่าวอีกว่ามีความเป็นได้ที่ตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมอาจจะติดลบมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งมาจากการค้าโลกที่ชะลอตัว และเลขฐานในเดือนมีนาคมปีก่อนที่ค่อนข้างสูง
ขณะที่ สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ตัวเลขส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ‘ดีกว่าคาด’ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ (Market Consensus) ไว้ที่ติดลบ 7% ส่วน EIC ให้ไว้ที่ติดลบ 6% พร้อมทั้งชี้ด้วยว่า เมื่อดูจากไส้ในคือ มูลค่าส่งออกที่หักทองคำไป ติดลบเพียง 2.5% เท่านั้น ขณะที่เมื่อเทียบจากเดือนก่อน (MoM) ก็ติดลบเพียง 3.8% หมายความว่า เมื่อตัดเลขฐานที่สูงในปีก่อนไป การส่งออกของไทยก็เริ่มมีโมเมนตัมแล้ว
อย่างไรก็ตาม สมประวิณยังเตือนว่าตัวเลขส่งออกในเดือนมีนาคม (YoY) อาจติดลบหนักกว่าเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากฐานสูงในปีก่อน แต่มองว่าหากพ้นไตรมาสที่ 1 ไปแล้วก็น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการออกจากจุดต่ำสุด (Bottom Out) ชัดเจนขึ้น
ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว ส่งออกไทยไม่ได้รับอานิสงส์
นริศกล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาคือตัวเลขผ่านกรมศุลกากรที่ลงบันทึก ซึ่งเกิดจากคำสั่งซื้อ (Order) ที่ล่วงหน้ามาประมาณ 3-6 เดือน ฉะนั้นการเปิดประเทศของจีนเมื่อช่วงต้นปีจึงน่าจะเริ่มส่งผลกับส่งออกไทยช่วงกลางปี
สำหรับสถานการณ์ในภาคธนาคารในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นริศมองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อส่งออกไทยเท่าไร เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ความเสี่ยงเชิงระบบขนาดนั้น แต่ถ้าถามว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอไหม นริศมองว่าชะลอแน่ โดยอาจจะโตได้แค่ 1% เท่านั้น
ประเมินส่งออกทั้งปี 2023
นริศเปิดเผยอีกว่า ttb analytics ประเมินว่าส่งออกไทยทั้งปีนี้น่าจะติดลบ 0.5% โดยช่วงต้นปีอาจเห็นตัวเลขติดลบแรงหน่อย ก่อนจะกลับมาพลิกบวกในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เป็นบวกอ่อนๆ โดยมีปัจจัยหนุนหลักคือ ‘จีน’ จากตัวเลขการผลิตและการนำเข้าที่เริ่มกลับมา และโมเมนตัมในสหรัฐฯ และยุโรปที่ไม่ได้ลงหนักมาก นอกจากนี้ในตลาดศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย และอาเซียน ตัวเลขการส่งออกยังโตค่อนข้างดี
นริศกล่าวอีกว่า “เราไม่ได้ว่าภาคส่งออกของไทยจะแย่ขนาดติดลบ 4% ถึงติดลบ 5% ไปตลอดทั้งปี เพราะจากการดูตัวเลขนำเข้าและการผลิตของประเทศหลักๆ อย่างจีน สหรัฐฯ และยุโรป แม้จะชะลอลง แต่ไม่ได้ลดลงมากเหมือนเกิดวิกฤต”
ขณะที่สมประวิณเปิดเผยว่า จากการทำประมาณการของทีมวิเคราะห์อุตสาหกรรมของ EIC ซึ่งวิเคราะห์อุตสาหกรรมเป็นรายภาคส่วน (Sector) คาดการณ์ว่าส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวถึง 1.2% เนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกมีความทนทาน (Resilient) มากขึ้น เช่น ยุโรปก็ไม่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤตพลังงาน, เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีความแข็งแกร่งจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังไม่ได้เกิด Hard Landing, ประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้แย่อย่างที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่งออกไทยซึ่งเป็นภาพสะท้อนจากเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้จึงไม่ได้แย่อย่างที่คาด และยังเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากจีน สอดคล้องกับการเปิดประเทศของจีน
“ในระยะต่อไปส่งออกไทยน่าจะดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ได้แย่อย่างที่คาด แม้ธนาคารกลางเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งออกจึงอาจกลายเป็นตัวฉุดน้อยลง ผนวกกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นดีกว่าคาด ทำให้ EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขึ้นเป็น 3.9% จากโต 3.4%”